OUT LOOK ‘ท่องเที่ยว’ปีระกา

03 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
"เปิดศักราชปี 2560 ภาคการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้ จะมีเรื่องใดอยู่ในกระแสบ้าง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จับประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ"

 ลุ้นปลดธงแดง ICAO

MP24-3223-4 แวดวงท่องเที่ยวและการบินของไทย คงต้องรอลุ้นว่าช่วงปลายปีนี้ ไทยจะปลดธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ( ICAO) ได้ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของไทย สอบตกในโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Programme : USOAP) ตั้งแต่เมื่อปี 2558

ไทม์ไลน์ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วางไว้ว่าภายในเดือนมิถุนายน 2560 จะยื่นเรื่องไปยัง ICAO ให้มาตรวจสอบแผนแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns - SSC) หลังจากไทยใช้เวลากว่า 1 ปีเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ รวมถึงทบทวนการออกใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศ(AOC) ให้กับ 25 สายการบิน ที่คาดว่าในราวเดือนมีนาคม 2560 จะทยอยออก AOC ใหม่ให้กับสายการบินหลักๆของไทยที่ทำการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ เพื่อหวังให้สามารถปลดธงแดงได้ในราวเดือนพฤศจิกายน 2560

ขณะเดียวกันกพท.ยังต้องดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง กรณีถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ(Federal Aviation Administration : FAA) ดาวน์เกรดมาตรฐานการบินของไทย จาก Category (CAT) 1 ลงมาอยู่ Category (CAT) 2 ซึ่ง เอฟเอเอ ระบุว่าจะปรับระดับให้มาอยู่ CAT 1 เหมือนเดิม หากไทยปลดธงแดง ICAO ได้ รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการออก AOC ใหม่ และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆที่เอฟเอเอระบุไว้ ซึ่งจะทำคู่ขนานกันไปกับการปลดธงแดง ICAO เพื่อให้การบินไทยสามารถบินเข้าสหรัฐอเมริกา ตามแผนที่การบินไทยจะกลับมาเปิดบินใหม่อีกครั้ง ภายในเดือนธันวาคม 2560

 รับมือ USAP ตรวจแอร์พอร์ต

MP24-3223-1 ไฮไลต์ อีกเรื่อง คือ การรับมือในโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากล โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง The Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USAP- CMA) เป็นอีกหนึ่งโครงการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่จะเข้ามาออดิตการทำงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในเดือนกรกฎาคมนี้

USAP จะเน้นตรวจสอบ 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.กฎหมายหลักด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน 2.แผนการรักษาความปลอดภัยการบินและกฎระเบียบข้อบังคับ 3.องค์กรผู้มีอำนาจของรัฐด้านการรักษาความปลอดภัยการบินและความรับผิดชอบขององค์กร 4.คุณสมบัติและการฝึกอบรมบุคลากร 5.การจัดให้มีเอกสารและแนวทางเทคนิค เครื่องมือ และข้อมูลสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัย 6.หน้าที่การรับรองและการให้ความเห็นชอบ 7.การควบคุมคุณภาพ และ 8.การแก้ไขข้อกังวลด้านการรักษาความปลอดภัย

ทั้งโครงการนี้ยังจะสุ่มตรวจสอบสนามบินระหว่างประเทศ เพื่อเช็กระบบการรักษาความปลอดภัยหรือซิเคียวริตี ด้วย ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. และสนามบินของกรมท่าอากาศยาน(ทย.)ที่เป็นสนามบินนานาชาติ ในขณะนี้ต่างตรวจสอบการทำงานของตัวเอง และแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อรับมือการตรวจสอบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับซิเคียวริตีในสนามบินของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมีสนามบินใดของไทย ถูกติงเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการรักษาความปลอดภัย จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญทันที ซึ่งจะรุนแรงกว่าไทยติดธงแดง ICAO ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อสนามบินไม่มีซิเคียวริตี สายการบินที่ทำการบินเข้ามาก็ต้องคิดหนักนั่นเอง

