ส่องเทคโนโลยี ฉลาดล้ำปีระกา

04 ม.ค. 2560 | 05:15 น.
เทคโนโลยียังคงถูกพัฒนาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อตอบสนองการใช้งานของมนุษย์ ในปี 2560 มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่น่าจับตามอง “ฐานเศรษฐกิจ” ถือโอกาสรวบรวมเทคโนโลยีที่มองว่าจะมีบทบาทสำคัญ และเป็นเทคโนโลยีใกล้ตัวกับผู้ใช้

MP22-3223-1  อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง

เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ IoT (Internet of Things) ที่มีบทบาทมากขึ้น โดยนอกจากอุปกรณ์ไอที หรือ ดีไวซ์ที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้แล้ว ปี 2560 จะมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ติดตั้งชิป และเซ็นเซอร์ ที่มีไอพี โปรโตคอล สามารถสื่อสารกันได้ และมีความฉลาดมากขึ้น โดยมีอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ เป็นตัวควบคุมสั่งการ PwC คาดการณ์ว่าอุปกรณ์ราว 5 หมื่นล้านชิ้น ถูกเชื่อมต่อออนไลน์ภายในปี 2563 ขณะที่ผู้คน กระบวนการ และข้อมูลที่เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น จะรองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ การปรับปรุงประสิทธิภาพ และการเปิดตลาดใหม่ๆ สำหรับในประเทศไทย การปรับใช้ IoT ในภาครัฐจะสร้างมูลค่าราว 75,500 พันล้านดอลลาร์ (2.2 ล้านล้านบาท) ด้วยนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมต่างๆ

ขณะที่บริษัทวิจัยตลาดไอที “ไอดีซี” คาดการณ์ว่า ในปี 2560 รถยนต์อัจฉริยะ ประกันภัยเชิงเทเลเมติกส์ เทคโนโลยีด้านสุขภาพส่วนบุคคล และสมาร์ทบิลดิ้งจะเป็น 4 กรณีการใช้งานไอโอทีที่แพร่หลายมากที่สุดของประเทศไทย ซึ่งจะกระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีไอโอทีถึง 7,000 ล้านบาท

โดยการลงทุน IoT ของประเทศไทยจะมีจำนวนถึง 7,000 ล้านบาทในปี 2560 เนื่องมาจากแนวโน้มการลงทุน ทัศนคติ และกรณีการใช้งานต่างๆ ที่จะถูกผลักดันโดยโครงสร้างธุรกิจ สถานการณ์ กฎข้อบังคับ และระดับนวัตกรรมที่หลากหลายและแตกต่างกัน

รถยนต์อัจฉริยะที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้จะเป็นตัวชูโรง ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตยานยนต์ ผู้ให้บริการไอที และผู้ให้บริการสาธารณูปโภคได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ส่วนการประกันภัยเชิงเทเลเมติกส์จะยังคงเติบโต และกลายเป็นบริการมาตรฐานของอุตสาหกรรมนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เทคโนโลยีสุขภาพส่วนบุคคลจะเป็นกรณีการใช้งานที่เกิดขึ้นใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะมีอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อพร้อมด้วยคุณสมบัติการวิเคราะห์ที่ก้าวหน้าขึ้นเกิดขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายนี้ สมาร์ทบิลดิ้งจะมีระดับการลงทุนสูงมากในประเทศไทย โดยจะได้รับการส่งเสริมจากกฎหมายที่รอการบัญญัติอยู่ซึ่งเอื้อต่อการใช้งานเทคโนโลยีสนับสนุนต่างๆ ในอนาคต

ปัญญาประดิษฐ์ ฉลาดล้ำ

เทคโนโลยีที่ถูกจับตามอง และคาดว่าจะมีบทบาทเป็นอย่างมาก คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ(Artificial Intelligence :AI) โดยถือเป็นอนาคตแห่งวงการเทคโนโลยี ด้วยคุณสมบัติที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยและชาญฉลาด สามารถเรียนรู้และสนับสนุนกิจกรรมที่มนุษย์ต้องการให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าบริษัทอย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก หรือแอปเปิล ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นอย่าง MP22-3223-2 มาก อย่างที่เราคุ้นเคยกับการใช้งาน สิริ (Siri) ของแอปเปิล หรือ กูเกิล นาว (Google Now ) ของกูเกิล ที่เปรียบเสมือนกับเลขาส่วนตัว

