การเมืองเด่นปี 2559 รธน.ฉลุย-คุกรมต.-บึ้ม7จังหวัดใต้

29 ธ.ค. 2559 | 01:00 น.
ในรอบปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ในทางการเมือง ได้เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ อันเป็นที่สนใจของประชาชนขึ้น ซึ่งบางเรื่องมีผลต่ออนาคตของประเทศชาติ บางเรื่องมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ ขณะที่บางเรื่องได้มีผลกระทบต่ออนาคตของนักการเมือง ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น

“ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้สรุปเรื่องเด่นๆ ทางการเมือง มานำเสนอ เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าในรอบปีได้เกิดอะไรที่น่าสนใจขึ้นบ้าง

 รธน.ฉบับปราบโกงผ่านประชามติ

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 มีอันต้องล้มคว่ำไม่เป็นท่าไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 จากผลการโหวตไม่รับร่างของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูมีใบสั่งต่อผลโหวตในครั้งนี้

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องตั้ง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ กรธ. ขึ้นมาใหม่ 21 คน มอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มือกฎหมายชั้นเซียน นั่งคุมทัพรับภารกิจครั้งสำคัญนี้ กระทั่งได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับสมบูรณ์ เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นร่างที่ถูกยกให้เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”

กระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่กำหนดให้เป็นวันลงประชามติชี้ชะตาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปรากฏว่า ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แบบถล่มทลาย 15.56 ล้านเสียง คิดเป็น 61.4% ทิ้งห่างจากกลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีจำนวน 9.79 ล้านคน คิดเป็น 38.6% จากผู้มีสิทธิกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ

ขณะที่ประเด็นคำถามพ่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 39/1 วรรค 7 ที่ระบุให้ ส.ว.สรรหามีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภานั้น ผ่านประชามติเห็นชอบด้วยคะแนน 13.96 ล้านเสียงคิดเป็น 58.11 % ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง คิดเป็น 41.89 %

จนนำไปสู่การเดินหน้าเลือกตั้งในปี 2560 ตาม “โรดแมป” ที่วางเอาไว้ ขณะที่ขั้นตอนการยกร่างกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับ ภายใต้การนำของ นายมีชัย ก็ขยับรุดหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะ 4 ฉบับแรก ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อันประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง กรธ.ได้ปรับปรุงร่างเพิ่มเติม เตรียมส่งให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบเร็วๆ นี้

2.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3.พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ4.พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ส่วนอีก 6 ฉบับที่เหลือเป็นกฎหมายที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ประกอบด้วย 5.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 6.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 7.พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 8.พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 9.พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และ10.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“โรดแม็ปเลือกตั้ง” ที่ คสช.วางไว้ว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2560 นี้ จะมี “ปัจจัย” อะไรที่มาเป็นสาเหตุให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
mp38-3222-b
2 อดีตรัฐมนตรีทยอยเข้าคุก

ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีอดีตรัฐมนตรี ต้องทะยอยเข้าคุกกันหลายคน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือกระทำการส่อไปในทางทุจริต

เริ่มจากเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อายุ 72 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายวิทยา เทียนทอง อายุ 75 ปี อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 17

ความเดิมของคดีนี้คือ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2545 จำเลยร่วมกันทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1.31 แสนตัน วงเงิน 367 ล้านบาท โดยอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ว่านายชูชีพ จำเลยที่ 1 เป็น รมว.เกษตรฯ และนายวิทยา จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีเสนอให้จัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจำเลยทั้ง 2 มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอโครงการจัดซื้อปุ๋ย ได้กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และกระทำการส่อไปในทางทุจริต ในการร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เป็นผู้ประมูลได้เพียงรายเดียว

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ มีมติด้วยเสียงข้างมาก พิพากษาว่า นายชูชีพ กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 (ฮั้วประมูล) มาตรา 10, 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนนายวิทยา มีความผิดฐานสนับสนุนนายชูชีพกระทำความผิด จึงให้จำคุกคนละ 6 ปี ฐานทำผิด มาตรา 12 พ.ร.บ.ฮั้วประมูล

ปัจจุบัน นายชูชีพ และนายวิทยา ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ถัดมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์

คดีนี้ ศาลฎีกา เห็นว่า น.พ.สุรพงษ์ มีความผิดฐานทำให้รัฐเสียหาย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ พิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 5 ปี

ขณะนี้ น.พ.สุรพงษ์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559