ทุนใหญ่แห่ผุดโรงเรียนหรู ซีพีทุ่ม500ล.ชนอัสสัมฯ-SISB‘เตชะอุบล’ดึงร.ร.ดังผู้ดีมาไทย

27 ธ.ค. 2559 | 06:00 น.
ทุนยักษ์แห่ผุดโรงเรียนทางเลือก ทุ่มงบยกระดับหลักสูตร จับกลุ่มผู้ปกครองใจถึงยอมควักค่าเทอมหลักแสนตั้งแต่อนุบาลยันมัธยม ล่าสุด"เครือซีพี"อัดงบกว่า 500 ล้าน ผุดโรงเรียนสาธิต ซินเนอร์ยี่ PIM เสริมแกร่ง ธรรมวัฒนะ" เทพันล้านปักหมุด“เพ็ญสมิทธ์” พลิกหลักสูตร IP สู้ศึก

พฤติกรรมผู้ปกครองยุคใหม่ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนชื่อดังเร่งปรับตัวก้าวข้ามเข้าสู่ โรงเรียนทางเลือก ทั้งหลักสูตร EP , IP และโรงเรียนนานาชาติ แม้จะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงหลักแสนบาทต่อปี แต่ยังพร้อมใจจ่าย ทำให้มีนักธุรกิจพาเหรดทุ่มเงินก้อนโตปักหมุดโรงเรียนใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แม้จะคืนทุนช้า สวนทางกับโรงเรียนดั้งเดิมที่ไม่สามารถต้านกระแสสังคม ต้องปิดตัวลงไปกว่า 900 แห่ง

นายพิชิต ฤทธิ์จรูญ คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้บริหารโรงเรียนสาธิตแห่งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (SATIT PIM) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเพื่อตอบรับความต้องการของผู้ปกครองยุคนี้ โรงเรียนทุ่มงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาทในการซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารเรียนแห่งใหม่บนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ บริเวณด้านหลักสถาบัน พร้อมเชื่อมต่อกันเพื่อใช้สาธารณูปโภคอื่นๆ ร่วมกัน เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา ฯลฯ ซึ่งจะทำให้มีความพร้อมมากขึ้น นอกจากนี้ในอนาคตยังมีแผนขยายที่ดินออกไปเพื่อพัฒนาให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

"ต้องยอมรับว่าผู้ปกครองยุคนี้พิถีพิถันในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานมากขึ้น ส่งผลให้โรงเรียนต้องปรับตัวและแข่งขันเพื่อให้ตรงกับความต้องการ จนเกิดเป็นโรงเรียนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนอินเตอร์ฯ โรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Program : EP) โรงเรียน (Intensive Program : IP) โรงเรียนสองภาษา (Bilingual) เป็นต้น"

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการเองก็เห็นถึงความต้องการ จึงสนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ พัฒนาหลักสูตรรองรับ ทำให้ในแต่ละปีมีโรงเรียนทางเลือกใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่บางแห่งที่ไม่มีผู้สานงานต่อ หรือไม่สามารถปรับตัวหรือแข่งขันได้ ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการลดไซซ์โรงเรียนเหลือเพียงอนุบาล ขายกิจการต่อ หรือปิดกิจการไปก็มี

สำหรับโรงเรียนสาธิตแห่งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์พร้อมเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในระดับมัธยมศึกษาหลักสูตร IP ในปีการศึกษา 2560 หลังจากที่เปิดแนะนำโรงเรียน (โอเพนเฮาส์) และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีนักเรียนทยอยสมัครเข้าเรียนจำนวน 5 ห้องจากที่เปิดรับสมัครทั้งหมด 7 ห้อง โดยมีค่าใช้จ่าย 6 หมื่นบาทต่อเทอม หรือ 1.2 แสนบาทต่อปี
TP01-3221-B
 ทุ่มพันล้านผุด TIS ย่านปทุมธานี

นางมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ผู้ร่วมก่อตั้ง "ไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล" (Thai International School : TIS) โรงเรียนนานาชาติน้องใหม่ย่านปทุมธานี ที่ใช้งบลงทุน 5 ปีกว่า 1,000 ล้านบาท และจะเปิดสอนในเฟสแรกระดับเตรียมอนุบาล ในเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ใน 10 ปี กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่ในระดับกลางขึ้นไป ต้องการหาโรงเรียนดีๆ ให้กับบุตรหลานโดยยอมจ่ายเงินค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต ขณะเดียวกันก็พบว่าโรงเรียนต่างเร่งพัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อรองรับ