คาดการณ์ว่าจะมีการฝังปัญญาประดิษฐ์ลงไปในอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างซับซ้อนยิ่งขึ้นและสามารถโต้ตอบกับสิ่งรอบตัวและผู้คนได้อย่างเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อากาศยานไร้คนขับ ( Drone), รถยนต์ไร้คนขับ, เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ หรืออื่นๆ รวมถึงการเปลี่ยนไปจากการทำงานแบบสแตนด์อะโลนให้สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ ที่อยู่รายรอบได้

โดย ไอดีซี คาดว่า ในปี 2561 หรือ 2 ปีจากนี้ ผู้บริโภคครึ่งหนึ่งจะใช้บริการกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบเอไอ กันเป็นเรื่องปกติ หรือเรากำลังเดินเข้าสู่ยุคของสกายเน็ตแล้ว...

MP22-3223-3  โลกจริง-โลกเสมือนจริง

เทคโนโลยี เสมือนจริง หรือ วีอาร์ (Virtual Reality) และ เทคโนโลยีที่ผสานโลกแห่งความจริง กับโลกเสมือนจริง Augmented Reality (AR) เกมดัง “โปเกมอน โก” ดูจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง มาผสานกับโลกความเป็นจริง ในปี 2560 จะมีเกมที่พัฒนาขึ้นมารองรับเทคโนโลยีวีอาร์ และเออาร์ อีก เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้าไอทีหลายราย เตรียมนำแว่นอัจฉริยะ วีอาร์ และเออาร์ เข้ามาทำตลาดเป็นอุปกรณ์เสริม สำหรับคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน

ไอดีซี มองว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีวีอาร์ และเออาร์ จะทำให้อินเตอร์เฟซแบบ 360 องศาจะได้รับความสนใจมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2561 นั้น 30% ของบริษัทขนาดใหญ่ 100 บริษัทแรกในไทย ที่ขายผลิตภัณฑ์ และบริการให้ลูกค้าโดยตรง จะทำการทดสอบการใช้งานเทคโนโลยีวีอาร์ และเออาร์ เป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาด โดยอินเตอร์เฟซเป็นหน้าด่านที่จำเป็นต่อการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเร็วกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ การใช้งานเทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงจะทำให้ประเทศไทยเห็นโลกดิจิตอลเชื่อมต่อกับโลกแห่งความเป็นจริง และเห็นคนเข้าไปอยู่ในโลกดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบในอีก 3 – 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มและขยายปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่าง ๆ ในเศรษฐกิจดิจิตอล

MP22-3223-6  สมาร์ทโฟน หน้าจอบิดงอได้

ช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมา พัฒนาการของสมาร์ทโฟนมาถึงจุดอิ่มตัว ไม่มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากความเร็วเพิ่มขึ้น หน้าจอใหญ่ขึ้น จนถึงปี 2559 ที่ผ่านมาพัฒนาการความเร็ว และหน้าจอ เริ่มมาถึงจุดที่รองรับการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอแล้ว ผู้ผลิตจึงหันมาให้ความสำคัญเรื่องกล้อง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้ชื่นชอบถ่ายภาพเซลฟี โดยจะเห็นพัฒนาการของกล้องที่มีความคมชัดมากขึ้น มีเทคโนโลยีกล้องคู่ออกมาในตลาด คาดการณ์ว่าพัฒนาการต่อไปของสมาร์ทโฟนที่ออกมาในปี 2560 คือ สมาร์ทโฟนที่จอสามารถโค้งจอได้

สัญญาณที่ชัดเจนคือ ยักษ์ใหญ่ อย่าง แอปเปิล เปิดเผยสิทธิบัตรใหม่ล่าสุด ที่ทำให้อุปกรณ์ไอโอเอส อย่างไอโฟน ไอแพด หรือแอปเปิลวอตช์ที่จะผลิตในอนาคตสามารถโค้งงอหรือพับได้ โดยที่ตัวอุปกรณ์ไม่มีความเสียหาย แถมยังสามารถคืนรูปและใช้งานได้ตามเดิม ซึ่งจะผลิตเป็นพลาสติกอ่อนและไฟเบอร์ชนิดพิเศษที่สามารถทนต่อการบิดงอซ้ำๆได้ โดยคาดการณ์ว่าแอปเปิลจะเริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับผลิตภัณฑ์ แอปเปิล วอตช์ รุ่นถัดไป ก่อนพัฒนามาใช้กับไอโฟนรุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดปี 2560

