ข่าวเด่นการค้าฯปี 2559 ราคาข้าวเปลือกดิ่ง-ยางฟื้น

01 ม.ค. 2560 | 03:00 น.
ในรอบปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป แวดวงภาคเกษตรและการค้าของไทย มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สรุปโดยภาพรวมในปีนี้เป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับภาคเกษตรและการค้าของไทยนัก ซึ่งทีมข่าวเกษตร-การค้าได้คัดเลือกเหลือ 5 เรื่องเด่นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ไว้ ดังนี้

 ราคาข้าวเปลือกต่ำสุดรอบ 9 ปี

ในปี 2559 ถือเป็นปีที่ผลผลิตข้าวไทยได้เข้าสู่ภาวะปกติจากปัญหาภัยแล้งได้ผ่านพ้นไป ชาวนาทั่วประเทศแห่ปลูกข้าว ส่งผลให้ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดพร้อมๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนผลผลิตข้าวนาปีซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทะลักออกสู่ตลาดมากที่สุด ชาวนาตั้งความหวังปีนี้จะลืมตาอ้าปากได้

แต่แล้วความหวังต้องพังทลายเมื่อมีข่าวผู้ส่งออก(บางราย)เป็นไอ้โม่งทุบราคาข้าว โดยไปรับราคาล่วงหน้าจากต่างประเทศส่งมอบงวดเดือนธันวาคมต่ำสุดเหลือเพียงตันละ 588 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ข้าวสารหอมมะลิส่งออกเอฟโอบี) ต่ำกว่าราคาตลาดในเดือนตุลาคมที่อยู่ที่ 725 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในประเทศทรุดฮวบเหลือเพียงตันละ 9,000- 1.05 หมื่นบาท/ตัน และข้าวเปลือกเจ้าที่ระดับ 5,000-6,000 บาท/ตันต่ำสุดในรอบ 9 ปี

ความเดือดร้อนของเกษตรกรดังกล่าวนำมาซึ่งการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 หรือโครงการรับจำนำข้าวในยุ้งฉางของเกษตรกร ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 9,500 บาท บวกเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และค่าปรับปรุงคุณภาพตันละ 2,000 บาท และเงินค่าขึ้นยุ้งและเก็บรักษาอีกตันละ 1,500 บาท รวมชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เงินรวม 1.3 หมื่นบาท/ตัน ส่วนข้าวเปลือกเจ้าชนิดอื่นๆ ได้รับเงินช่วยเหลือลดหลั่นกันลงไป

อย่างไรก็ดีความเดือดร้อนของชาวนาได้เกิดกระแสที่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ได้หันมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการเปิดจุดให้ขายข้าวถุงฟรี การช่วยขายผ่านระบบออนไลน์ ทหารและฝ่ายปกครองนำกำลังพลช่วยชาวนาเกี่ยวข้าวเพื่อลดต้นทุน เป็นต้นซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 ยางพุ่ง 80 บาทสูงสุดรอบ 3 ปี

สร้างความดีใจแก่เกษตรกรชาวสวนยางแทบน้ำตาเล็ด เมื่อยางพาราที่เคยราคาตกต่ำเหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาทช่วงปี 2558 ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาประมูลยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลาง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 16 ธ.ค.59) พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี หลายฝ่ายชี้เป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งจากผลผลิตยางของไทยมีน้อย จากปีก่อนหน้านี้มีปัญหาภัยแล้ง ราคายางตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากรีด มาปีนี้ช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 3 ประเทศผู้ผลิต และส่งออกยางรายใหญ่ได้แก่ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียได้มีความร่วมมือลดการส่งออกยางเป้าหมายกว่า 6 แสนตันเพื่อดันราคา ล่าสุดช่วงเดือนปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายพื้นที่ในภาคใต้แหล่งปลูกยางใหญ่สุดของประเทศขณะเดียวกันสต๊อกยางพาราในจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่สุดของโลกมีข่าวเริ่มร่อยหรอ และต้องเร่งนำเข้า

ดูจากเหตุและปัจจัยแวดล้อมแล้ว ราคายางของไทยจากนี้น่าจะเป็นช่วงขาขึ้น หลายฝ่ายเล็งไปถึง100 บาท/กก.ในปีหน้า แต่สถานการณ์ล่าสุดได้ยังมีแนวโน้มที่จะพลิกผัน เมื่อราคายางได้ปรับตัวลดลง( ณ วันที่ 27 ธ.ค.59 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ลดลงเหลือ 72.75 บาท/กก. หรือลดลงจากวันที่ 16 ธ.ค.ถึง 7.54 บาท/กก.) วงการยางชี้สาเหตุหลักจาก 2 ประการ 1. มีพ่อค้าป่วนตลาดทุบราคาเพื่อฟันกำไรในอนาคต และ 2. ผลจากการยางแห่งประเทศไทยหรือ กยท.เตรียมเปิดประมูลขายยางเก่าในสต็อก 3.1 แสนตันทำให้ซัพพลายในตลาดเพิ่ม จากราคายางที่เริ่มรูดลงแสดงให้เห็นถึงทิศทางราคายางในปี 2560 ยังมีความผันผวน

