ธุรกิจแบงก์ปี60เริ่มฟื้น ผวาเอ็นพีแอลหลอนไม่เลิก

08 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี 2559 เป็นปีที่ไม่ขยายตัวหวือหวาสินเชื่อโตต่ำเป้า ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็ม คาดว่าโตเพียง 3.3% ผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว และแบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ ส่วนด้านเงินฝากแทบไม่ขยับ แบงก์ยังเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม
ประเด็นปัญหาของธุรกิจแบงก์ปี 2559 เป็นเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่หวนกลับมาหลอนรอบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดหลางและรายย่อยเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ธนาคารต้องสำรองหนี้เต็มพิกัด และอาจจะเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงหนี้เสียที่มีแนวโน้มทะยานไม่หยุด

ปี 2560 ยังเป็นปีที่ท้าทายธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งในแง่ของการปล่อยสินเชื่อ การควบคุมหนี้เอ็นพีแอล ความเสี่ยงจากการตั้งสำรองเพิ่ม การต่อสู้กับธุรกิจการเงินยุคดิจิตอล แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงจากการเปิดบริการพร้อมเพย์ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเติบโตเฉลี่ย 3-4% จะเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจธนาคารปีนี้มีแนวโน้มสดใสกว่าปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น โดยสินเชื่อมีโอกาสเติบโตดี สอดคล้องกับเงินฝากที่ยังขยายตัวตามแนวโน้มสินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัว 6.3%
สินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้าง ซึ่งน่าจะขยายตัว 9.6% ผลจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐน่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้น ภาคการค้ากลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อเริ่มกลับมา สินเชื่ออุปโภคบริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากสินเชื่อบัตรบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาอยู่ที่ 5.7%

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือเอ็นพีแอลที่ยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดครึ่งปีแรก จากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 2.76% ณ สิ้นปี 2559 ไปแตะจุดสูงสุดที่ 2.96% ในไตรมาสที่ 2ปี 2560

“อุตสาหกรรมการผลิตที่มีราคาอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก หรืออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังเติบโตต่ำตามภาวะการค้าโลกที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพียง 1.5% ส่งผลให้เอ็นพีแอลใน 2 อุตสาหกรรมนี้ จะเพิ่มขึ้นจาก 4.9% มาอยู่ที่ 5.2%”

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัว 4% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 7% เท่ากับปีนี้ สินเชื่อเอสเอ็มอีโต4% จากปีนี้อยู่ที่ 2.5% สินเชื่อรายใหญ่โต 2% จากปีนี้ขยายตัว 0% สินเชื่อเช่าซื้อ 3% จาก 0% สินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 1% จากหดตัว 1% และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 7% จากปีนี้เติบโต 6%
ขณะที่เอ็นพีแอลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่คาดว่าจะอยู่ 2.82% มาอยู่ในระดับสูงสุด 3.01% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 และจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.95% ในช่วงปลายปี โดยกลุ่มที่ยังต้องจับตา เป็นลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางและเล็ก โรงแรม ธุรกิจการเกษตร ลูกค้าบุคคลรายย่อย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพสามารถรับมือความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี

T14-3324c อย่างไรก็ดียังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด อาทิ คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ด้อยลง และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

“เอ็นพีแอลยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะภาคการเงินจะเป็นตัวตามภาคเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 ไตรมาส หากเศรษฐกิจดีขึ้น เราก็ยังไม่เห็นเอ็นพีแอลลดทันที”

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของสถาบันการเงินในปี 2560 เป็นเรื่องของเอ็นพีแอล ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและตั้งสำรองให้เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองไว้สูงระดับนึงแล้ว โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตในระดับ 4-6%

“แม้ภาครัฐจะช่วยอัดเงินกระตุ้น แต่ก็ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการทุกระดับจะต้องปรับตัว จะรอภาครัฐอัดเงินอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งภาคการเงินก็เช่นกันจะต้องพัฒนาระบบธุรกรรมการเงินให้รวดเร็วและสะดวกกับลูกค้า โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ตอนนี้ทุกประเทศเจอภาวะโลกที่ไม่ได้เติบโตรวดเร็ว”

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อโดยปกติจะโต 1-1.5 เท่าของจีดีพี ซึ่งในปี 2560 คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.3-3.5% ถือว่าเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าสินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตอยู่ที่ 4%

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 มองว่าสินเชื่อทั้งระบบจะขยายตัวอยู่ที่ 6.3% จากปีนี้เติบโตที่ 3 แตสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด คือเอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มไปถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางปี 2560 โดยอยู่ที่ระดับ 2.8%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560