เมียนมาลุยติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์

24 ธ.ค. 2559 | 07:00 น.
เมียนมาปิดประเทศมานานนับทศวรรษสมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซ้ำระหว่างนั้นยังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศทำให้ขาดแคลนทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าซึ่งยังคงเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าภายหลังการเปิดประเทศและรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาจะเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลมาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในเมียนมาเป็นจำนวนมาก ทั้งจากญี่ปุ่น จีน และประเทศตะวันตก แต่ปัจจุบันครัวเรือนในเขตชนบทของเมียนมาที่มีกระแสไฟฟ้าใช้ก็ยังคงมีสัดส่วนเพียง 16% เท่านั้นเนื่องจากเครือข่ายระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางยังขยายไปไม่ทั่วถึง ทำให้เป็นโอกาสสำหรับพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่ต้องเชื่อมโยงเครือข่ายระบบไฟฟ้าของส่วนกลาง (off-grid solar energy) ที่จะเจาะเข้าไปยังหมู่บ้านต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมียนมากับบริษัทเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงชุมชนต่างๆทั่วประเทศเมียนมาภายในปีค.ศ. 2030 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า

mp30-322007 แนวโน้มการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผลิตขนาดเล็กเพื่อสนองความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในชุมชนกำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เสริมช่องโหว่ที่หน่วยงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของรัฐบาลเมียนมายังเข้าไปไม่ถึง และเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง

ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ที่ใช้ในระดับชุมชนสามารถให้กระแสไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการให้แสงสว่างในครัวเรือนและใช้หล่อเลี้ยงระบบชลประทานในหมู่บ้าน(อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องฉุดระหัดวิดน้ำ) ยกตัวอย่างโครงการของบริษัท เมียนมา อีโคโซลูชั่นส์ฯ ที่เข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบแพลอยน้ำเพื่อการชลประทานในหมู่บ้านแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี แพโซลาร์เซลล์ดังกล่าวสามารถลอยตัวล่องไปตามแม่น้ำเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับหลายหมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำ โครงการนี้สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองจากการเก็บเงินจำนวนไม่มากนักจากเกษตรกรภายในพื้นที่ เจ้าหน้าที่โครงการเปิดเผยว่า แพโซลาร์เซลล์ใช้เงินลงทุนประมาณชุดละ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.14 แสนบาท) คาดว่าจะสามารถหารายได้คืนทุนภายในเวลา 2 ปี

mp30-322006 อีกโครงการที่เข้าถึงหมู่บ้านในเขตชนบทของเมียนมาได้ถึง 11 หมู่บ้านแล้วเป็นความริเริ่มของบริษัท ซันละบบฯ (Sunlabob) ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลาร์เซลล์จากประเทศลาว แม้จะเป็นระบบผลิตขนาดเล็กแต่ก็เพียงพอที่จะผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับครัวเรือนโดยให้ทั้งแสงสว่างและเพียงพอสำหรับการชาร์จไฟอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น โทรทัศน์ขนาดเล็ก หม้อหุงข้าว รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ

ผู้บริหารของซันละบบในเมียนมาให้ความเห็นว่า ระบบโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนยังมีราคาแพงเกินไปสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้นรายได้หลักๆของผู้ติดตั้งระบบจะมาจากการติดตั้งระบบให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ เพราะเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายกันแล้ว การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองในองค์กร ก็นับว่าประหยัดเงินกว่าการใช้ไฟฟ้าจากเครือข่ายการไฟฟ้าของรัฐบาลซึ่งนอกจากกำลังไฟไม่เสถียรแล้ว ยังต้องเปลืองกับการลงทุนซื้อเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลมาเป็นแหล่งพลังงานสำรองด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,220 วันที่ 22-24 ธันวาคม 2559