จับชีพจรท่องเที่ยวปี60 เป้าหมายปั๊มรายได้ 2.71 ล้านล้าน

05 ม.ค. 2560 | 07:00 น.
ปิดฉากท่องเที่ยวไทยปี2559 ด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว 2.51 ล้านล้านบาทสูงกว่าเป้าหมาย 4% จากที่ตั้งไว้ 2.4 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ยังคงมีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่องในปี2560 และยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ

 ปิดปี59ทัวริสต์ 32.5 ล้านคน

การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในปี2559 ที่ทะลุ 32 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวันที่27 ธันวาคม 2559 ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2559 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงประเมินว่าตลอดปีที่ผ่านมา จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย 32.5 ล้านคน สร้างรายได้1.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.40% จากปี2558 และจะมีการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทยอยู่ที่ 148.03 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.27% จากปี2558 ส่งผลให้ไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 2.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.93% จากปี 2558

“ ปี 2559 การเติบโตของการท่องเที่ยว ไม่เพียงทำรายได้เพิ่มขึ้นจากปี2558 ถึง 10.93% เท่านั้น แต่ยังมีการขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย โดยในแง่ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 2.51 ล้านล้านบาท ถือว่าเติบโตสูงกว่าเป้าหมายราว4% อีกด้วย (ตารางประกอบ) แสดงให้เห็นภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นตัวจักรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ และสิ่งที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของพื้นที่ท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปยังเมืองรองด้านการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด และ 12 เมืองต้องห้าม...พลัส จะเห็นว่ามีการเติบโตของการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยในพื้นที่ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด มีอัตราการขยายตัว 8.20% และ12 เมืองต้องห้าม...พลาดพลัส มีอัตราการขยายตัว 9.29%ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวในเมืองรองสร้างรายได้กว่า 1.47 แสนล้านบาท” กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว

 ปี60 รายได้พุ่ง 2.71 ล้านล.

จากบทสรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในปี2559 ที่รายได้รวมของการท่องเที่ยวทะลุ 2.5 ล้านล้านบาทซึ่งเดิมเคยเป็นเป้าหมายของปี 2560 ส่งผลให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยในปี 2560 ใหม่ โดยมองว่าจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.17% โดยจะเป็นรายได้จากต่างชาติเที่ยวไทย 1.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.54% และรายได้จากไทยเที่ยวไทย 9.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.48%

เนื่องจากมองปัจจัยบวกใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การท่องเที่ยวโลกในปี2560 ที่คาดว่าขยายตัว 3.8% โดยการแข่งขันและการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของโลก และมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวยุโรปจะมาเอเชียมากขึ้น 2.โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยวขยายตัว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการขยายศักยภาพของสนามบินดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา 3.เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัว 3-4% และ 4.นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเริ่มเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ก็ยังมีสิ่งที่ควรคำนึง ที่อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านการท่องเที่ยว เช่น ภัยก่อการร้าย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงผู้นำ และนโยบายด้านเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และยุโรป การแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนของประเทศต่างๆ ด้วยการยกเว้นวีซ่ารุนแรงขึ้น เช่น มาเลเซีย ประกาศให้ยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม2560 เป็นต้น
T26-3324b
 ดันไทย 5 ฮับท่องเที่ยวอาเซียน

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวในปี2560 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะโฟกัสการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน ใน 5 เรื่อง โดยเรื่องที่ 1 คือ การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ( Sports Tourism ) เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาพักเมืองในนานขึ้นโดยในปีนี้มีโปรแกรมวิ่งมาราธอน ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้แล้วเกือบ 100 รายการ มีรายการที่มีนักกีฬาต่างชาติมาร่วมแข่งขันเป็นประจำ อาทิThe 19thAmari Watergate Bangkok Midnight Run ,The North Face 100Thailand 2017เรื่องที่ 2 การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Medical & Wellness ) เรื่องที่ 3การเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงาน(Wedding & Romance ) ซึ่งไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก อย่าง World Wedding Congress ในเดือนพฤษภาคมที่ จ.ภูเก็ต

