ลุ้นส่งออกปีไก่พลิกโต2% ทองคำ-สงครามการค้าตัวชี้ชะตา

04 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
ปี 2559 ที่ผ่านพ้นไปถือเป็นอีก 1 ปีที่ภาคการส่งออกของไทยยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว และยังรอลุ้นตัวเลขทั้งปีว่ามูลค่าการส่งออกจะติดลบเป็นปีที่ 4 หรือไม่ (ยอดส่งออก 11 เดือนปี 59 ยังติดลบที่ -0.05%)

อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับไปดูคาดการณ์ส่งออกของสถาบันหรือสำนักพยากรณ์ต่างๆในช่วงที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ซึ่งมี 25 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นสมาชิกถือเป็นสถาบันที่คาดการณ์ส่งออกของไทยในแต่ละปีได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ เพราะมีการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มจากผู้ประกอบการตัวจริงที่เป็นสมาชิก "ฐานเศรษฐกิจ"ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ "นพพร เทพสิทธา" ประธานสภาผู้ส่งออกถึงภาพรวมส่งออกไทยในปี 2559 และทิศทางแนวโน้มปี 2560 ว่าจะเป็นอย่างไร ดังรายละเอียด

 ส่งออกพ.ย.พุ่งดันทั้งปีโต0%

"นพพร" กล่าวว่า จากตัวเลขการส่งออกของไทยล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขมีมูลค่าการส่งออก 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน และส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกช่วง 11 เดือนแรก มีมูลค่า 1.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังติดลบเพียง -0.05% ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ เพราะเดิมที่สรท.คาดการณ์ไว้การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส4/2559 น่าจะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ1.74-1.76 หมื่นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะทำให้การส่งออกในไตรมาส4 ติดลบที่ -1.3% และทั้งปี -0.8% แต่จากตัวเลขส่งออกเดือนพฤศจิกายนที่ดีขึ้นมาก เชื่อว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมก็น่าจะเป็นบวกเช่นกันที่ระดับ 0.05% และทั้งปี 2559 การส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวที่ 0%(จากที่สรท.คาดการณ์ไว้จะติดลบที่ -0.1% ถึง +0.2%)

"เชื่อว่าการส่งออกปี 2559 น่าจะไม่ติดลบ ซึ่งก็น่าจะตรงกับที่กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวไว้ว่าทั้งปี2559 การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ -0.1% ถึง +0.2% ถามว่าดีหรือไม่ก็ดีกว่าที่สรท.คาดไว้"

 3ปัจจัยหลักดันส่งออกปี59ฟื้น

สำหรับการที่ส่งออกไทยที่พลิกกลับมาเป็นบวกในปี 2559 มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ทำให้มีการส่งออกทองคำไปเป็นจำนวนมาก 2.ทิศทางราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลายรายการ เช่น ยางพารา ฝ้าย เหล็ก และสินแร่โลหะ และ 3.ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เร่งเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังให้เพียงพอ ซึ่งไทยมีสินค้าที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการ ทำให้ยังรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้ เงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกได้ดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น

"จากกรณีที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ส่งผลกระทบถ้วนหน้าทั้งตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดทองคำทั่วโลกราคาผันผวนหนักในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกรวมถึงสภาผู้ส่งออกมองว่าเศรษฐกิจโลกคงแย่แน่ แต่จากที่นายโดนัล ทรัมป์ จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะมาช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจโลกจากที่ซบเซามา3ไตรมาสให้กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น"

 คาดปี60ส่งออกไทยโต 2%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2560 ทางสภาฯ คาดการณ์ในแต่ละไตรมาสน่าจะมีทิศทางที่สดใส โดยไตรมาส1 ส่งออกน่าจะขยายตัว1% ไตรมาส2 ขยายตัว 1-2% ไตรมาส 3 ขยายตัว 2-3%และไตรมาส 4 ขยายตัว 1% ทั้งนี้น่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2% มีปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับหนุน 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่สำคัญในตลาดโลกต่อเนื่องจากปลายปี 2559 2.การปรับตัวของผู้ส่งออกไทยต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. จากปัจจัยภายในประเทศที่รัฐบาลให้การส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอลการหรือผู้ส่งออกรายใหม่(สตาร์ตอัพ) มาตรการและกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ในการกระตุ้นการส่งออกของภาครัฐ การเจรจาเพื่อเพื่อลดอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะเป็นตัวช่วยการส่งออกได้อีกทางหนึ่ง

"ในปี2560 เท่าที่ดูสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมทุกตัวมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นปีแห่งโอกาส ถ้าโอกาสนี้เราไม่หยิบฉวยก็จะกลายเป็นหายนะของปีต่อๆไป ดังนั้นเราต้องจับฉวยและจับให้มั่น และสร้างความยั่งยืนให้ได้ โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งบุก เช่นอินเดีย แอฟริกา และซีแอลเอ็มวี"

ปัจจัยลบยังมีเพียบ

ด้านปัจจัยลบที่อาจฉุดให้การส่งออกไทยปี 2560 สะดุดที่ยังต้องเฝ้าระวังคือ จะได้เห็นสงครามการค้าทุกรูปแบบมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงเปราะบางและยังทรงตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม แต่ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภคว่าจะดีขึ้นในทิศทางเดียวกันหรือไม่,การออกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม ภายในประเทศซึ่งอาจนำโดยสหรัฐอเมริกาและนำไปสู่การตอบโต้ในลักษณะเดียวกันของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างประเทศในภาพรวมหดตัวลงในระยะยาว สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าตามมาในวงกว้าง และภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในด้านซัพพลายเชนของการค้าระหว่างประเทศ

"ที่ทางสภาผู้ส่งออกเป็นห่วงอีกอย่างนึ่งคือหากในปี 2560 ไม่มีการส่งออกทองคำมากเหมือนปีที่ผ่านมา จากในปี2559 คาดไทยจะส่งออกทองคำมากถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหากส่งออกลดลงเหลือ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯส่งออกไทยอาจติดลบได้ เพราะทองเป็นตัวที่ดึงให้การส่งออกเป็นบวกในปีที่ผ่านมา"

 ติวเข้มผู้ประกอบการรับมือ

"นพพร"กล่าวด้วยว่า ในภาวะการค้าโลกที่ยังมีความผันผวน ผู้ส่งออกเองก็ต้องมีการปรับตัว พัฒนาสินค้าและต้องรู้จริง คือรู้จักตั้งแต่วัตถุดิบ เทคนิคการผลิต มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต การนำนวัตกรรมมาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องรู้ทั้งเรื่องการตลาดและสิ่งแวดล้อมต้องวิเคราะห์ให้ได้ เพราะถ้าไม่สามารถวิเคราะห์ได้มีปัญหาแน่นอน รวมไปถึงการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสุดท้ายคือความเร็วในการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560