ความอลหม่านในตลาดรถยนต์เมียนมา

28 ธ.ค. 2559 | 14:00 น.
กระทรวงพาณิชย์เมียนมา สั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ ทุกชนิดในวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปี เพื่อสกัดการนำเข้ารถพวงมาลัยขวามือสองที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสั้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาประกาศในวันที่ 30 กันยายนว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไปรถยนต์นำเข้าทุกคันต้องเป็นรถพวงมาลัยซ้ายเท่านั้น

เดิมรัฐบาลเมียนมาไม่มีนโยบายห้ามนำเข้ารถก่อนที่ข้อบังคับเรื่องรถพวงมาลัยซ้ายจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2560 แต่ปรากฏว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยอดการนำเข้ารถยนต์พวงมาลัยขวาซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถมือสองของญี่ปุ่นทะลักผ่านชายแดนเมียนมามากผิดปกติ

นายมินท์ โช (Myint Cho) โฆษกคณะกรรมการกำกับการนำเข้ายานยนต์ ของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ส ว่า “คนเมียนมาเร่งสะสมรถพวงมาลัยขวากันขนานใหญ่ ซึ่งเท่าที่ผมทราบไม่ใช่เพื่อการใช้งาน ส่วนใหญ่หวังจะทำกำไรจากการขายต่อหลังจากที่การห้ามนำเข้ามีผลใช้บังคับ”

เมียนมาไทม์ส ระบุว่าคำขอนำเข้ารถยนต์ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถที่มีการวิ่งกันอยู่ในท้องถนนทั่วเมียนมาในปัจจุบัน โดยผู้นำเข้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายห้ามนำเข้ารถพวงมาลัยขวาตั้งแต่ต้นปีหน้าทำให้เกิดตลาดมืด ที่บรรดาคนเมียนมาพากันให้เช่าบัตรประชาชนเพื่อนำไปขออนุญาตนำเข้ารถยนต์ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศ ห้ามคนที่จะทำเรื่องขออนุญาตนำเข้ารถยนต์ใช้ชื่อคนอื่นในวันที่ 13 ธันวาคม แต่ยังไม่สามารถหยุดกระแสการเร่งขออนุญาตนำเข้าได้จึงต้องประกาศห้ามนำเข้าโดยสิ้นเชิงในวันที่ 19 ธันวาคมในที่สุด

เมียนมาไทม์ส ระบุว่าภายใต้ระเบียบใหม่ การนำเข้ารถบรรทุก รถเมล์ รถยนต์นั่งตั้งแต่ต้นปี 2560 สำหรับผู้ซื้อที่นำรถคันเก่ามาแลก สามารถซื้อรถที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ได้ แต่ถ้าไม่มีรถคันเก่ามาแลก จะต้องซื้อ รถใหม่ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2558 หรือหลังจากนั้นโดยรถทุกคันต้องเป็นรถพวงมาลัยซ้าย

สื่อในเมียนมารายงานว่า ระเบียบการห้ามนำเข้ารถพวงมาลัยขวาของรัฐ นั้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยคนที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า การห้ามนำเข้ารถพวงมาลัยขวา ทำให้คนเมียนมาต้องซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ราคาแพง เนื่องจากระเบียบดังกล่าวทำให้ไม่สามารถซื้อรถญี่ปุ่นมือสอง ที่มีราคาถูกได้อีกต่อไป

กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับระเบียบใหม่ของรัฐ ให้ความเห็นว่าการห้ามนำเข้ารถพวงมาลัยขวา จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุในระยะยาว เนื่องจากในขณะนี้ระบบการขับรถในเมียนมาเป็นการขับรถชิดขวา เมื่อใช้รถพวงมาลัยขวาจะทำให้เกิดอุบัติได้ง่ายเนื่องจากมองไม่เห็นรถที่สวนมา และการห้ามนำเข้ารถพวงมาลัยขวายังช่วยลดจำนวนรถเก่าผุพังบนท้องถนนของเมียนมาด้วย

ความแปลกประหลาดในเรื่องการใช้รถพวงมาลัยขวากับระบบการขับรถชิดขวาของเมียนมา เกิดจากความผิดพลาดในอดีต โดยเดิมเมียนมาใช้ระบบการขับรถชิดซ้ายตามแบบอังกฤษแต่ หลังจากที่ประเทศได้เอกราชจากอังกฤษ นายพลเนวินได้สั่งให้ขับรถชิดขวา ทั้งที่รถที่วิ่งอยู่บนถนนเป็นรถพวงมาลัยขวาและถนนก็ออกแบบสำหรับพวงมาลัยขวา

การขับรถชิดขวาในอดีตไม่เป็นปัญหามากนักเนื่องจากจำนวนรถยนต์มีน้อย แต่เมื่อเมียนมาเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2554 ก็มีการนำเข้ารถญี่ปุ่นมือสองเข้าประเทศเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นรถพวงมาลัยขวา ทำให้มีรถพวงมาลัยขวาวิ่งบนถนนมากขึ้นและทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง

เมียนมาไทม์ส ระบุว่าตลาดรถยนต์ของนครย่างกุ้งซึ่งเป็นตลาดนำเข้าใหญ่ที่สุดของเมียนมา หยุดการนำเข้าโดยสิ้นเชิงหลังวันที่ 19 ธันวาคม แต่ การนำเข้าที่นครเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ ยังสามารถนำเข้าได้อีก 4 วันโดยจะต้องเป็นผู้นำเข้าที่เปิดบัญชีกับธนาคารของรัฐเพื่อการนำเข้ารถแล้วเท่านั้น

นายทัน มินท์ (Than Myint) รัฐมนตรีพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อในเมียนมาว่า “ถ้าประชาชน (ที่เนปิดอว์) เปิดบัญชีกับแบงก์รัฐเพื่อการนำเข้ารถแล้ว สามารถขอนำเข้ารถพวงมาลัยทั้งซ้ายและขวาได้จนถึงวันที่ 23 ธันวาคมจากนั้นต้องนำเข้ารถพวงมาลัยซ้ายเท่านั้น”

รัฐมนตรีพาณิชย์เมียนมาระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ต้องมีการห้ามนำเข้ารถยนต์ในทันทีเนื่องจาก บรรดาผู้นำเข้ารถยนต์ เห็นว่าค่าเงินจ๊าตกำลังอ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเร่งซื้อรถและรุมซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดเงินเพราะการซื้อขายรถใช้เงินดอลลาร์เท่านั้น กดดันให้ค่าเงินจ๊าตอ่อนลงไปอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์

รัฐบาลวางแผนลดจำนวนรถพวงมาลัยขวา ล่วงหน้าเป็นเวลานานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนและลดอุบัติเหตุ ถึงแม้ว่าจะมีคนคัดค้านว่า รถพวงมาลัยขวายังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพื้นที่ในชนบท ซึ่งรัฐบาลก็เข้าใจว่าการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติเป็นเรื่องไม่ง่ายเพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

นักวิเคราะห์ในเมียนมาระบุว่าการแก้ปัญหาบนท้องถนนของเมียนมาที่มีความบิดเบี้ยวมานานกว่า 40 ปีคงเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่อย่างน้อยก็จะมีการเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2560 นี้เป็นต้นไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559