‘ซีพีเอฟ’ปีไก่เป้า5แสนล้าน ต่อยอดซื้อ‘เบลลิซิโอ’รุกเอเชีย

30 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.
ในรอบปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศไทยถือมีสีสันด้านธุรกิจไม่แพ้ใคร ขณะที่ในปี 2560 ที่กำลังเคลื่อนเข้ามา ทิศทางของซีพีเอฟทั้งในและต่างประเทศจะเป็นอย่างไรนั้น "อดิเรก ศรีประทักษ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ได้เผยถึงประเด็นสำคัญ ๆ ในการสนทนากับสื่อมวลชนในโอกาสเดินทางไปส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ณ จังหวัดลำพูนช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 จบปี 59 รายได้ 4.5 แสนล้าน

"อดิเรก"กล่าวว่า ในรอบปี 2559 คาดยอดรายได้จากการขายของซีพีเอฟจะทำได้ที่ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ราว 12% (จากปี 2558 มียอดรายได้จากการขายรวม 4.39 แสนล้านบาท) โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจในไทย และในอีก 14 ประเทศที่ได้เข้าไปลงทุน (ได้แก่ เบลเยียม กัมพูชา จีน อินเดีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ศรีลังกา ตุรกี ไต้หวัน อังกฤษ เวียดนาม แทนซาเนีย) ครอบคุลมประชากรโลกประมาณ 3,500 ล้านคน

"รายได้ของซีพีเอฟสัดส่วนกว่า 90% จะเป็นการผลิตและขายในประเทศที่เราไปลงทุนเป็นหลักในทั้ง 14 ประเทศโดยเราทำเรื่องส่งออกสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้น ธุรกิจอาหารของซีพีเอฟเชื่อมั่นว่ายังมีศักยภาพในการเติบโต เพราะเป็นอาหารพื้นฐานที่คนบริโภคอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องการอาหารโปรตีน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ กุ้ง ปลา และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและจะทำให้ในแต่ละปีซีพีเอฟจะมีอัตราการขยายตัวของยอดขายไม่น้อยกว่าปีละ 10% และรายได้ในปีหน้า(2560)จะไปถึง 5 แสนล้านบาท อันนั้นคือเป้าหมายของเรา"

 โตจากธุรกิจเดิมควบคู่M&A

อย่างไรก็ดีทิศทางการเติบโตของซีพีเอฟนับจากนี้มี 2 แนวทางควบคู่กัน คือ 1.เน้นการสร้างการเติบโตจากธุรกิจหลักหรือฐานธุรกิจเดิมที่มีอยู่ (organic Growth) ทั้งธุรกิจอาหารสัตว์(Feed) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์(Farm) เช่นฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่เนื้อ ไก่ไข่ ฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลา และธุรกิจอาหาร(Food) โดยแปรรูปเนื้อสัตว์ และผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วโลก และแนวทางที่ 2 การเข้าไปซื้อและควบรวมธุรกิจ(M&A) เพื่อสร้างอัตราการเติบโตของธุรกิจให้เร็วขึ้น

"ไซซ์ธุรกิจของซีพีเอฟเติบโตมาระดับหนึ่งโดยเราสามารถไปซื้อและควบรวมธุรกิจในต่างประเทศได้ จะเห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมาซีพีเอฟได้ทำเรื่องซื้อกับควบรวมธุรกิจมากขึ้น อย่างที่จะจบในปี 2559 เราซื้อกับควบรวมธุรกิจไป 11 รายการ เป็นเรื่องของไก่เนื้อครบวงจรในจีน 3 บริษัท เป็นเรื่องธุรกิจอาหารในจีน 1 บริษัท เป็นเรื่องธุรกิจยากับวัคซีนในจีน 1 บริษัท ขณะเดียวกันเราก็เข้าไปซื้อธุรกิจอาหารในศรีลังกา และยังมีธุรกิจในอังกฤษที่เป็นธุรกิจขายเข้าภัตตาคารและร้านอาหาร เป็นต้น"

 ดีลใหญ่สุดซื้อเบลลิซิโอ

ขณะที่ล่าสุดซีพีเอฟได้เข้าไปซื้อธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยได้เข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ดอิ้งฯ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต และจัดจำหน่ายอาหารทะเลพร้อมรับประทานแช่แข็งที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 1,075 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท โดยการซื้อครั้งนี้ใช้กระแสเงินสดของบริษัท และการซื้อได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการค้า และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯแล้ว (เมื่อ 21 ธ.ค.59)