เช่นเดียวกับค่ายซัมซุง ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร สมาร์ทโฟนที่มีความยืดหยุ่น บิดงอได้ โดยจะใช้หน้าจอ Flexible Display พร้อมเฟรมและส่วนประกอบต่างๆ รวมไปถึงแบตเตอรี่ ที่ทำให้ตัวเครื่องบิดงอได้ ไม่หัก ล่าสุดซัมซุง ประกาศจะอวดโฉมสมาร์ทโฟนที่สามารถบิดงอได้ในงานคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ และคอนซูเมอร์ เทคโนโลยี เทรดโชว์ 2017 ที่ลาสเวกัส

  MP22-3223-4 สมาร์ทวอตช์ ใส่ซิมได้

ปี 2559 มีอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) ออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลการสำรวจล่าสุดของไอดีซี ระบุว่าครึ่งปีแรกของปี 2559 ที่ผ่านมาอุปกรณ์สวมใส่แบบพื้นฐานคือ ริสต์แบนด์ อาทิ ฟิตบิต การ์มิน จอว์โบน มีมูลค่าตลาดประมาณ 930 ล้านบาท โดยมียอดขาย 2 แสนเครื่อง และกลุ่มสมาร์ทวอตช์ อาทิ แอปเปิล วอตช์ ซัมซุง เกียร์ ฟิต และโมโต 360 มูลค่าตลาดประมาณ 630 ล้านบาท มียอดขาย 4.5 หมื่นเครื่อง ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ปี 2559 ทั้งปี ไอดีซีมองว่าน่าจะมีตัวเลขมากกว่า 4 แสนเครื่อง

สำหรับแนวโน้มในปี 2560 นั้นกลุ่มสมาร์ทวอตช์ จะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการทำงานและมีความฉลาดมากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยสมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุม เช่นเดียวกับสมาร์ทวอตช์ รุ่นแรกที่ออกมาในตลาด โดยสมาร์ทวอตช์ เจเนเรชัน 2 จะมีการติดตั้งหน่วยประมวลผล ที่เปรียบเสมือนสมองกล เข้าไปเพื่อให้สมาร์ทวอตช์ มีความฉลาดมากขึ้น และติดตั้งช่องใส่ซิมการ์ด 3G หรือ 4G เข้าไปให้สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อ บลูทูธ หรือ ไวไฟ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยไอดีซีคาดการณ์ว่าในปี 2560 สมาร์ทวอตช์ที่ออกสู่ตลาด 20 % จากรองรับการใช้งานเซลลูลาร์ จากเดิมครึ่งปีแรกของปี 2558 มีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่การแช่งขันจะเป็นการต่อสู้ระหว่างสมาร์ทวอตช์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวอตช์โอเอส ของแอปเปิล และแอนดรอยด์แวร์ ของกูเกิล

โดยนาฬิกา อัจฉริยะ เจเนอเรชัน 2 ที่เริ่มออกสู่ตลาดแล้ว คือ ซัมซุง เกียร์ เอส 3 ที่ติดตั้งหน่วยประมวลผล Exynos แบบ Dual Core ความเร็ว 1GHz มาพร้อมคุณสมบัติที่ดึงดูดใจมากมาย อาทิ กันน้ำ กันฝุ่นตามมาตรฐาน IP68 ทนทานด้วย Corning Gorilla Glass SR+ ป้องกันรอยขีดข่วน หน้าจอซูเปอร์ อะโมเล็ดแบบ Always on ด้วยหน้าจอสีที่แสดงเวลาปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา สายนาฬิกาที่ปรับเปลี่ยนได้กับขนาดมาตรฐาน 22 มม. แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานสูงสุดถึง 4 วันต่อการชาร์จไฟจนเต็ม ไมโครโฟนและลำโพงในตัวสำหรับฟังเพลงและรับสายเรียกเข้า* แอพพลิเคชั่นบันทึกและเตือนความจำ พร้อมจีพีเอสติตั้งในตัว ช่วยบันทึกข้อมูลการออกกำลังกายได้ตลอดวัน

โดยล่าสุดมีกระแสข่าวว่า กูเกิล มีแผนพัฒนาสมาร์ทวอยช์ ที่มีหน่วยประมวลผล และรองรับการใช้งานซิมการ์ด ออกมาสู่ตลาดในปี 2560 โดยใช้ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์แวร์ เวอร์ชัน 2

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560