เช็กกลยุทธ์‘ซิม’แบรนด์รอง

07 ม.ค. 2560 | 11:00 น.
อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ คือ เอไอเอส,ดีแทค และ ทรูมูฟเอช ที่ปักธงช่วงชิงเป็นผู้นำทางการตลาดแล้ว

หากแต่ยังมีผู้ประกอบการรายเล็กที่เรียกว่า MVNO(Mobile Virtual Network Operator) หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ไม่ได้วางโครงข่ายด้วยตัวเอง โดยใช้วิธีเช่าโครงข่ายของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนธุรกิจ

 “เพนกวิน” เผยสูตรสำเร็จ

ต้องบอกว่า ซิมเพนกวิน ซึ่งเป็นน้องใหม่ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดตลาดเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ปรากฏว่าสิ้นปีที่ผ่านมา “เพนกวิน” มีผู้เปิดเบอร์ใช้งานไปแล้ว 4.5 แสนเลขหมาย

T24-3324a  ทำไมถึงมีผู้ใช้กว่า 4 แสนราย

นายชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สูตรสำเร็จของเพนกวิน คือ แบรนด์และ สินค้าที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายหลักและความคล่องตัวของบริษัทเล็กๆ

ขณะที่จุดแข็งของ เพนกวิน คือ ทีมงานทั้งส่วนผู้บริหาร และ ส่วนพนักงานที่มีประสบการณ์กับตลาดมือถือมาอย่างยาวนาน เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดและ ทำตลาดที่หลากหลายรูปแบบมาต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือการที่เป็นบริษัทเล็กๆสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว "คิดเร็วทำเร็ว" หลายๆครั้งที่ประชุมตอนเช้า ตัดสินใจตอนเที่ยง บ่ายลงมือทำเลย อย่างไรก็ตามหลังเปิดบริการเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาภาพรวมก็น่าพอใจ เพนกวิน เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่บริษัทก็ยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในส่วนของ แบรนด์ ช่องทาง และ ตัวโปรดักต์ ที่ต้องปรับให้เหมาะกับการแข่งขันตลอด

“ที่น่าดีใจคือ โปรโมชันของเพนกวินทำให้เกิดทางเลือกใหม่กับลูกค้าได้จริงๆ และบางส่วนยังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของโปรโมชันที่ค่ายใหญ่ทุกค่ายทำตาม อย่างโปรโมชันเน็ตไม่ลดสปีด 1 เมก ราคา 100 บาทต่อสัปดาห์ และ 300 บาทต่อเดือน ตอนเพนกวินเปิดตัว กลายเป็นโปรยอดฮิตที่ทุกค่ายทำออกมาตาม เราหวังว่าจะนำเสนอโปรโมชันใหม่ให้เป็นทางเลือกของลูกค้าได้ต่อเนื่อง”

 ปี 60 ขออีก 5 แสน

ส่วนแผนการตลาดปีนี้ ชัยยศ บอกว่า ต้องการได้ลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 5 แสนเลขหมาย ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่คงมีการแข่งขันอย่างหนักไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา และ คงเป็นการแข่งขันที่มีทั้งส่วน คุณภาพโครงข่ายแบบ 4จีเต็มรูปแบบจากรายที่ได้ใบอนุญาตใหม่ และ ด้านการแลกเครื่อง รับส่วนลดเครื่องโดยเฉพาะกับตลาดโพสต์เพด (แบบรายเดือน) ที่ค่ายใหญ่ทุกค่ายคงเน้นรายเดือนเนื่องจากมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายสูงกว่า และ การยกเลิกใช้บริการน้อยกว่า การแข่งขันคงรุนแรงต่อเนื่องอย่างน้อยครึ่งปีแรก หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอันดับ 2 และ 3 ในตลาดที่จะค่อยปรับตัวสู่มาตรฐานใหม่

“MYworld” มีผู้ใช้ 1 แสนราย

ขณะที่ นายนิพนธ์ ชูเชิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ให้บริการภายใต้ชื่อ “MYworld” กล่าวว่า สิ้นปีที่ผ่านมา MYworld มีจำนวนผู้ใช้บริการบริการทั้งสิ้น 1 แสนราย โดย 90% เป็นลูกค้าโพสต์เพด และ 10% เป็นลูกค้าพรีเพด กลุ่มลูกค้า คือ กลุ่มครอบครัว

 ก.พ.ผุด‘ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น’

นอกจากนี้แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ “MYworld” เตรียมออกแคมเปญ “ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น” ขณะนี้ได้ร่วมมือกับร้านค้าจำนวน 41 แห่ง เมื่อซื้อสินค้าที่ร่วมรายการและซื้อ “ซิม” Myworld ในราคา 199 บาท จะได้รับสิทธิ์ค่าโทรเท่ากับราคาที่ซื้อสินค้าที่ได้ร่วมรายการด้วยกัน

“เราไม่แจก “ซิม” การ์ด เพราะการแจก “ซิม” หมดยุคไปแล้ว ตอนนี้กำลังทดสอบระบบกับพนักงานจำนวน 100 คน ภายในเดือนกุมภาพันธ์จะได้เห็นแคมเปญดังกล่าว”

 ยอมรับเหนื่อย

นอกจากนี้นายนิพนธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะ MVNO การทำตลาดค่อนข้างเหนื่อยเพราะกฎเกณฑ์ในหลายๆ เรื่องถูกกำหนดจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้ MVNO แจ้งเกิดในตลาดได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตามสำหรับเป้าหมายในปีนี้คาดว่าจะจัดสรรเลขหมายใหม่ได้ 5 แสนเลขหมาย ด้วยการทำตลาดแบบเจาะกลุ่มครอบครัว รวมไปถึงตลาดต่างจังหวัด

 จับตา “OPEN”

ส่วนบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM หลังจากเคยประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจลดบทบาทการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ “ไอ-โมบาย” ลดลงมีแผนไปทำธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่มือถือ โดยใช้ชื่อแบรนด์ Open by i-mobile ทำตลาด ธุรกิจใหม่จะมีทั้งบริการร้านค้าปลีก และอี-คอมเมิร์ซ

นอกจากนี้i-mobile ยังเตรียมกลับมาทำธุรกิจ MVNO อีกครั้ง โดยเช่าโครงข่ายของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์Open ทำตลาดเช่นกัน และ ภายในเดือนมกราคมนี้ “ไอ-โมบาย” เตรียมเปิดแผนขับเคลื่อนธุรกิจครั้งใหญ่

ขณะที่ บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งทำตลาดภายใต้ชื่อแบรนด์ “168” หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2558 ดูเหมือนว่าชื่อของแบรนด์ “168” กลับไม่มีบทบาทในตลาดแต่อย่างใด

และทั้งหมด คือ กลยุทธ์ของผู้ประกอบการ MVNO ในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560