เรื่องที่ 4 การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ ( Maritime Tourism)โดยทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬามีความคาดหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นแคริเบียนแห่งที่ 2 และมารีน่า ฮับสำหรับเรือยอชต์และซูเปอร์ ยอชต์ (เรือที่มีขนาดใหญ่กว่า30 เมตรขึ้นไป) ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมก็มีแผนในการพัฒนาท่าเรือยอชต์และเรือสำราญ ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยว ก็จะผลักดันการจัดมหกรรมเรือสำราญและมารีน่า ไทยแลนด์ ยอชต์ โชว์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดการจัดงานให้ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น เพราะการจัดงานครั้งที่ 2 ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 15-18 ธันวาคม2559 พบว่ามีเรือขนาดใหญ่มาร่วมงานมากขึ้นกว่า 15 ลำ โดยเป็นครั้งแรกที่มีเรือซุปเปอร์ ยอชต์ขนาดใหญ่ถึง 90เมตร เข้ามาจอดที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นสัญญาณดีในการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้เป็นควอลิตี เลเชอร์ เดสติเนชัน

เรื่องที่ 5 คือการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชื่อมโยง (ASEAN Connect) เพราะการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยจะสัมพันธ์กับการขยายตัวของคนอาเซียนเดินทางเที่ยวกันเองในภูมิภาคนี้การผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางในอาเซียนได้สะดวก ทั้งทางรถ ที่จะมีด่านเชื่อมชายแดนเปิดด่าน ทางเรือ มีท่าเรือที่รองรับเรือยอชต์เรือสำราญ และเปิดเส้นทางเชื่อมโยง เมืองท่องเที่ยวชายทะเล เช่น ภูเก็ต สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) และฟูก๊วก (เวียดนาม) เป็นต้น และทางอากาศ ที่มีการเพิ่มเที่ยวบินเชื่อมโยง จากเมืองหลักสู่เมืองรองในกลุ่ม CLMV มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสายการบินต่างๆ

 ชู 5 เป้าหมายพัฒนาท่องเที่ยว

ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวในปี 2560 ที่จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์ Local Experience ซึ่งจะเป็นจุดขายวิถีไทยที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสประสบการณ์แบบไทยๆ จะเน้นใน 5 เป้าหมาย คือ 70 เส้นทางตามรอยพระบาท(Royal Project) , การท่องเที่ยวทางรถไฟ(Rail Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) การท่องเที่ยวภาคค่ำ (Night Tourism) และการจัดประชุมสัมมา(MICE)ที่จะต่อยอดนำเรื่องของซีเอสอาร์ เข้ามาอยู่ในกิจกรรมไมซ์ด้วย

ปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยว มองว่าการนำเสนอจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของภาครัฐที่ทำได้ทันที คือ การบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ ที่สามารถทำร่วมกันได้ทันที เช่น ต่อยอดเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน/หัวหิน-ปราณบุรี ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสมุมมองโค้งขายทะเลเลียบอ่าวปราณบุรี การนำหัวรถจักรไอน้ำมาดัดแปลง วิ่งบนเส้นทางรถไฟสายมรณะ เสนอเมนูอาหารถิ่นบนรถไฟ เพิ่มตู้บรรทุกจักรยาน บนเส้นทางอยุธยา ส่งเสริมเส้นทางรถไฟฟ้า สายฉลองรัชธรรม ทัวร์บอกเล่าเรื่องราวและสถานี การจัดให้มีฟรีไว-ไฟ และที่ชาร์จแบตโทรศัพท์บนรถไฟ การเตรียมแผนการตลาดสำหรับรถไฟฟรีที่ไทยจะได้รับมาจากประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯยังมีแผนจะร่วมมือกับคณะทำงานประชารัฐด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลุกการท่องเที่ยวเชิงศิลปะอาหาร (Gastronomic tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยเชื่อมการเกษตรไปกับการสืบทอดวัฒนธรรมและเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวไทยด้วย
ทั้งหมดล้วนเป็นเป้าหมายและแผนในการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ของภาครัฐ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560