บี้‘วุฒิชาติ’ ปั่นรายได้ ตั้งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์ล้างหนี้แสนล้าน

06 ม.ค. 2560 | 11:00 น.
“พิชิต” สั่งร.ฟ.ท.ลดการขาดทุนแสนล้าน เร่งหารายได้ปีละหมื่นล้านบาทผ่อนชำระหนี้ บี้ “วุฒิชาติ” จัดทำแผนเสนอใน 2 เดือน เผยกลยุทธ์ยึดโมเดลหารายได้เชิงพาณิชย์จากการพัฒนาพื้นที่ทำเลทองทั่วประเทศ

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายพร้อมกับติดตามงานโดยเฉพาะการปฏิรูปร.ฟ.ท.ที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง และลดภาระการขาดทุนให้ได้พร้อมกับสร้างรายได้ให้มากกว่าเดิมอย่างน้อยปีละหมื่นล้านบาทเพื่อลดภาระการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐทุกปีปัจจุบันการเดินรถขาดทุนปีละประมาณ 7,500 ล้านบาท โดยแอร์พอร์ตลิงค์ขาดทุนประมาณ 280-300 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นร.ฟ.ท.จึงขาดโอกาสในการพัฒนาในหลายด้านจากปมปัญหาภาระหนี้ดังกล่าว

โดยแนวทางหนึ่งจะตั้งบริษัทพัฒนาสินทรัพย์ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้เพื่อให้สามารถดูแลและบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอย่างน้อย 4 หมื่นไร่ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผลตอบแทนเดิมจะมีรายได้ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันอย่างมาก แต่หน่วยอื่นๆทำได้มากกว่าร.ฟ.ท. 4-5% ดังนั้นหากบริหารจัดการที่ดีน่าจะสามารถเพิ่มได้มากกว่า 3-4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับราคาตลาดปัจจุบัน

ทั้งนี้ในส่วนหลักการปฏิรูปร.ฟ.ท.ที่มีภาระหนี้อยู่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทถึงแม้ว่าจะมีการหักลบกลบหนี้ไปแล้วก็ตามหากกระแสรายได้ไม่สามารถชดเชยรายจ่ายได้ทั้งหมดภาระหนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่จบสิ้น ดังนั้นร.ฟ.ท.จะต้องนำเสนอแผนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเพราะต้องการให้ร.ฟ.ท.สามารถหยุดภาระหนี้ของตนเองให้ได้ ส่วนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้ไม่ยาก เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงอันเนื่องมาจากทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะที่ดินแปลงมักกะสัน สถานีแม่น้ำและสถานีกลางบางซื่อ เป็นทำเลทองสามารถสร้างรายได้ให้ร.ฟ.ท.และประเทศไทย อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้กรุงเทพมหานครก้าวไปสู่ระดับมหานครอันดับโลกได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับแนวทางของการปฏิรูปเรื่องการเดินรถ โดยจะเร่งจัดกลุ่มผู้ใช้บริการให้ชัดเจนทั้งผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่มีกำลังจ่ายค่าบริการ ก่อนเร่งยกระดับให้บริการตามกลุ่มเป้าหมาย โดยช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าร.ฟ.ท.มีการปรับปรุงขบวนรถส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการกันมากขึ้น โดยรายได้จากผู้โดยสารที่มีกำลังจ่ายหรือลูกค้าเกรด เอหากได้รับบริการที่ดีขึ้นเชื่อว่าจะนำรายได้ส่วนนี้ไปชดเชยแทนให้บริการผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าด้านการท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าคนทำงานที่เดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมือง ที่ร.ฟ.ท.จะต้องทำให้การเชื่อมต่อโหมดการเดินทางดีขึ้น สะดวกและปลอดภัย หรือรับสิทธิพิเศษจากการจัดหาที่จอดรถให้เป็นกลุ่มเฉพาะ

“หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาปรับค่าโดยสารเมื่อได้ปรับบริการดีขึ้นแล้วเพื่อให้มีเหตุผลต่อการนำเสนอนั่นเอง เช่นเดียวกับความต้องการเปลี่ยนโหมดการขนส่งจากรถยนต์ให้มาใช้รถไฟทางคู่ นอกเหนือจากจะสร้างรายได้ให้ร.ฟ.ท.แล้วยังจะเกิดผลดีต่อระบบโลจิสติกส์ของประเทศซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลเน้นเรื่องการลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ต่ำลง”

นายพิชิตกล่าวอีกว่าการปฏิรูปรถไฟยังจะเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ซึ่งถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่จัดเป็นความหวังของประเทศไทย โดยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาลจะส่งผลให้ระบบการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง จากเดิมที่เป็นอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาแรงงานก็จะพัฒนาไปเป็นการพึ่งพาองค์ความรู้เป็นหลัก ซึ่งร.ฟ.ท.สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของระบบอีอีซีได้จากอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิมที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคนี้ให้การพัฒนาโครงข่ายเกิดคุณค่ามหาศาลต่อประเทศไทย ซึ่งร.ฟ.ท.รับหน้าที่เชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ โดยจะต้องทำแผนให้ชัดเจนนำเสนอต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560