จับตางบฯแสนล้าน ลงทุนกลุ่มจังหวัดปี60

03 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
สร้างความฮือฮาครั้งใหญ่เมื่อรัฐบาลออกนโยบายประชารัฐสร้างไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงิน1 แสนล้านบาท โดยจัดสรรในระดับจังหวัด ตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy)โดยจะเริ่มขับเคลื่อนในปี 2560

ขณะนี้ 18 กลุ่มจังหวัดได้นำเสนอแผนการพัฒนาท้องถิ่นมาแล้ว 1,000 โครงการ จำนวนเงิน 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะทำงานจะนำเสนอโครงการทั้งหมดผ่านคณะรัฐมนตรี ในเดือนมกราคม 2560 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โครงการที่ผ่านการอนุมัติ คาดจะเริ่มนำสู่การปฏิบัติได้ในเดือนมีนาคม ปีหน้า ซึ่งการจัดสรรงบให้ 18 กลุ่มจังหวัดเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจลดพึ่งพาการส่งออก 70 % เป็น 60 % และเพิ่มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจาก 30 % เป็น 40 %

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เปิดเผยว่า แผนพัฒนาท้องถิ่น 1,000 โครงการนั้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 1.โครงการกลุ่มเกษตรราว 400 โครงการ มูลค่าลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า สร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น 2. กลุ่มท่องเที่ยวและบริการจำนวน 400 โครงการ มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท มุ่งเน้นใช้พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และความปลอดภัย 3. กลุ่มการค้า การลงทุน การค้าชายแดน รวมจำนวน 116 โครงการ มูลค่า 7,900 ล้านบาท เน้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้าชายแดน และ 4. กลุ่มด้านโลจิสติกส์ จำนวน 27 โครงการ มูลค่าราว 1.82 หมื่นล้านบาท เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการผลิต

นายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำโครงการของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 คือการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในกลุ่มจังหวัดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยจัดทำโครงการที่มีลักษณะความเชื่อมโยง ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทั้งภายในกลุ่มจังหวัดและข้ามกลุ่มจังหวัด ซึ่งกำหนดให้กลุ่มจังหวัดได้พิจารณาดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 5,000 ล้านบาท

MP20-3223-b ในกรอบยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ1 คือ 1.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อารยะธรรมล้านนา ครอบคลุมเรื่องของการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งหัตถกรรมสร้างสรรค์ ภาคบริการมูลค่าสูงโครงสร้างพื้นฐาน/เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว 2. ฟู๊ดวัลเลย์ เน้นการผลิต การแปรรูป/เพิ่มมูลค่าการตลาดและการกระจายสินค้า ทางการเกษตรการค้า เน้นในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ซึ่งจะรวมถึงอีโค่ทาวน์เข้าไปด้วย 3. กรีน ซิตี้ เป็นเรื่องป่าไม้ การจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย อากาศ ระบบขนส่งมวลชน และภูมิทัศน์เมือง

ในขณะที่ นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กลุ่มภาคเหนือตอนบน2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศงบกลุ่มจังหวัด 5,000 ล้านบาท โครงการที่เสนอขอสนับสนุนงบประมาณเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยเป็นโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 โดยเน้น 3 ด้าน ประกอบด้วย1.ด้านการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ สู่กลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) และ ASEAN 2.ด้านการท่องเที่ยว โดยเน้นให้เชียงรายเป็นเมืองสมุนไพร เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(โครงการเชียงรายอาหารปลอดภัย) และการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (จักรยาน ไตรกีฬา วิ่งมาราธอน) และ 3.ด้านการพัฒนาสินค้าเกษตรดีและปลอดภัย โดยเน้น 5 ผลิตภัณฑ์สำคัญของจังหวัด คือข้าวหอมมะลิ กาแฟ ชา โคเนื้อ และสมุนไพร

MP20-3223-c นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน หัวหน้ากลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 เปิดเผยว่า จังหวัดอุดรธานีในฐานะของหัวหน้ากลุ่มจังหวัด อีสานตอนบน 1 ได้รวบรวมโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด อีสานตอนบน 1 เข้าไปนำเสนอกับทีมที่ปรึกษาประกอบด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน เช่น กพร.สำนักงบประมาณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และ ฯลฯ ประกอบด้วย 11 โครงการใหญ่ 80 กิจกรรม งบประมาณกว่า 6,800 ล้านบาท ซึ่งทางคณะที่ปรึกษาฯได้มีการพิจารณากลั่นกรองแล้ว แนะนำให้นำเอาโครงการ กิจกรรม นำกลับมาทำการปรับปรุงแก้ไข ให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง

ตามกรอบแนวทางแล้ว แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดจะนำเสนอกับคณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 2560 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โครงการที่ผ่านการอนุมัติจะเริ่มเดินเครื่องประมาณเดือนมีนาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560