ปัจจัยรุมเร้ารัฐบาลปี60 ‘เศรษฐกิจ-ปฏิรูป-ปรองดอง’

01 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
กว่า 2 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายแรกจะสร้างความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2557 ตามด้วยการแก้ปัญหาเร่งด่วนและวางแนวทางสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ และเหนืออื่นใดเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งหวังคืนประชาธิปไตยสู่การเมืองไทยอีกครั้ง

“ฐานเศรษฐกิจ”ได้สัมภาษณ์ผู้ที่คลุกคลีแวดวงทางการเมือง เพื่อให้สะท้อนปัจจัยเสี่ยงที่ “บิ๊กตู่” อาจต้องเผชิญในห้วงเวลาอันใกล้นี้

 3 ปัจจัยรุมเร้ารัฐบาล

[caption id="attachment_122586" align="aligncenter" width="500"] สุริยะใส กตะศิลา สุริยะใส กตะศิลา[/caption]

เริ่มที่มุมมอง “สุริยะใส กตะศิลา” รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนจุดเสี่ยงรัฐบาลในปี 2560 ว่า เรื่องห่วงที่สุดมี 3 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปัญหาเศรษฐกิจ การปฏิรูปประเทศ และปัญหาการปรองดองสมานฉันท์ในสังคม

สุริยะใส ขยายความถึงปัญหาเศรษฐกิจว่า ช่วงปี 2559 รัฐบาลมีมาตรการออกมาหลายอย่าง อาทิ โครงการจำนำยุ้งฉางข้าว สินค้าภาคเกษตรทั้งระบบให้ไร่ละ 1,500 บาท เป็นมาตรการเฉพาะหน้าแต่ยังไม่ส่งผล เป็นเพียงการพยุงไม่ให้คนล้มเท่านั้น แต่ถ้าใช้เวลาในการพยุงนานๆ คนพยุงจะเหนื่อย แต่ในระยะยาวต้องมีปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งความสามารถที่เป็นจริงของทีมเศรษฐกิจด้วย

ปี 2560 ทีมเศรษฐกิจ ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องพิสูจน์ว่าเป็นดรีมทีมจริงหรือไม่ เศรษฐกิจ ปี 2560 จะเป็นโจทย์ที่อาจจะนำไปสู่เสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งต้องดูหลายปัจจัย อาทิ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านด้วย เพราะปีที่ผ่านมาปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ตลอดจนพืชผลการเกษตรกระทบทั้งระบบ โดยมีตัวชี้วัดใกล้ตัวจากเปอร์เซ็นต์ที่เด็กมาทำเรื่องลดหย่อนค่าเทอมสูงกว่าปีที่ผ่านมา เด็กบางคนพ่อแม่มีฐานะก็มาทำเรื่องลดหย่อนค่าเทอมเยอะมาก

เรื่องรูปธรรมของการปฏิรูปประเทศไทย เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของรัฐบาล เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลเฉพาะกิจที่มาจากการรัฐประหารไม้ค้ำสำคัญอย่างหนึ่งคือข้ออ้างในการปฏิรูปประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน หลายคนที่เป็นนักประชาธิปไตยหรือเคยต่อสู้กับเผด็จการในอดีตยอมได้หรือหลับตาข้างหนึ่งให้ได้ เพราะเงื่อนไขขอปฏิรูปประเทศ 2 ปี

คำถามคือ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้น ปฏิรูปเป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้หรือไม่ เป็นโจทย์ที่คนจะทวงถามรูปธรรมของการปฏิรูปมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้โรดแม็ปของการเลือกตั้ง ด้านหนึ่งคนกลัวจะกลับไปขัดแย้ง หรือเกิดรบราฆ่าฟันกันอีกหรือไม่ ถ้า คสช.ไม่มีรูปธรรมตรงนี้ให้ จะทำให้การเมืองกลับเข้าไปอยู่ในหลืบหลุมของความขัดแย้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมา แม่น้ำทั้ง 5 สายต้องนั่งทบทวนมองไปข้างหน้าว่า ปีกว่าที่เหลือก่อนมีการเลือกตั้งจะทิ้งทวนเรื่องปฏิรูปเรื่องไหนอย่างไร

