‘อุตตม’ดันลงทุน1ล้านล้าน ‘อีอีซี-ไบโออีโคโนมี’เรือธง

27 ธ.ค. 2559 | 08:00 น.
“อุตตม”เครื่องร้อน สั่งกระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลงทุนให้เป็นรูปธรรม เสนอ”ประยุทธ์”ภายใน ก.พ.ปีหน้า หวังดันเม็ดเงินลงทุนลงพื้นที่อีอีซี และปลุกไบโออีโคโนมีให้เกิดได้ภายใน 5 ปี เงินลงทุนราว 1 ล้านล้านบาท สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งว่า ได้สั่งการไปยังผู้บริหารของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการลงในรายละเอียดถึงความชัดเจน และเป็นรูปธรรม ที่จะดำเนินงานในปี 2560 โดยให้ยึดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี ที่ผ่านมาการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรม สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งแผนปฏิบัติการนี้ จะต้องรวบรวมและนำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และครม.ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ทั้งนี้ การจัดทำแผนดังกล่าว จะทำให้ทราบว่าแต่ละหน่วยงาน มีรายละเอียด เป้าหมาย และกรอบเวลา การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ที่จะใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในปี 2560 เป็นอย่างไร เพื่อเป็นการวางฐานหรือแนวทางการดำเนินงานไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไปได้

โดยเฉพาะความชัดเจนด้านการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีแนวทางที่ชัดเจน ในการผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคณะทำงานด้านนี้ จัดทำแผนขึ้นมาแล้ว ในการกำหนดประเทศ กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย และเม็ดเงินลงทุน ที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะผลักดันให้เกิดผลปฏิบัติจริงในปีหน้าได้อย่างไรโดยเฉพาะช่วงระหว่างรอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ราวต้นปีหน้าหรือช้าสุดไม่เกินกลางปีหน้านั้น จะมีกลไกอะไรที่ชัดเจนหรือเป็นเป็นรูปธรรมมาใช้ขับเคลื่อนได้บ้าง เพื่อใช้เป็นแนวทางให้เกิดการลงทุนในระยะต่อไปในช่วง 5 ปี

“การขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ระหว่างรอพ.ร.บ.นั้น สิ่งไหนที่ดำเนินการได้ก่อน ก็ดำเนินการไป อย่างการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่จะชักชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้มาลงทุน ก็สามารถดำเนินการได้เลย เวลานี้ก็มีนักลงทุนรายใหญ่สนใจ แต่จะให้ดีจะต้องเป็นชักชวนนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลก ซึ่งตรงนี้จะต้องมีกลไก หรือการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถติดตามได้ และการลงทุน 5 แสนล้านบาท จะเกิดได้จะต้องฟังว่านักลงทุนอยากได้อะไร นำมาจัดทำให้เป็นรูปธรรมออกมาให้เห็น”

นายอุตตม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สิ่งที่จะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้ จะเป็นเรื่องของไบโออีโคโนมี เพราะถือเป็น 1 ใน กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่นำเอาพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ไบโอพลาสติก อาหารเสริม เคมีภัณฑ์ใหม่ๆ บรรจุภัณฑ์ ในส่วนนี้ก็ต้องไปจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนออกมา

โดยในส่วนนี้เบื้องต้นก็ได้มีการหารือกับนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี ในฐานะประธานคณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และนายสุวิทย์เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีความก้าวหน้าและพร้อมที่จะขับเคลื่อนได้ในปีหน้า ซึ่งในวันที่ 23 มกราคม 2560 ทางคณะทำงานย่อยด้านไบโออีโคโนมี ภายใต้คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคต่างๆ ที่ประกอบด้วยภาคเอกชน 13 บริษัท และสถาบันการศึกษา 27 แห่ง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะนำไปสู่การดำเนินงานตามโรดแมปที่วางไว้ ที่จะเข้าไปศึกษารายละเอียดรูปแบบการลงทุน เจาะลึกในแต่ละโครงการที่จะลงทุน ซึ่งเท่าที่ได้รับแจ้งมา มีการตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนการลงทุนนี้ไว้สูงกว่า 4 แสนล้านบาท

อีกทั้ง นโยบายการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนธันวาคมนี้นั้น ในส่วนนี้ ก็จะต้องไปหารือกับบีโอไอว่า จะดำเนินการขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการส่งเสริมการลงทุน เพราะเท่าที่ทราบมีนักลงทุนสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ติดปัญหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตรงส่วนนี้ก็ต้องไปเจรจากับนักลงทุนว่าจะดึงสถาบันการศึกษาเข้าร่วมอย่างไร เชื่อว่าหากขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ได้น่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอีก

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับกรอบการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะยังคงเป้าหมายในการดึงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้ได้ 5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี ที่จะประกอบไปด้วย การลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมการบิน เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เงินลงทุน 2.6 แสนล้านบาท เป็นต้น

ด้านนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ หัวหน้าคณะทำงานย่อยด้านไบโออีโคโนมี ภายใต้คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี เป็นประธาน กล่าวว่า ในวันที่ 23 มกราคม 2560 ทางคณะทำงานฯจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคต่างๆ โดยจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ มาเป็นประธาน โดยการลงนามดังกล่าว จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเป็นผู้ลงนามเอ็มโอยูด้วย ขณะที่ภาคเอกชนประกอบไปด้วย บริษัทเอกชนกว่า 13 ราย เช่น กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลุ่มเอสซีจี กลุ่มมิตรผล และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ KTIS เป็นต้น ที่เห็นโอกาสด้านการลงทุน รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอีก 27 แห่ง ที่จะนำผลงานวิจัยต่างๆ มาช่วยต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงานใน 1 ปี และมีการตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะมีการลงทุนในช่วง 5 ปีไว้ราว 4 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25 -28 ธันวาคม 2559