รับมือก๊าซอ่าวไทยหมด ขอซื้อมาเลเซีย-นำเข้าLNGเพิ่มกระทบค่าไฟพุ่ง

28 ธ.ค. 2559 | 06:00 น.
กกพ.หวั่นนำเข้าแอลเอ็นจีทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน ทำค่าไฟฟ้าในอีก 5 ปีข้างหน้าพุ่งสูงขึ้น ส่งสัญญากระทรวงพลังงานเร่งเดินหน้ากระจายเชื้อเพลิงตามแผนพีดีพี 2015 ขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตั้งแผนรับมือโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาเลื่อนยาว คาดความต้องการใช้ก๊าซพุ่งจากแผนเดิม 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็นกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 860 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ ที่เลื่อนออกจากแผน ขณะเดียวกันกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้ทยอยลดลง ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติปรับเพิ่มปริมาณการใช้แอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นจากเดิม 31 ล้านตัน เป็น 34 ล้านตันในปี 2579

โดย กกพ.มองว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีในปริมาณเพิ่มขึ้น แม้ว่าในระยะ 3-4 ปีข้างหน้าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) แต่คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ค่าเอฟทีปรับสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทาง กกพ. ได้ส่งสัญญาณไปยังกระทรวงพลังงานถึงความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น จะส่งกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไปถึง 67% ส่งผลให้ต้นทุนแพงกว่าเชื้อเพลิงอื่น และมีความผันผวนมากกว่า ทั้งกรณีก๊าซขาดและการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กกพ.ยังไม่ได้คำนวณตัวเลขผลกระทบต่อค่าเอฟทีจากปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องนำมาคำนวณในค่าเอฟทีซึ่งมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงถ่านหิน ดังนั้นทางกระทรวงพลังงานควรเร่งกระจายเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (พีดีพี 2015)

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หากไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน ประกอบกับแผนอนุรักษ์พลังงาน(อีอีพี2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี 2015) เดินหน้าได้เพียง 70% นอกจากนี้คาดว่าโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศ จะลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่ป้อนให้กับโรงแยกก๊าซฯทยอยหมดลง โดยคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าการผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศจะเหลือ 50% เท่านั้น ดังนั้นกรมฯประเมินแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan) ความต้องการใช้ก๊าซฯจะขยับขึ้นจาก 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 5,060 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2579

นอกจากนี้กรมฯคาดว่าปริมาณก๊าซฯในประเทศที่ลดลงในช่วงปี 2564-2565 จากปัจจุบันการผลิตในประเทศที่ 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน(ไม่รวมเจดีเอ) จะเหลือประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหลังจากนั้นจะยืดระยะเวลาการผลิตให้อยู่ในระดับดังกล่าวจนถึงปี 2579 ดังนั้นแผนรวมทั้งหมดจะต้องดำเนินการหลากหลายรูปแบบ อาทิ เจรจากับมาเลเซียเพื่อขอซื้อก๊าซฯจากแหล่งเจดีเอในสัดส่วนของมาเลเซียจากปัจจุบันไทยใช้ก๊าซฯจากแหล่งเจดีเอ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน(สัญญาจะหมดในปี 2570) โดยกรณีที่ไม่สามารถประมูลแหล่งก๊าซฯบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ได้ตามแผนอาจจะต้องเจรจาซื้อก๊าซฯเจดีเอจากมาเลเซียระยะสั้น 1 ปีหรือปี 2565 ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

รวมทั้งเตรียมแผนเพื่อเจรจากับเมียนมา ว่าจะสามารถยืดกำลังการผลิตในแหล่งยาดานาและเยตากุนไปจนถึงปี 2570 ได้อย่างไร จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,100ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งแหล่งเยาตากุนจะหมดในอีก 4-5 ปีข้างหน้า แต่นโยบายของเมียนมาต้องการเก็บก๊าซไว้ใช้เองในประเทศ ดังนั้นจึงต้องเร่งโครงการคลังแอลเอ็นจีที่เมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ให้เร็วขึ้นก่อนปี 2570

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25 -28 ธันวาคม 2559