ดีลแห่งปี 59 ‘หมอเสริฐ’ทุ่มซื้อ‘ปาร์คนายเลิศ’

03 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
ปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่การตกลง ซื้อ-ขาย (Deal) ควบรวมธุรกิจยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง บางดีลมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ทั้งที่ตกเป็นข่าวลือก่อนจะกลายเป็นเรื่องจริง อย่างกรณีคิงเพาเวอร์สยายปีกเทกสายการบินต้นทุนต่ำไทยแอร์ เอเชีย หรือข่าว"ช็อก"วงการดีล 7 วันซื้อ-ขาย โรงแรมสวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ ของหมอเสริฐกับตระกูล"สมบัติศิริ" ดีลเงียบอย่างทีวีดิจิตอล 2 ค่ายที่ต้องอาศัยทุนใหญ่เข้าไปต่อลมหายใจ ส่วนการซื้อขายกิจการในต่างประเทศของค่ายซีพีเอฟและทียูยังไล่ช็อปอย่างต่อเนื่อง หรือกรณีข่าวลือขายโลตัสในไทย แต่กลายเป็นว่าเจ้าสัวเจริญเข้าไปซื้อ"บิ๊กซี" แทน เป็นต้น เมื่อพินิจพิเคราะห์ "ฐานเศรษฐกิจ" ยกให้ดีลหมอเสริฐซื้อโรงแรม เป็นสุดยอดดีลแห่งปี

[caption id="attachment_122285" align="aligncenter" width="503"] ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ[/caption]

 1."หมอเสริฐ" ทุ่มหมื่นล้านซื้อ"รร.ปาร์คนายเลิศ"

ดีลแห่งปี 2559 ที่ฮือฮาที่สุดต้องยกให้ดีลสายฟ้าแลบ จนทอล์กออฟเดอะทาวน์ ของ เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 เมืองไทย น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หัวเรือใหญ่บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ Bangkok Dusit Medical Services (BDMS) ได้นำบริษัทในเครือบริษัท บีดีเอ็มเอสเวลเนสคลีนิก จำกัด เข้าซื้อโรงแรมเก่าแก่อายุ 33 ปี สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ ด้วยเม็ดเงินถึง 10,800 ล้านบาท จากตระกูล "สมบัติศิริ"เพื่อเปิดศูนย์เวลเนส คลินิก ระดับ เวิลด์คลาส ซึ่งมีการเจรจาไม่ถึง 7 วันดีลก็จบดีลอย่าง วินวิน ทั้งสองฝ่ายก่อนที่ดินผืนงามจะตกอยู่ในมือต่างชาติ

ในมุมของบีดีเอ็มเอสได้ทั้งที่ดิน 15 ไร่ใจกลางกรุง อนาคตรอบข้างไม่มีตึกสูงมาบัดบัง แม้ราคาซื้อขายจะตกตารางวาละ 1,800,000 บาท แต่เมื่อรวมกับสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคาร เพอเมอนาร์ดอาคารสต๊าฟ แคนทีน รวมเนื้อที่ 6หมื่นตารางเมตร และอาคารโรงแรม ถือคุ้มสุดคุ้ม กูรูที่ดินประเมินแทบจะซื้อที่ดินได้โรงแรมขนาด 338 ห้องและอาคารเป็นของแถม

อีกทั้งเมื่อเติมเงินอีกแค่ 2,000 ล้านบาท ปรับปรุงอาคาร ใส่ไอที เครื่องมือต่าง ๆ ก็สามารถเปิดศูนย์สุขภาพครบวงจร รับกระแสโลกที่กำลังมาแรง จับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ไทย-เทศ ซึ่งกลัวความแก่ได้ไม่ยาก โดยใช้ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญของ โรงพยาบาลในเครือข่าย บีดีเอ็มเอส ที่มีอยู่พร้อมมาต่อยอดธุรกิจได้ทันที และใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือนก็จะเปิดบริการได้ในปี 2560

