โยกฮับไฮสปีดเทรนพ้นสถานีกลางบางซื่อสศช.ชงปักหมุด‘ภาชี’

02 ม.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผ่าทางตันเขตทางรถไฟเข้ากรุงเทพฯคับแคบ สศช.เสนอย้ายฮับรถไฟไฮสปีดไปไว้สถานีบ้านภาชี พระนครศรีอยุธยา พัฒนารถไฟสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์เชื่อมโยง ลดความแออัดสถานีกลางบางซื่อไว้รองรับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่

แม้จะหารือกันร่วม 16 ครั้งแต่ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นจะยังไม่ลงตัว ปมปัญหาสำคัญข้อหนึ่งคือเขตทางรถไฟช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยามีจำกัด โดยแต่ละประเทศอ้างจะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของตนเอง จนทำให้ฝ่ายไทยต้องปรับแก้ไขแบบเส้นทางครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดเริ่มสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แนะปลดล็อก จากเดิมที่วางแผนให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์รวมรถไฟความเร็วสูง และเสนอให้ย้ายไปอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นจุดเริ่มต้นแทน

โดยเรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงกรณีปมความล่าช้าการพัฒนาเส้นทางรถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่น โดยเฉพาะความไม่ลงตัวของการใช้เส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี เนื่องจากทับซ้อนกับแอร์พอร์ตเรลลิงค์และเขตทางมีจำกัด

โดยควรกำหนดให้จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา แทนที่จะมาสิ้นสุดที่บางซื่อ เพราะฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันชัดเจนว่าจะใช้ระบบชินคันเซน ซึ่งจะไม่รองรับระบบรถไฟของจีน ต่างจากรถไฟจีนที่ระบบอาณัติสัญญาณจะเปิดกว้างมากกว่า อีกทั้งหากย้ายชุมทางรถไฟความเร็วสูงไปอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา จะเป็นการขยายพื้นที่ความเจริญออกไปสู่เมืองบริวารของกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างจุดเด่นด้วยระบบราง และกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย

"เป็นการเริ่มต้นระบบของรถไฟไทยภายใต้ความร่วมมือต่อกันได้อย่างลงตัว เพียงปลดล็อกความคิดว่า ไม่ต้องเริ่มต้นที่บางซื่อก็ทำได้แล้ว อีกทั้งบางซื่อยังลดความหนาแน่นของชุมทางไปได้อีกมาก เพื่อให้เกิดการพัฒนากิจกรรมอื่นในอนาคตได้อีกด้วย โดยเฉพาะระบบรางเส้นทางอื่น ๆ ที่จะเชื่อมเข้ามายังสถานีกลางบางซื่อ โดยช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชีนั้นเพียงขยายแนวเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ออกไป อีกทั้งยังต่อขยายจากสนามบินสุวรรณภูมิไปถึงระยองได้อีกด้วย ประการสำคัญแนวเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกันช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ก็จะลดความแออัดลงไป เนื่องจากจะมีเพียงสายสีแดงในเส้นทางรถไฟชานเมืองและแอร์พอร์ตลิงค์ใช้พื้นที่เขตทางเท่านั้น ทำให้สามารถใช้รถไฟทั้งสองระบบให้เกิดศักยภาพสูงสุด เพิ่มความถี่การเดินรถได้มากขึ้น และช่วยประหยัดงบประมาณลงไปได้อีกมากมาย"

นอกจากนั้นสนข.และสศช. ยังมองความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการเจริญของเมือง เมืองตามแนวเส้นทางยังจะได้อานิสงส์ เพียงแต่จะต้องวางแผนของการพัฒนาแต่ละพื้นที่แต่ละเมืองตามไปด้วย อีกทั้งยังต้องหารือร่วมกันในด้านการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี จัดพื้นที่ที่ไกลจากแนวเส้นทางให้เกิดการพัฒนาด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่โดดเด่นสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั้งแหล่งท่องเที่ยว คลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ ศูนย์วิจัย สถาบันการศึกษา ถือเป็นกิจกรรมที่มีส่วนทำให้เติบโตทางเศรษฐกิจได้

"เปิดโอกาสให้เมืองเติบโตด้วยกิจกรรมต่าง ๆ แต่หากมีรถไฟฟ้านักลงทุนจะตัดสินใจเร็วขึ้น เพียงรัฐช่วยด้านการจัดหาพื้นที่ การวางผัง ระเบียบกฎหมาย ตลอดจนช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ประการสำคัญจ.พระนครศรีอยุธยาปัจจุบันเครือข่ายอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยวมีพร้อม แต่อาจจะจัดหาเพิ่มด้านการเชื่อมโยงระบบขนส่ง อาทิ รถเช่า โรงแรม ร้านอาหาร จัดแหล่งท่องเที่ยวให้ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกำหนดแผนพัฒนาร่วมกับเอกชนในพื้นที่"

ทั้งนี้ เส้นทางส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ควรจะเข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงภายในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถต่อยอดได้อีกมากมาย โดยเริ่มต้นจากบ้านภาชี ผ่านสถานีกลางบางซื่อ เชื่อมไปสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ระยอง หรือจังหวัดตราด เพียงเพิ่มศักยภาพให้บริการด้วยขบวนรถให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างเต็มที่เท่านั้น

ด้านนายมานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน ภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คงจะมีผลต่อการเติบโตของเมืองเหล่านั้นได้ไม่มากก็น้อย แต่ก็ต้องระมัดระวังกรณีไปกระทบเขตเมืองชั้นในของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะพระนครศรีอยุธยา และสุโขทัย แต่หากสามารถเข้าไปมีส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดได้ ก็จะเกิดมูลค่าเพิ่มของโครงการ และกลับคืนสู่การลดต้นทุนของโครงการได้ไม่มากก็น้อย

“รถไฟความเร็วสูงจะเน้นเชื่อมโยงเมืองสู่เมือง หรือจังหวัดสู่จังหวัด ซึ่งแต่ละเส้นทางสามารถเชื่อมไปแต่ละภาคแต่จะต้องไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการเดินทาง ไม่ต้องลากกระเป๋าไกลๆหรือเปลี่ยนขบวนบ่อยครั้งเท่านั้นเอง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560