สำหรับเบลลิซิโอมีโรงงานผลิต 4 แห่งในสหรัฐฯ มีช่องทางการขายในสหรัฐกว่า 5 หมื่นจุด มีแบรนด์สินค้าของตัวเอง และรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำ มีผู้บริหารที่เป็นชาวอเมริกันที่เก่ง และเบลลิซิโอมีศักยภาพในเติบโตและมีโอกาสที่จะผนึกกำลังกับซีพีเอฟที่เก่งในเรื่องอาหารไทย และอาหารสำหรับชาวเอเชียในการขยายไลน์ผลิตอาหารไทยและอาหารคนเอเชีย จำหน่ายให้กับชาวอเมริกัน และชาวเอเชียในสหรัฐฯภายใต้แบรนด์ CP ที่ปัจจุบันแบรนด์ CP ในสหรัฐฯก็มีชื่อเสียงพอสมควรในเรื่องเกี๊ยวกุ้ง และบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง ซึ่งจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารทะเลในสหรัฐฯมีราคาถูกกว่าในไทย ก็มีโอกาสในการผลิตสินค้าในสหรัฐฯและส่งมาจำหน่ายในเอเชียได้ในอนาคต ขณะนี้ซีพีเอฟได้ตั้งทีมทำงานร่วมกับเบลลิซิโอแล้ว

"อีกประเด็นหนึ่งที่ทางซีพีเอฟเรามั่นใจคือว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ทรัมป์ได้เตรียมออกนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 15% เพื่อจูงใจให้ชาวอเมริกันกลับไปลงทุนในประเทศ และแม้กระทั่งคนอเมริกันจะเอาเงินกลับประเทศ เขาก็เก็บภาษีให้น้อยลงเหลือ 10% เป็นต้น ฉะนั้นเราถือว่าค่อนข้างลงทุนได้ถูกที่ถูกเวลา"

 เล็งรายได้อาหาร 25% ใน 5 ปี

"อดิเรก" เผยอีกว่า รายได้ของซีพีเอฟ ณ วันนี้ ยังมาจากธุรกิจต้นน้ำ(อาหารสัตว์) และกลางน้ำ (ฟาร์มเลี้ยงสัตว์) สัดส่วนมากกว่า 80% ส่วนที่เป็นปลายน้ำคืออาหารในปีนี้ยังมีสัดส่วนแค่ 12% แต่หลังจากซื้อเบลลิซิโอแล้ว คาดจะส่งผลให้รายได้จากธุรกิจอาหาร(คน)สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 17% ในปีหน้า และมีเป้าหมายธุรกิจอาหารในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 25%

"ในปีหน้าจะเห็นเราซื้อและควบรวมธุรกิจ หรือทำ M&A ในต่างประเทศมากขึ้น แต่เราจะคำนึงถึงคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่การลงทุนต้องพอประมาณ ไม่เกินตัว จะต้องมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ขณะที่ในแต่ละปีรวมทั้งในปีหน้าทางซีพีเอฟตั้งงบขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศไว้ราว 2 หมื่นล้านบาท ไม่รวมเรื่องการทำM&A"

 ยอดในจีนโตจ่อแซงไทย

สำหรับสัดส่วนรายได้ของซีพีเอฟ 100% ของซีพีเอฟในเวลานี้ ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนรายได้จากการผลิตขายในประเทศ และส่งออกจากไทยสัดส่วน 32-33% ผลิตและขายในจีนสัดส่วนรายได้ 24% และผลิตและขายในเวียดนามสัดส่วนรายได้ 17% ที่เหลือเป็นรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในประเทศอื่นๆ ในอนาคตมองว่าสัดส่วนยอดขายของซีพีเอฟในจีนอาจจะแวงไทยได้ในช่วงเกิน 5 ปีนับจากนี้ เพราะไซซ์ตลาดจีนมีขนาดใหญ่กว่าไทยมาก โดยมีประชากรถึง 1,300 ล้านคน ขณะที่ธุรกิจซีพีเอฟในเวียดนามก็เติบโตดีกว่าในไทย เฉลี่ยยอดขายขยายตัวปีละ 10-15%

"ส่วนธุรกิจในรัสเซียในปีที่ผ่านมาเราซื้อธุรกิจสุกร ธุรกิจไก่เนื้อ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทก็ทำงานให้เราได้เกินเป้า ทั้งยอดขายและกำไรก็ดีทั้งหมด และไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ถือเป็นผลบวกกับการส่งออกสินค้าไก่ของไทย จากไก่ในประเทศเขาต้องฆ่าทิ้ง และที่ผ่านมาไทยก็เป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญนอกจากอเมริกา และบราซิล"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559