‘พาต้า’ห่วงท่องเที่ยวไทย-เอเชีย โตเร็วเกินโครงสร้างพื้นฐาน

08 ม.ค. 2560 | 12:00 น.
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและเอเชียในปีระกามีศักยภาพ ปัจจัยเสี่ยง และควรมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไรบ้าง นายมาริโอ ฮาร์ดี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ พาต้า แสดงความคิดเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะที่แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และภูมิภาคเอเชียโดยรวม จะยังคงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง แต่มีปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงสำหรับในปีนี้และปีต่อๆ ไป นั่นคือขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานที่อาจจะไม่สามารถรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างเพียงพอ

  กระจายนักท่องเที่ยว

เขาระบุว่าพาต้าได้ริเริ่มแคมเปญขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน คือแนวคิดของการกระจายนักท่องเที่ยวออกไปสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เรามองว่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอได้ในระดับหนึ่ง เรายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทย นำโดยนางกอบกาญจน์วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ ด้วยการจัดทำแคมเปญ 12 เมืองต้องห้าม(พลาด) เพื่อโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดที่รายได้น้อย ขณะเดียวกันก็ลดแรงกดดันจากแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ที่แออัดมาก

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น คิดว่าแนวคิดนี้ยังเหมาะที่จะนำไปปรับใช้กับประเทศอย่างอินโดนีเซียที่มีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ แต่มีบาหลีเพียงเกาะเดียวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไป หรือกัมพูชาที่นักท่องเที่ยวกระจุกอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างนครวัดหรือเสียมราฐ

 ลดอุปสรรควีซ่า

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจะส่งผลกับการท่องเที่ยวในปี 2560 คือการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองในหลายประเทศ สิ่งที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวรู้สึกกังวล คือเมื่อได้ยินประเทศต่างๆ พูดถึงการสร้างกำแพง การปิดกั้นชายแดน และการเพิ่มข้อจำกัดด้านวีซ่า ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวโดยตรง เราต้องการสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านี้

ทั้งนี้ เราอยากเห็นประเทศต่างๆ ลดข้อจำกัดด้านวีซ่าลง เหมือนที่อินโดนีเซียยกเลิกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจาก 169 ประเทศเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในเวลานี้ อย่างไรก็ดี การพิจารณาใช้นโยบายลักษณะนี้จะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เหมาะสมด้วย อย่างประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายนี้ แต่อย่างน้อยควรมีการนำอี-วีซ่ามาใช้ ช่วยลดแรงกดดันต่อกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ที่ถึงจุดจุดหนึ่งอาจจะไม่สามารถให้บริการได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

 แยกพื้นที่ปลอดภัย-ไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้การก่อการร้ายยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวล ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งในหลายประเทศ และคาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก เราจับตามมองเหตุการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด สิ่งหนึ่งที่เราหารือพูดคุยกับองค์การด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ คือแนวคิดของ georeferencingนั่นคือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เราจะต้องระบุพื้นที่ที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยแยกออกจากกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับทั้งประเทศ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของประเทศ ไม่ได้หมายความว่าทั้งประเทศไม่ปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยว

สำหรับประเทศไทย ตราบใดที่ประเทศยังรักษาเสถียรภาพด้านการเมืองไว้ได้ ผมคิดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อไป ไทยเป็นตลาดที่ยอดเยี่ยม ถือเป็นกรณีศึกษาของประเทศอื่นๆ เป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เสถียรภาพทางการเมืองที่เรามีมาในช่วง 2 ปี ถ้ารักษาไว้ได้ก็จะเรื่องที่ดี

  ปี 63 จีนเที่ยวนอก 200 ล้านคน

เมื่อมองมาถึงตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับไทย คงต้องกล่าวถึงประเทศจีน ในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวชาวจีน 116 ล้านคนเดินทางออกนอกประเทศ และเติบโตขึ้นต่อเนื่อง มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2563 อาจมากถึง 200 ล้านคนหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ มีการวิจัยหนึ่งที่ระบุว่า มีชาวจีนกว่า 280 ล้านคนที่มีกำลังทรัพย์พอเดินทางต่างประเทศ หมายความว่ายังมีชาวจีนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศแต่สามารถทำได้ แปลว่าจะมีชาวจีนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ

ไทยถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนสนใจ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นับว่ามีความสำคัญ มีการประเมินว่าประมาณครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีน 116 ล้านคนเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ และเมื่อพวกเขาเดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ครบแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกอยากไปสำรวจตามแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ บ้าง

อย่างไรก็ดี แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มต้องการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ แต่ผมไม่คิดว่าจะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไทย เนื่องจากเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ ยังมีนักท่องเที่ยวที่ออกมาเที่ยวครั้งแรกอีกเป็นจำนวนมาก มีซัพพลายที่ต่อเนื่องเข้ามา และคนที่เคยมาแล้วกลับมาอีกเนื่องจากไทยเดินทางมาได้ง่ายสำหรับทริปสั้นๆ เราพบว่าการเดินทางภายในเอเชียเป็นการเดินทางบ่อยครั้ง ผู้คนใช้วันหยุดสั้นๆ ในการเดินทาง

สำหรับทัวร์ศูนย์เหรียญ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก แน่นอนว่ามันจะกระทบตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่เราวัดความสำเร็จของการท่องเที่ยวด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวมานานเกินไป นั่นอาจเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของดัชนีชี้วัด แต่เราต้องมองผลตอบแทนการลงทุน นักท่องเที่ยวเหล่านี้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศมากเพียงใด ถ้าพวกเขาไม่ใช้จ่ายเงินเลย ไทยจะได้ประโยชน์อะไรนอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้ให้ผลตอบแทนใดๆ กับชาวไทยเลย

  หนุนเอกชนโปรโมตแหล่งเที่ยวใหม่

คำแนะนำจากผมต่อผู้ประกอบการชาวไทยในการปรับตัวรับมือกับทิศทางการท่องเที่ยวในปีนี้และต่อๆ ไป คือ สร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ อย่างที่พูดถึงแนวคิดของการกระจายนักท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เมื่อรัฐบาลเริ่มต้นลงทุนโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ ภาคเอกชนต้องเปิดรับและจัดแพ็กเกจทัวร์ให้สอดคล้อง ขณะเดียวกัน เราศึกษาพบว่า ชาวเอเชียวัยหนุ่มสาวชอบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงท้องถิ่น พวกเขาไม่ต้องการเป็นแค่ผู้ชม แต่ต้องการเป็นผู้ที่มีส่วนร่วม เช่น เรียนรู้การตกปลาจากชาวประมงท้องถิ่น หรือทำผัดไทยกับครอบครัวชาวไทย ที่ผ่านมาจึงได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ อย่าง localalike เกิดขึ้น

สำหรับภาครัฐ เรื่องแรกผมขอให้ทำแคมเปญสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ต่อไป และประการที่สองคือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางแผนรองรับการท่องเที่ยวในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เช่น ขยายสนามบิน รถไฟฟ้า โครงข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560