[caption id="attachment_122245" align="aligncenter" width="503"] โดนัลด์ ทรัมป์ โดนัลด์ ทรัมป์[/caption]

 ทรัมป์ล้มทีพีพีไทยดี๊ด๊า

ด้านแวดวงการค้า หนึ่งในเรื่องเด่นคือกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 ได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องที่จะดำเนินการในวันแรกๆ ของการเข้ารับตำแหน่ง (20 ม.ค.60) คือจะประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี ที่สมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่ได้สรุปผลการเจรจาและได้ลงนามความตกลงกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหลือเพียงการให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์เท่านั้น

ไทม์ไลน์การเตรียมประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจากทีพีพีนี้ หากเกิดขึ้นจริง หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนชี้จะทำให้ทีพีพีไม่มีความหมายหากปราศจากสหรัฐฯ และจะส่งผลเชิงบวกต่อประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกทีพีพี เพราะจะช่วยลดความกดดันและลดความเสียเปรียบด้านการแข่งขันของสินค้าไทยกับสินค้าของประเทศสมาชิกทีพีพีทั้งในเรื่องที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากเวียดนาม และมาเลเซียสองคู่แข่งสำคัญจากอาเซียน

tp6-3222-a  ส่งออกไทยลุ้นพลิกบวกรอบ 4 ปี

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภาคการส่งออกของประเทศไทย รายได้หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตรขาลงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน โดยในปี 2556-2558 ติดลบที่ -0.26 ,-0.43 และ-5.76% ตามลำดับ ขณะที่สถานการณ์ในปี 2559 ล่าสุด(26 ธ.ค.59)กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 11 เดือนแรก มีมูลค่า 1.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังติดลบที่ -0.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้จากตัวเลขการส่งออกเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2559 ได้กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 10.2% หรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน สร้างความหวังกระทรวงพาณิชย์หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการส่งออกของรัฐบาลออกมาประกาศว่า ในสิ้นปีนี้ตัวเลขส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวก โดยจะขยายตัวมากกว่า 0% อย่างแน่นอน(ปี 2558 ไทยส่งออกมูลค่า 2.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะตัวเลข 11 เดือนปี 2559 ทำได้แล้วที่ 1.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) ซึ่งหากทำได้จริงจะทุบปากกาเซียน เพราะสำนักพยากรณ์ต่าง ๆในช่วงที่ผ่านมาล้วนฟันธงส่งออกไทยปี 2559 จะติดลบทั้งสิ้น

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากค่าเงินบาทของไทยมีทิศทางอ่อนค่าลงจากผลธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และในปีหน้าก็มีเป้าหมายที่จะปรับขึ้นอีก 2-3 ครั้ง จะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า สวนทางบาทอ่อนส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย ตลาดอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวที่ 2.5-3%

 15 โรงเซ่นจัดระเบียบใหม่นมโรงเรียน

อีกหนึ่งเรื่องเด่นเกี่ยวข้องกับผู้เลี้ยงโคมนม ที่ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้เปิดประเด็นคือ โครงการอาหารเสริม(นมโรงเรียน) เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ผ่านมา 24 ปี ในรอบปี 2559 นับว่าเป็นปีที่มีความเข้มข้นทั้งระเบียบและลงโทษที่รุนแรงที่สุด ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบนโยบายให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้วางกฎเหล็ก กำกับดูแลเรื่องนมโรงเรียน ทั้งสถานที่ผลิต การเก็บรักษา การขนส่ง คุณภาพน้ำนมที่ต้องได้มาตรฐาน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็ก 7.4 ล้านคนดื่มนมมีคุณภาพ

จากความเข้มงวดเรื่องกฎระเบียบที่มีเพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ประกอบการที่ถูกตัดสิทธิเซ่นนมโรงเรียนระบบใหม่ทั้งหมด 13 โรงได้แก่ 1.สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด 2.บริษัท สุราษฎร์เฟรชมิลค์ จำกัด (บจก.) 3.บจก.ทุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ (ศาลคุ้มครองชั่วคราว) 4.บจกทีเอฟเอมเอสฟูดส์ 5.สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด 6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 7.บจก.ส่งเสริมผลิตภัณฑ์นม 8.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น 9. สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด 10.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในภาคเหนือตอนบน 11.บจก. อุดรแดรี่ฟูดส์ 12.บจก.วารินมิลค์ 13.บจก.เทียนขำแดรี่ คอร์ปอเรชั่น ส่วนอีก 2 รายโดนลดสิทธิจำหน่าย 5% ได้แก่ สหกรณ์โคนมขอนแก่นจำกัด จากมีปัญหาเรื่องนมบูด และสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด เรื่องนำผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนไปขายกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 15 ราย ทุบสถิติใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่จะต้องจารึกไว้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559