 “ปรองดอง”โจทย์ใหญ่รัฐบาล

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ 3 ที่อดีตนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ฟันธงชัดๆไม่พ้น เรื่องปรองดองสมานฉันท์ ถ้าประเมินผลเขาให้รัฐบาลสอบตก ด้วยเหตุผลว่าสามารถสัมผัสเห็นกลิ่นไอความแตกแยกได้ทุกจุด สิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนนี้ 3-4 ปีก็ยังมีอยู่ เพียงแต่วันนี้ทำกิจกรรมไม่ได้ ส่วนหัวขบวนเคลื่อนไหวไม่ได้เพราะกฎหมายคลุมไว้ แต่ระดับมวลชนสังเกตจะเห็นว่ามีทุกจุด เป็น “คลื่นใต้น้ำ” ที่วันหนึ่งถ้ามีโอกาสปะทุมันจะพุ่งเหมือนภูเขาไฟ แม้จะมีกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหว
แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็ต้องปล่อยใก้กฎหมายฟรีมากขึ้น ให้หาเสียงได้ ปราศรัยได้ ชุมนุมได้ ยกเว้นการใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง กฎอัยการศึกต้องยกเลิกก่อนเลือกตั้ง จึงเป็นห่วงว่าถ้าเงื่อนไขนั้นกลับมาอีกจากเชื้อความขัดแย้งที่ยังมีอยู่น่าเป็นห่วง บวกกับเรื่องที่จะเข้ามาจากเงื่อนไขความขัดแย้งและความแตกแยกที่คาอยู่ รวมถึงชะตากรรมของผู้นำแต่ละฝ่าย ที่ติดคุกในคดีต่างๆ เช่น คดีจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีฝ่ายผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์ คิดว่าปี 2560 ศาลคงตัดสินหลายคดี ถ้าตัดสินให้ติดคุก อาฟเตอร์ช็อคหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร เหล่านี้ยากที่จะคาดการณ์

ส่วนความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้น สุริยะใส วิเคราะห์ว่า รัฐบาลคงมีแผนรองรับเพียงแต่พูดไม่ได้ เพราะความปรองดองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความขัดแย้งที่สะสมมายาวนานมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน บางเรื่องเป็นคดีความ แต่บางเรื่องที่ไม่ใช่คดี เช่น เรื่องข้อมูลข่าวสารที่อาจจะบิดเบือนหรือเป็นข่าวลือที่สร้างกันมา เชื่อว่ายังไม่ลดลงในระดับที่น่าพอใจ ถ้าเพียงแต่คิดว่าเอาแกนนำติดคุก แล้วจะดีขึ้น ไม่เชื่อว่าจะดีขึ้น เห็นติดคุกกันหลายคน กลับออกมาก็ยังเหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เปลี่ยนความคิดความเชื่อกันใหม่ แล้วสร้างทางออกที่ดีที่ทุกฝ่ายยอมรับ

“ พลังมวลชนที่เป็นสี ตอนนี้ยังไม่ลงตัว มันพร้อมปะทุถ้าอุณหภูมิได้ที่ หรือมีใครทิ้งกุ้นบุหรี่ พร้อมลุกโชนทันที ตอนนี้แค่ถูกแช่เย็นไว้ในตู้เท่านั้น มันยังอยู่เป็นก้อนๆ ปริมาณยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ไม่ได้หายไปตามที่นายกรัฐมนตรีบอกว่ายุคนี้ปรองดองแล้ว อย่าหลอกตัวเอง ความจริงก็คือความจริง หลายเรื่องจะปะทุ ปี 2560 จึงเป็นปีที่ผมคิดว่า เป็นปีชี้ชะตา คสช. ”

พลังสังคมช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พลังสังคมเห็นได้ชัดว่าสูงมาก พลังทางสังคมลุกขึ้นมาจัดการกันเอง ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลสูงขึ้น ความขัดแย้งมีทั้งด้านบวกคือคนตื่นตัว เอาใจใส่ธุระของส่วนรวม แต่จะสร้างพลังสังคมเหล่านี้ให้เป็นทางบวกได้อย่างไร จะขับเคลื่อนให้เป็นพลังแผ่นดินเพื่อกอบกู้บ้านเมืองได้อย่างไร จึงจะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าและยั่งยืนได้ ต้องให้พื้นที่ภาคประชาชนมากขึ้น