ฟากตระกูล "สมบัติศิริ" แม้จะตัดขายที่ดินและโรงแรมไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือที่ดินติดกันอีก 18 ไร่ และ "บ้านปาร์คนายเลิศ" เรือนไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี ซึ่งขณะนี้ใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงหรูหรา อีกทั้งการได้เงินสดในมือถึงหมื่นกว่าล้านบาท เป็นทุนรอนนำมาต่อยอดธุรกิจภายใต้แบรนด์ "ปาร์ค นายเลิศ" ซึ่งเป็นที่รู้จักได้ไม่ยาก เพราะมีแลนด์แบงก์ อยู่ตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งไม่ว่าเขาใหญ่ และบ้านพิไลพรรณ ตั้งอยู่ในที่ดิน 5 ไร่ ติดชายหาด หัวหิน ซึ่งขณะนี้เปิดบริการอาหารอิตาเลียน ดังนั้นการเดินหน้าธุรกิจใหม่จึงไม่ยาก เพราะพร้อมทั้งประสบการณ์และเงินทุน
ดีลนี้จึงจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง !!

tp01-3222-f  2. ซีพีเอฟ-ทียู ไล่ช็อปกิจการอาหารโลก

ดีลต่อมาเป็นของ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของเมืองไทยที่แข่งซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู ซึ่งประเมินคราวๆ ในปี 2559 มีมูลค่ารวมกันร่วม 6 หมื่นล้านบาท

"ซีพีเอฟ" มีดีลใหญ่สุด ในการเข้าซื้อกิจการอาหารแช่แข็งที่ใหญ่สุดของสหรัฐฯ บริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิงค์ (Bellisio) จากบริษัทเซ็นเตอร์พาร์ตเนอร์สเมเนจเม้นต์แอลแอลซีฯ มีมูลค่า 1,075 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 3.8 หมื่นล้านบาท ดีลนี้ "อดิเรก ศรีประทักษ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ซื้อกิจการในสหรัฐฯและหลังซื้อเบลลิซิโอ คาดจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารเดิม 12% ในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 17% จากเป้าหมายรายได้ที่ 5 แสนล้านบาท

ขณะที่ "ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป" หรือ ทียู เบอร์ 1 ทูน่าโลกยังคงช้อปกิจการในต่างแดนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดย ดีลใหญ่สุดของปี คือการเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทเรดล็อบสเตอร์ ซีฟู้ดฯ ซึ่ง "เรดล็อบสเตอร์"เป็นแบรนด์ชั้นนำที่ทำธุรกิจภัตตาคารอาหารทะเลที่ใหญ่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือกว่า 2 หมื่นล้านบาท

"ธีรพงศ์ จันศิริ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทียู ระบุว่าการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นเชิงกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง หลังผ่านมา 20 ปี เป็นเพียงผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารทะเลป้อนให้กับเรดล็อบสเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรดล็อบสเตอร์มีสาขามากกว่า 700 สาขาตั้งในสหรัฐฯ, 50 สาขา ในแคนาดา, 24 สาขา ในญี่ปุ่นและ 7 สาขาในมาเลเซีย และยังมีช่องทางโอกาสขยายสาขาในอีกหลายประเทศทั่วโลก

tp12-3222-b  3. คิงเพาเวอร์"ฮุบ" ไทยแอร์เอเชีย

อีกดีลที่สะท้านวงการท่องเที่ยว และน่าจะเป็นปีทองของเจ้าสัว "วิชัย ศรีวัฒนประภา" เจ้าของ คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี และสโมสร เลสเตอร์ซิตี้ ที่พาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ตกเป็นข่าวดังทั่วโลกชั่วข้ามคืน กลางเดือนมิถุนายน เขาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือAAV จำนวน 39% ใช้เม็ดเงินร่วม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อต่อจิกซอว์เชื่อม 3 ธุรกิจหลัก ดิวตี้ฟรีกับสายการบินไทยแอร์เอเชียและสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งสร้างแบรนด์สู่เวทีโลก โดยหวังจะปั้นรายได้ 1.15 แสนล้านบาทในปี 2560

"วิชัย" มองขาดว่า การลงทุนในไทยแอร์เอเชีย เป็นการลงทุนระยะยาว แต่เมื่อผนึกความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิวตี้ฟรีที่ทำมากว่า 27 ปี และ มีอัตราเติบโตของไทยแอร์เอเซียปีละ 20-25% ก็จะเกิดซินเนอร์ยี่สามารถต่อยอดให้เกิดโอกาสใหม่ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะตลาดทัวร์จีนที่เป็นตลาดใหญ่และเป้าหมายสำคัญของทั้งไทยแอร์เอเชียและคิงเพาเวอร์