 เปิดอาคารผู้โดยสารใหม่อู่ตะเภา

MP24-3223-3 นับจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดการใช้งานท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง พัทยา ในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ส่งผลให้การเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบิน มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จากปีงบประมาณ2557 ที่มีผู้โดยสารใช้บริการราว 1.5-1.7 แสนคน เพิ่มมาเป็นราว 7 แสนคนในปีงบประมาณ 2559 และในปีงบประมาณ 2560 คาดว่าผู้โดยสารขยับเพิ่มเป็น 1.2 ล้านคน ขณะที่อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสารได้ 8 แสนคนต่อปี แต่ในกลางปี 2560 สนามบิน เตรียมจะเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ บนพื้นที่รวม 2 หมื่นตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้เป็น 3 ล้านคนต่อปี ทั้งยังได้กันพื้นที่ไว้สำหรับเปิดทางให้เอกชนมาลงทุนใน 3 โครงการหลัก คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ,ศูนย์ขนส่งสินค้าและโลจิกติกส์ , เทรนนิ่งเซ็นเตอร์หรือศูนย์ฝึกอบรมทุกเรื่องในด้านการบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการเติบโตของโลจิสติกส์ฮับ ตามยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

 800ซีอีโอท่องเที่ยวโลกตบเท้าเข้าไทย

ในปีนี้ประเทศไทยจะมีโอกาสได้แสดงศักยภาพและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่สายตาประชาคมโลกอีกครั้ง ในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมประจำปีของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก (World Travel & Touism Council : WTTC) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 เมษายนนี้ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดธีมการประชุมเน้นการท่องเที่ยวยั่งยืน ให้เข้ากับปี 2560 ที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ประกาศว่าเป็นปีแห่งการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยในงานทาง WTTC คาดว่าจะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารจากบริษัทด้านการท่องเที่ยวจากทั่วโลกประมาณ 800 คนและสื่อมวลชนอีก 300 คน เดินทางเข้ามาร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับตามมาหลังการประชุม ไม่เพียงจะเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวของไทย แต่ยังได้ในแง่ของการลงทุนและการวางแผนงานในอนาคตจากบริษัทต่างๆ หลังจากที่ซีอีโอระดับโลก ได้เดินทางมาไทยและหารือกับผู้ประกอบธุรกิจในไทย

 บิ๊ก รร.ชิงบัดเจ็ตโฮเต็ลปตท.

หลังจากปลายปีที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้ล้มกระดานกระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการเชนโรงแรม เสนอแผนชิงโครงการพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด(บัดเจ็ต โฮเต็ล) ภายในสถานีบริการน้ำมันของปตท.จำนวน 50 แห่ง ภายในเวลา 5 ปี ที่มีผู้ประกอบการ 5 ราย ยื่นเสนอแผนเข้าไป ได้แก่ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป, ซี.พี.แลนด์,โกลเบิ้ลพร๊อพเพอร์ตี้ คอนเซ้าติ้งแอนด์แมเนจเม้นท์ เจ้าของแบรนด์ บีทู ,กลุ่มเซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ และ Wyndham Group ( Kosmopolitan Hospitality) ด้วยเหตุผลมีผู้ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาธุรกิจโรงแรมของปตท.ไม่ถึง 3 รายตามที่กำหนดไว้ แต่ปตท.ไม่ได้ยกเลิกโครงการนี้ และอยู่ระหว่างปรับเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่เพื่อเปิดทางผู้ประกอบการร่วมเสนอตัวเพิ่มมากขึ้น โดยจะเปิดให้เอกชนมาเสนออีกครั้งในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดได้รับการคัดเลือก ก็จะเป็นทางลัดในการขยายธุรกิจบัดเจ็ต โฮเต็ลได้อย่างรวดเร็ว และทำให้การแข่งขันในสมรภูมิโรงแรมราคาประหยัดในไทยจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560