พรรคการเมืองต้องปรับตัว

สุริยะใส กล่าวด้วยว่า ในทางการเมืองสิ่งที่คนอยากเห็นคือ พรรคการเมืองเตรียมเลือกตั้งแบบสร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละพรรคที่ออกมาแสดงความเห็นยังเป็นการเมืองรูปแบบเดิม เหน็บกันไปมา โยนโวหารใส่กัน มันไม่จบ ที่สำคัญอยากเห็นแต่ละพรรคคิดแผนปฏิรูปตัวเอง เห็นด้วยที่จะปลดล็อคพรรคการเมืองห้ามทำกิจกรรม แต่อาจไม่ปล่อย 100% เช่น การประชุมสัมมนาพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรม พรรคการเมืองต้องใช้โอกาสนี้ปฏิรูปพรรค ต้องไม่ลืมว่าวิกฤติทางการเมือง ความล้มเลวทางการเมืองส่วนหนึ่งมาจากพรรคการเมือง

จากเนื้อหาของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง จะเห็นว่า พรรคใหญ่ยังคุมอำนาจอยู่ โอกาสของพรรคเล็กยังเกิดยาก โดยวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยมักจะเลือกพรรคที่มีโอกาสและเป็นพรรคใหญ่ที่เป็นเป้าในการเลือก ซึ่งจะมี 3-4 พรรค พรรคการเมืองจึงต้องปรับตัว ที่ผ่านมากฎหมายดีก็ไม่ยอมปรับตัว

สำหรับประเด็นโรดแม็ปเลือกตั้ง สุริยะใส มองว่า อาจต้องเลื่อนจากปลายปี 2560 เป็นต้นปี 2561 แต่คงไม่ช้าเกินไป มีหลายปัจจัยที่คาดการณ์ยาก ฟันธงยาก สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ยากจะคาดการณ์โรดแมปทางการเมือง แม้นายกรัฐมนตรีเองก็ตอบไม่ได้ว่าการเลือกตั้งพร้อมที่สุดเมื่อใด

เทรนผู้นำใหม่“เผด็จการนิดๆ”

ส่วนเรื่องปัญหาภายในรัฐบาล เชื่อว่าด้วยอำนาจเดี่ยวของรัฐบาลทหารขณะนี้น่าจะจัดการกันง่าย เพราะไม่มีมุ้งเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลปัจจุบันอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี ถ้ามีก็อยู่ที่ตัวบุคคล แต่สุดท้ายวิสัยทหารความเป็นพี่น้องเขาก็เคลียร์กันจบ ที่บอกตอนโยกย้ายทหารจะมีปัญหาก็ไม่เห็นมี ถึงมีก็เคลียร์กันได้

ยอมรับว่าความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ ยังสูง ซึ่งจะเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคการเมืองที่จะเข้ามา ต้องสร้างจุดเด่นที่เหนือกว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พรรคเล็กคงไม่คิดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลแค่ต้องการเปิดตัว และมีที่นั่งในสภา แต่พรรคใหญ่ความน่าเชื่อถือของหัวหน้าพรรคต้องไม่ด้อยกว่า พล.อ.ประยุทธ์

“คนจะเรียกร้องเทรดผู้นำแบบใหม่ ที่มีลักษณะอำนาจนิยม หรือเผด็จการนิดๆ เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งท้าทายพรรคการเมืองที่ต้องสร้างศรัทธาไม่น้อยไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นโจทย์ของพรรรคการเมืองสมัยหน้าที่จะส่งใคร หรือเชิดใครเป็นผู้นำ ไม่ได้บอกต้องป็นเหมือนาพล.อ.ประยุทธ์ ต้องดูเทียบกับพลังศรัทธา ไม่ให้ด้อยไปกว่าผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน” สุริยะใส ให้แง่คิดทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,223 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2560