สิงคโปร์เปิดน่านฟ้า ‘โดรน’ รัฐเร่งสร้างระบบจราจรทางอากาศให้ยานบินไร้คนขับ

05 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
กรมการบินพลเรือนสิงคโปร์ร่วมมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี ศึกษาวิธีการสร้างระบบจราจรทางอากาศให้ยานบินไร้คนขับ (โดรน) จำนวนมากสามารถบินเหนือเมืองสิงคโปร์ได้พร้อมกันอย่างปลอดภัย เฟสแรกเสร็จปลายปี 2560 นี้

สถานีโทรทัศน์ ชาแนลนิวส์เอเชีย (ซีเอ็นเอ) รายงานว่าเป้าหมายของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี ในการศึกษาวิธีการให้โดรนสามารถบินเหนือเมืองสิงคโปร์ได้เป็น 100 ลำพร้อมกันอย่างปลอดภัย เป็นการสร้างระบบบริหารการจราจรทางอากาศให้กับโดรน โดยการสร้างช่องทางเดินอากาศและเขตห้ามบิน แบบเดียวกันถนนที่มีไฟจราจรและมีช่องทางเดินรถ

องค์กรหลักในการทำวิจัยครั้งนี้คือสถาบันวิจัยระบบบริหารจราจรทางอากาศ (เอทีเอ็มอาร์ไอ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยีและกรมการบินพลเรือน เป็นโครงการที่ใช้เวลา 4 ปีเน้นในเรื่องโซลูชันของการบริหารจราจรทางอากาศ เทคโนโลยีการป้องกันการเฉี่ยวชนและรั้วเสมือนจริงที่ใช้ป้องกันไม่ให้โดรนบินเข้าไปในเขตห้ามบิน

นาย ไฟซาล โมฮัมเหม็ดซาเลย์ (Faisal Mohamed Salleh) นักวิจัยของเอทีเอ็มอาร์ไอ กล่าวว่า ‘ระบบนี้เหมือนกับถนนที่มีคนใช้งานหลายคน ยกตัวอย่างเช่นเลนจักรยานซึ่งมีทั้งช่องทางสำหรับรถสกูตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานถีบและมีคนเดินอยู่ด้วยกัน เป็นระบบที่ออกแบบให้โดรนสามารถบินผ่านช่องทางในอากาศที่ปลอดภัยทำให้บินสวนกันได้’

ซีเอ็นเอ ระบุว่าโครงการระบบจราจรทางอากาศสำหรับโดรน มีเป้าหมายเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศออกแบบให้เหมาะกับประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น จึงมีแผนการให้มีการสร้างสถานีควบคุมการจราจรสำหรับโดรน กระจายหลายพื้นที่และทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ช่องทางจราจรสูงสุดลดปัญหาจราจรทางอากาศติดขัด

นอกจากระบบบริหารการจราจรทางอากาศแล้ว โครงการวิจัยยังครอบคลุมการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมการจราจรโดรนด้วย อาทิพื้นที่เปิดโล่งสำหรับการส่งขึ้นและจอดโดรน ลานจอดโดรน บนอาคารที่สามารถใช้เป็นที่จอดฉุกเฉิน

โครงการระบบจราจรทางอากาศสำหรับโดรนของสิงคโปร์ ในขั้นแรกออกแบบสำหรับโดรนที่ใช้ในการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและราชการ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่ามีการพัฒนาในส่วนที่ให้โดรนที่ใช้เพี่อการนันทนาการ บินเข้ามาระบบเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย

ซีเอ็นเอ ระบุว่าโครงการวิจัยขณะนี้อยู่ในช่วงเฟสแรก เป็นการวิจัยเรื่องแนวคิดในการออกแบบและโปรแกรมจำลองทางคอมพิวเตอร์ มีกำหนดเสร็จปลายปี 2560 นี้จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการทดสอบระบบโซลูชันต่าง ๆ ในสถานที่จริงซึ่งคาดว่าจะเป็นพื้นที่ในบริเวณมหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560