เศรษฐกิจปีไก่ฉลุย เอกชนตัวแปร Thailand Reform

08 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
หลังจากภาคเอกชนรอความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณและเมกะโปรเจ็กต์หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยลงทุน วันนี้ถึงคราวที่รัฐบาลออกมาเรียกร้องให้เอกชนมีความเชื่อมั่นและมีการลงทุนบ้าง ต้องตามไปดู งานนี้มีลุ้นชัวร์

ในรอบปีที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถเปิดประมูลรถไฟฟ้ามากกว่า 3 สายในเมืองหลวง ขณะนี้กำลังก่อสร้างถนนรองรับรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่เส้นทางขนส่งตามหัวเมือง สนามบินและท่าเรือน้ำลึก มูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ทางด้านกฎหมาย ยืดระยะเวลาการยกเว้นภาษีในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยไม่ลืมการอัดฉีดเม็ดเงินให้ผู้มีรายได้น้อยออกมาเป็นระยะๆ

แผนลงทุนขยายสนามบินอู่ตะเภา นอกจากรองรับการเดินทางแล้ว จะต้องพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นอุตสากรรมด้านการบินต่อเนื่อง เช่น การทดสอบด้านการบิน การเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน อุตสาหกรรมผลิตล้อยางเครื่องบิน ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่จะมีใน 5 อุตสาหกรรม (S-Curve) ใหม่แห่งอนาคต ที่จะเป็นพลังงานในการผลักดันให้ประเทศก้าวข้ามไปอีกขั้น

แผนการลงทุนทั้งหมดของรัฐบาลจะเป็นพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจไทยทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาวต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีพร้อมใช้อำนาจพิเศษสนับสนุน ด้วยดาบอาญาสิทธิ์ที่มีอยู่ในมืออย่าง ม.44 ออกมาใช้ทันทีที่กลไกการราชการมีความล่าช้า

หากดูผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2559 จะเห็นว่าคืบหน้าไปมาก เพียง 2 เดือนเบิกจ่ายได้ 570,818 ล้านบาท ของวงเงิน 2,733,000 ล้านบาท คิดเป็น 20.89% เบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมาย 2.43% ยังไม่นับงบกลางที่ ครม.ตั้งไว้สูงถึง 1.9 แสนล้านบาท มาจากการกู้เงินชดเชยขาดดุล 162,921 ล้านบาท ภาษีและรายได้อีก 27,078 ล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง 1 ในทีมเศรษฐกิจที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรีฝ่ายพลเรือนในรัฐบาลทหาร เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพมากพอที่จะขยายตัวได้มากกว่า 3.3% สอดรับกับข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จีดีพีจะสูงกว่า 3.3% ภาคเอกชนจะต้องลงทุนภายใต้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไทย (Thailand Reform)

“ปีนี้จีดีพียังโตได้อีก แต่โตไม่ได้ เพราะเอกชนไม่ยอมลงทุน กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตมากกว่าจีดีพีถึง 3 เท่าตัว ก็ยังไม่ยอมลงทุน รัฐบาลจึงจะนำร่องไปก่อน ทำให้เอกชนรู้สึกว่าของจริงมาแล้ว” ขุนคลังขุนพลหลักย้ำกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

ในอดีตเครื่องจักรการลงทุนเอกชนสูงถึง 20% ต่อจีดีพี ซึ่งใหญ่กว่าการลงทุนภาครัฐเกือบ 3 เท่า ทว่า 8-9 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนชะลอการลงทุน หรือขยายตัวเพียง 3-4% เท่านั้น ล่าสุดในรอบ 9 เดือนของปี 2559 ขยายตัวแค่ 0.6%

ถึงวันนี้ การส่งออกฟื้นตัว เห็นได้จากเดือน พฤศจิกายนส่งออกกลับมาบวก 10.19% ขณะที่ยอดคำขอส่งเสริมการลงทุน 11 เดือนหรือเหลือเวลาอีก 1 เดือน มีมูลค่า 5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายกำหนดไว้ที่ 5.5 แสนล้านบาท ในวงเงินดังกล่าวเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 45% ขณะที่ภาคการเมืองมีความชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ถามว่าเอกชนรออะไรอยู่ คำตอบคือความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจและรัฐบาล ซึ่งวันนี้ประเคนกันจนหมดไส้หมดพุง

 คลัสเตอร์จังหวัดหนุนลงทุนท้องถิ่น

การที่ ครม.เห็นชอบงบกลางปีวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท ลงในคลัสเตอร์จังหวัด 18 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีเม็ดเงินลงไป 5,000-6,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนพัฒนากลุ่มจังหวัดโดยเฉพาะ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเน้นการขับเคลื่อนในการใช้งบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด

แนวทางที่ปรับใหม่ครั้งนี้แต่ละจังหวัดจะต้องช่วยกันคิดให้ตกผลึก จะมีภาคเอกชนเข้าไปให้ความร่วมมือ สะท้อนและเป็นนโยบาย สอดคล้องกับโครงการประชารัฐที่ต้องการเห็นเอกชนเข้าไปพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือท้องถิ่นที่จะร่วมกัน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย

"ในส่วนของงบประมาณที่จัดสรรลงไปนั้นมั่นใจว่าจะไม่เป็นไอติมที่เหลือเพียงแต่ไม้ เพราะตราบใดที่ประชาชนได้ดูแลตัวเองและมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น งบประมาณที่ลงสู่ท้องถิ่นซึ่งเป็นรายจังหวัดและหมู่บ้านเบื้องต้นมีการกำหนดไว้ที่ 1.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่ลงสู่ท้องถิ่นประมาณ 1.6 แสนล้านบาท"

สิ่งที่รัฐบาลต้องการที่จะเห็นต่อเนื่องถึงโครงการไทยแลนด์ 4.0 ท้องถิ่นจะมองเห็นภาพตัวเองในอนาคตและพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อท้องถิ่นก้าวข้ามข้อจำกัดที่ มีอยู่เดิมแน่นอนว่าจะเกิดกิจกรรมทุกกลุ่มจังหวัด จึงเชื่อว่าเอกชนไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายกลางหรือรายใหญ่ ได้เห็นรายกลุ่มจังหวัดของตัวเองมีการพัฒนาแน่นอนเอกชนก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการหารายได้ที่ดีขึ้น ความยากจนจากค่อยๆ หายไปๆ ในที่สุด

เกี่ยวกบเรื่องนี้ น่าสนใจอย่างยิ่งกับท่าทีผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานรัฐที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐอิสระมาหลายยุคสมัย วันนี้ นายวิรไท สันติประภพ ในฐานะผู้ว่าการฯ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มีนายสมคิดเป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจ นายวิรไทเห็นด้วยว่า ปี 2560 นี้ การลงทุนภาคเอกชนต้องกระเตื้องมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตามกรอบใหม่ 5 แสนล้านบาท

“ตอนนี้นี้จีนเริ่มลงทุนอุตสาหกรรมยางแล้ว ดอกเบี้ยที่เริ่มขยับขึ้น และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหลายโครงการที่เริ่มเบิกจ่าย จะเป็นตัวเร่งให้กเดการลงทุนเร็วขึ้น”

 ชี้ท่าทีบิ๊กอสังหาฯ ขยับรับแผน

ส่องกล้องไปที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่าด้วยการขับเคลื่อนประเทศด้วยแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 จะก่อให้เกิดผลบวกด้านการลงทุนภาคเอกชน นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ดูได้จากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการใช้การลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพราะเมื่อรัฐบาลกล้าที่จะลงทุน ภาคเอกชนก็มีความมั่นใจที่จะลงทุนเช่นกัน ผู้บริโภคเองก็กล้าที่จะบริโภคมากขึ้น

“การที่รัฐบาลยอมขาดดุลปี 2560 เป็น 5 แสนล้านบาท มากกว่าปี 2559 ที่ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท ก็เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เรายังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคส่งออก ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี 2560 จีดีพีน่าจะอยู่ที่ 4% สูงกว่าที่สภาพัฒน์ประมาณการณ์ไว้ที่ 3.4% ภาคอสังหาจะได้รับผลบวกจากการลงทุนดังกล่าว ทั้งในแง่ของยอดโอนกรรมสิทธิ์และยอดขายใหม่ คาดว่าตลาดจะมีเติบโตอยู่ที่ 5%”

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กรรมการผู้จัดการ บริษัทประยูรวิศว์ จำกัด ผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรมทางหลวง ให้ความเห็นว่า ปี 2560 จะเห็นภาพการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานชัดเจนกว่าปี 2559 เมื่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมครบสมบูรณ์จะเป็นโอกาสของงานประเภทอาคารตามมา จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวโครงการ แต่งานอาคารขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่มีเกิดขึ้นโดยเฉพาะอาคารระดับกลาง หากรัฐผลักดันงานโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จสมบูรณ์คาดว่างานประเภทอาคารก็จะเกิดตามมา

ถ้าเอกชนมีความมั่นใจและขยับตัวตามแผนของทางการ การที่รัฐบาล คสช.ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเครื่องยนต์ใหญ่ตามยุทธศาสตร์ Thailand Reform เพื่อยกระดับประเทศให้พ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม ฟันธง!!!...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560