พัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานฯสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เชื่อมการค้าไทย-ลาว-เมียนมา-จีน

26 ธ.ค. 2559 | 11:00 น.
ถ้าเอ่ยถึงคำว่า "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" จะต้องคิดถึงเชียงราย และเชื่อว่าย่อมมีคนอยากรู้ว่ามีแรกเริ่มเดิมทีเป็นอย่างไร นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก อุตรดิตถ์)จะมาบอกกล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของโครงการนี้

  ปฐมบท เปิดน้ำโขง ค้ากับจีน

โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เริ่มต้นที่รัฐบาลของ 4 ชาติคือ จีน ลาว เมียนมา และไทยได้เห็นพ้องต้องกันให้มีการพัฒนาการขนส่งทางแม่น้ำโขง เพื่อสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน จึงได้ริเริ่มความร่วมมือในการพัฒนาการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงในปี 2535 และจัดให้มีการสำรวจการขนส่งทางแม่น้ำโขงตอนบนร่วมกันในปี 2536 โดยได้ข้อสรุปว่าหากมีการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำโขงอย่างเป็นขั้นตอน (stage) ก็จะสามารถรองรับการเดินเรือขนาด 300-500 เมตริกตัน ได้เกือบตลอดปี รัฐมนตรีคมนาคมของประเทศทั้งสี่ จึงได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 ณ ท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมา

ข้อตกลงดังกล่าวนี้ให้มีท่าเรือ 14 แห่ง ซึ่งอยู่ในมณฑลยูนนาน ของจีน 4ท่าคือท่าเรือซือเหมา, เชียงรุ่ง(จิ่งหง), เหมิ่งหาน และท่าเรือกวนเหล่ย อยู่ใน สปป.ลาว 6ท่า คือท่าเรือบ้านทราย, เชียงกก, เมืองมอม, บ้านคูน, ห้วยทราย, และท่าเรือหลวงพระบาง อยู่ในเมียนมา 2ท่า คือท่าเรือบ้านเส็งและบ้านโป่ง และอยู่ในประเทศไทย 2 ท่าคือท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ท่าเรือที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้าเป็นหลัก คือท่าเรือเชียงแสนกับท่าเรือกวนเหล่ย ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังไป 5 ปี พบว่าในปีงบประมาณ 2554 มูลค่าการค้าชายแดนผ่านศุลกากรเชียงแสน มีมูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่พอมาถึงปีงบประมาณ 2558 มูลค่าการค้าได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.4 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงมากขึ้นได้อีก

อนาคตของการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขง กำลังถูกจับตามอง หลังท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ท่าเรือเชียงแสน2) ได้สร้างแล้วเสร็จและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนท่าเรือกวนเหล่ยของจีน ได้มีการพัฒนายกระดับมากขึ้น จนท่าเรือทั้ง 2แห่งสามารถที่จะเปิดให้บริการการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ได้ ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำโขงความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล

  สะพานข้ามโขง เติมเต็ม R3A

ถนนเส้นทาง R3A ย่อมาจาก R=Road(ถนน), 3= ไทย จีน และ ลาว A=Asia เส้นทางหมายเลข 3A(R3A) เป็นเส้นทางสายไหมเชื่อมโยง จีน-ลาว-ไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 ภายใต้โครงการ " สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2551ต้นทางเริ่มจากเชียงของ ประเทศไทย-บ่อแก้ว-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น ของ สปป.ลาว-บ่อหาน(โมฮาน)-เชียงรุ่งหรือจิ่งหง-คุนหมิงมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีระยะทางจากกรุงเทพถึงคุนหมิงรวมแล้วกว่า 1,800 กิโลเมตร นอกจากนี้ ไทยและจีนยังได้ร่วมมือกันก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย โดยมีวงเงินก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาท

หลังเปิดแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า ปัญหาที่พบก็คือในช่วงแล้ง ระดับน้ำมีปัญหา ไม่สามารถเดินเรือบรรทุกสินค้าได้ จังหวัดเชียงรายและหอการค้าจังหวัดเชียงราย จึงได้ผลักดันให้มีการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน เพื่อเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าอีกทางหนึ่ง ประกอบกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region:GMS) ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอินโดจีน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) อันเป็นการนำมาซึ่งประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้กับกลุ่มประเทศที่อยู่บนเส้นทาง นอกจาก R3A แล้ว หากยังมองเห็นว่า ถ้าสามารถเดินทางเป็นวงกลม ไทย-ลาว-จีน-เมียนมา-ไทย ได้ก็จะเป็นการดี เส้นทาง R3B เชียงราย-แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-สิบสองปันนา จึงได้เกิดขึ้นมา

 ลุ้นจีนเปิดด่านเมืองลา-ต้าลั้ว

การเดินทางเป็นวงกลม ไทย-ลาว-จีน-เมียนมา-ไทย แม้ว่าจะเคยทำได้ แต่ว่า ณ วันนี้ ทางการจีนไม่ได้เปิดด่านเมืองลา-ต้าลั้ว ให้มีการขนถ่ายสินค้าหรือการเดินทางข้ามไปมาของบุคคลจากประเทศที่ 3 (ไม่ใช่ชาวจีนและชาวเมียนมา) ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่ว่าภาครัฐและภาคเอกชนของเชียงราย ได้พยายามที่จะผลักดันในเรื่องนี้ ด้วยการใช้ความสัมพันธ์อันดีกับหอการค้าท่าขี้เหล็กและหอการค้าเชียงตุง เข้าไปผลักดันให้เกิดการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างเมียนมา-จีน หรืออาจจะเป็นการเจรจาไตรภาคี เมียนมา-จีน และไทย

ผมมีความเชื่อมั่นว่าความหวังความฝันของภาคเอกชนเชียงรายในเรื่องนี้ น่าจะมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองของเมียนมาเองก็พัฒนาสู่ประชาธิปไตยแล้ว อนาคตเมียนมาคงต้องเปิดกว้างทางการค้า การลงทุนมากยิ่งขึ้น การเจรจาการเมืองกับทางการจีน เพื่อให้จีนเข้ามาช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจกับเมียนมา อาจจะนำมาสู้การเปิดด่านเมืองลา-ต้าลั้วก็ได้ การเปิดด่านเมืองลา-ต้าลั้ว ให้มีการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3B จะเป็นการเติมเต็มให้ความเป็นสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25-28 ธันวาคม 2559