เข้าทาง ธรรศพลฐ์แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ออกมายอมรับว่า ธุรกิจการบินแข่งขันสูงมากและเขาก็มาถึงจุดสูงสุด ปลุกปั้นจนสายการบินมีเส้นทางบินในประเทศสูงสุด และครอบคลุมจุดบินในภูมิภาคมากที่สุด ที่ผ่านมาก็ได้ใช้คอนเนกชันต่าง ๆ จนหมดแล้ว เพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้ได้ 20% ต่อปีจึงต้องต่อยอดเพื่อให้ได้คอนเนกชันใหม่ๆ ซึ่งหมายถึงศักยภาพของคิงเพาเวอร์ที่มีฐานลูกค้าแข็งแกร่งในตลาดจีน

[caption id="attachment_122290" align="aligncenter" width="503"] ฐาปน สิริวัฒนภักดี ฐาปน สิริวัฒนภักดี[/caption]

 4.บิ๊กทุนโดดอุ้มทีวีดิจิตอล

ปี 2559 วงการสื่อเมืองไทยเกิดการควบรวมกิจการกันมากที่สุด โดยเฉพาะทีวีดิจิตอล หลังรับภาระขาดทุนไม่ไหว เดือนพฤศจิกายน บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจโรงพิมพ์ สิ่งพิมพ์ และจัดงานอีเวนต์ รวมทั้งทีวีดิจิทัลช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี 34 ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการขายหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น ให้แก่บริษัท วัฒนภักดี จำกัด รวมมูลค่า 850 ล้านบาท ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี โดยฐาปนและปณต เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 47.62% เพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจทีวีดิจิตอลและชำระค่าใบอนุญาต รวมทั้งชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

ก่อนสิ้นปีช่อง ONE ของบมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ประกาศเปรี้ยง ถึงการเข้าถือหุ้นโดยบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของ นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ทายาท น.พ.ปราเสริฐ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของ เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ในสัดส่วน 50% และแกรมมี่จะเป็นผู้ถือหุ้น 25.50% ส่วนนายถกลเกียรติ วีรวรรณ จะเป็นผู้ถือหุ้น 24.50% พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 1,905 ล้านบาท ส่งผลให้มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 3,810 ล้านบาท โดยจะนำเงินดังกล่าวไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจและเสริมศักยภาพทางด้านเงินทุน

 5. อลหม่านชิงหุ้น "บิ๊กซี"

อีกกรณีคือศึกชิงค้าปลีกของตระกูลดัง "สิริวัฒนภักดี" กับ "จิราธิวัฒน์" หลังจากมีกระแสการเร่ขายกิจการของเทสโก้ โลตัสในเมืองไทย แต่กลับกลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง "บิ๊กซี" ที่มีการเปลี่ยนแปลงแทนเมื่อกลุ่ม เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ชนะการประมูลเสนอซื้อกิจการบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท และเป็นดีลที่จบในปี 2559 ทำให้บีเจซี ได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการบิ๊กซี ในเมืองไทยทั้งหมด

ขณะที่ "กลุ่มเซ็นทรัล" นำโดยทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัลจำกัด เลือกที่จะเข้าซื้อกิจการของบิ๊กซี ประเทศเวียดนามจากกลุ่มคาสิโน ฝรั่งเศสแทน ด้วยเม็ดเงินลงทุน 920 ล้านยูโรหรือประมาณ 3.68 หมื่นล้านบาท ทำให้ได้สิทธิ์บริหารบิ๊กซีทั้ง 43 แห่ง ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 33 แห่ง คอนวีเนียนสโตร์ 10 แห่ง และศูนย์การค้าอีกกว่า 30 แห่ง

งานนี้กลุ่มเซ็นทรัลไม่ได้ยึดเฉพาะบิ๊กซีเท่านั้น แต่เป็นการตอกย้ำถึงโอกาสในการสร้างอาณาจักรค้าปลีกแห่งใหม่คือ "เวียดนาม" เพราะทุกวันนี้กลุ่มเซ็นทรัลมีทั้งห้างสรรพสินค้าโรบินส์, เหงียนคิม เทรดดิ้งจอยท์สต็อค คอมพานี ยักษ์ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ซึ่งมีสาขา 21 แห่งทั่วประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559