"ผู้ปกครองที่เลือกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ จะพิจารณาแล้วว่าด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 5 แสนบาท – 1 ล้านบาทต่อปี คุ้มกว่าการส่งไปเรียนต่อต่างประเทศที่ต้องใช้จ่าย 2-3 ล้านบาทต่อปี ขณะที่คุณภาพของโรงเรียนมีการพัฒนายิ่งขึ้น โดยบางแห่งมีการพัฒนาเป็นหลักสูตร EP หรือIP ซึ่งเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง"

 ครอบครัวยุคใหม่ มีลูกน้อย

อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแนวโน้มจะไม่เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมครอบครัวรุ่นใหม่ที่มีบุตรน้อยลง ขณะที่โรงเรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มใหม่ๆ ทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมต้องเร่งปรับตัว และพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการ

โดยนางสาวพริ้มรส มารีประสิทธิ์ ผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนเพ็ญสมิทธ์ กล่าวว่า หลังต้องเผชิญกับความต้องการของผู้ปกครองที่หันมาสนใจในหลักสูตร EP มากขึ้นทำให้โรงเรียนต้องปรับตัวด้วยการหันไปพัฒนาหลักสูตร IP ขึ้นมารองรับ พร้อมกับเริ่มใช้หลักสูตร IP เมื่อ 3 ปีก่อน รวมถึงในระดับเตรียมอนุบาล ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การแข่งขันพัฒนาหลักสูตรต้องใช้งบประมาณที่สูง เพื่อเป็นไปตามข้อบังคับของกระทรวงที่วางไว้ เช่น ครูผู้สอนต้องเป็นชาวต่างชาติ และสอนด้วยภาษาอังกฤษในวิชาที่กำหนด เป็นต้น ทำให้แต่ละโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าเล่าเรียนจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

"หลักสูตร IP จะมีค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าปกติ 1-2 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งผู้ปกครองที่มีฐานะ ต้องการให้ลูกเก่งภาษา ต้องการส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ยอมที่จะเสียเงินมากขึ้น ทั้งนี้พบว่าโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯในปัจจุบันกว่า 80% มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรไปแล้ว เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เพราะต้องกล้าเสี่ยงที่จะทำ หากไม่ทำ หรือทำไม่ได้ ก็จะไม่สามารถอยู่ต่อได้"

 ตีกรอบ EP คุมเข้มมาตรฐาน

นางสาวพริ้มรส กล่าวอีกว่า เด็กที่เรียนในหลักสูตร EP หรือ IEP ยังมีโอกาสเข้าศึกษาต่อทั้งในมหาวิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนจำนวนมาก ขณะที่มีผู้สมัครเข้าเรียนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเรียนในมหาวิทยาลัยปกติ โอกาสในการสอบเข้าได้มีมากกว่า นอกจากนี้ยังสามารถไปเรียนต่อไปมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ทันที เพราะมีความพร้อมในด้านภาษา

สำหรับโรงเรียนหลักสูตร EP จะมีข้อกำหนดที่เข้มข้นกว่า โรงเรียน IP หรือ ไบลิงกัว เช่น ข้อกำหนดเรื่องครูผู้สอนซึ่งต้องมาจาก 5 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งจะมีเงินเดือน 5 – 6 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน และวิชาหลัก เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ขณะที่โรงเรียนทางเลือกอื่น ยังเปิดกว้างสำหรับครูผู้สอน ที่สามารถใช้ชาวต่างชาติที่มีทักษะด้านภาษาดี เช่น ครูจากเมียนมา , ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งจะมีเงินเดือน 2-3 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน

แหล่งข่าวจากโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งกล่าวว่า นอกจากการแข่งขันเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร เป็น EP หรือ IP แล้ว ยังพบว่า การเพิ่มทางเลือกด้านภาษา เช่น การเปิดการเรียนการสอนในภาษาที่ 3 อาทิ ภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน ฯลฯ ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับโรงเรียนนั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับโรงเรียนด้วย เพราะสามารถเรียนเก็บค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย

งบประมาณที่โรงเรียนแต่ละแห่งได้รับการจัดสรรลงมา ไม่เพียงพอแก่การใช้จ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อยกระดับ และเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ที่หากไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องปิดกิจการไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนของเอกชน ขณะที่ในต่างจังหวัดโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนของภาครัฐ เปิดสอนใกล้กัน เมื่อจำนวนนักเรียนมีน้อย ก็ยังคงเปิดสอนอยู่ จะไม่ยอมให้เกิดการยุบรวม เพราะผู้บริหารโรงเรียนจะต้องถูกโยกย้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25 -28 ธันวาคม 2559