รัฐเร่งประมงใช้สินเชื่อเปลี่ยนอาชีพ เซ็งคมนาคมดองข้อบังคับนายท้าย

27 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.
“ประวิตร” อุ้มประมง ขยายสินเชื่อเปลี่ยนอาชีพใหม่ หลังโดนหางเลขจัดระเบียบอียู ล่าสุดโดดร่วมแล้ว 129 ราย เชิญชวนเร่งแจ้งเรื่องแบงก์ออมสินภายใน 30 เม.ย. 60 ด้านประมงพาณิชย์เซ็งกระทรวงคมนาคม 7 เดือนอืด ร่างข้อบังคับใบนายท้าย อินเนียร์ฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ เตรียมร้อง “ประยุทธ์” ช่วย

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 8 มีนาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือตามโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง "ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล" จำนวน 500 ล้านบาท ตามเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูป คณะที่ 5

ล่าสุด พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงตามโครงการประมงไทยก้าวไกลสู่สากลนั้นวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย กรณีที่ต้องการปรับปรุงเรือประมงและ/หรือ เปลี่ยนเครื่องมือทำการประมง เรือประมง ให้ถูกกฎหมาย ตามมาตรการแก้ไขปัญหาของ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กรมประมง และกรมเจ้าท่า เป็นผู้รับรองความเหมาะสมด้านราคา ตามลำดับ

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมงจำนวนมากที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสินเชื่อ แต่มีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อเปลี่ยนอาชีพ โดยเฉพาะชาวประมงที่ทำประมงโพงพาง ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอท่าใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบประกอบด้วย ศปมผ. ฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) กรมเจ้าท่า และกรมประมง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าชาวประมงส่วนใหญ่จะขอเปลี่ยนอาชีพ เป็นการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงน้ำในกระชัง การเลี้ยงสัตว์ ทางการเกษตร เช่น วัว แพะ ไก่ไข่ หมู ฯลฯ การแปรรูปสัตว์น้ำ เช่น ปลาเค็ม ปลาหมึกตากแห้ง ฯลฯ

ซึ่งมติ ครม.เดิม ยังไม่ครอบคลุมกรณีชาวประมงจะขอเปลี่ยนอาชีพ ล่าสุดได้เสนอให้ครม.พิจารณาเพิ่มใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (วันที่ 24 พ.ย.59) จึงขอให้ชาวประมงมาแจ้งความประสงค์กับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2560

พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการอนุมัติสินเชื่อแก่ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว จำนวน 129 ราย วงเงินกู้ 148 ล้านบาท ยังคงเหลือ 352ล้านบาท (จากมติครม. ที่อนุมัติสินเชื่อ 500 ล้านบาท) ซึ่งยังสามารถดำเนินการได้และพร้อมสนับสนุน เป็นดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือชาวประมง ที่โดนผลกระทบในการจัดระเบียบประมงใหม่ เพื่อสู่ผลดีการทะเลไทยในอนาคต

ขณะที่นายนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยว่า ทางสมาคมจะทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้า (ร่าง) ข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งผู้ทำการในเรือที่ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถสำหรับเรือประมง พ.ศ. 2559 (ใบนายท้ายอินเนียร์) ที่กรมเจ้าท่า ร่วมกับสมาคมได้เห็นพ้องกันว่าให้มีการแก้ไข ปรับปรุงใหม่ เพราะไม่สามารถหาคนไทยมาทำงานในตำแหน่งที่กำหนดได้ตามกฎหมายปัจจุบัน

กล่าวคือ เดิมบังคับให้มีคนไทย 2 คน แต่แก้ไขใหม่ ให้มีคนไทยเพียงคนเดียวได้ ซึ่งผ่านมา 7 เดือนแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายของกระทรวงคมนาคม มองว่านานเกินไป จึงได้ทำหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อทวงถามไปแล้วแต่ยังไร้คำตอบ จึงตัดสินใจว่าในเร็วๆนี้จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยผลักดันต่อไป เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อเรือประมงกว่าหมื่นลำ หากร่างแก้ไขกฎหมายนี้ประกาศบังคับใช้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25 -28 ธันวาคม 2559