สนามแข่งขัน GEMBA Challenge พัฒนาวิชาชีพช่าง ยูดี ทรัคส์

24 ธ.ค. 2559 | 06:00 น.

รูปแบบการพัฒนาบุคลากรของแต่ละองค์กร ส่วนใหญ่ก็คือการจับพนักงานเข้าห้องอบรม หรือฝึกหน้างาน เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้จากของจริง แต่การฝึกฝนพัฒนาทักษะพนักงาน ยังมีได้อีกหลายวิธี ซึ่ง ยูดี ทรัคส์ (ประเทศไทย) เลือกการส่งพนักงานเข้าสนามการแข่งขัน GEMBA Challenge ซึ่งเป็นสนามระดับประเทศ เป็นเวทีให้ทีมงานช่างผู้ให้บริการหลังการขาย ได้ฝึกจริง แข่งจริง ในระดับสากล

mp32-322002 "ลัดดาวรรณ ชาญพิทยานุกูลกิจ" ผู้จัดการทั่วไป ยูดี ทรัคส์ (ประเทศไทย) ประจำภูมิภาคภาคกลางและภาคเหนือ ในฐานะหัวหน้าคณะทีมไทยในการแข่งขันครั้งนี้ เล่าว่า การพัฒนาความรู้ความสามารถ เป็นหัวใจหลักในการสร้างคนของยูดี ทรัคส์ และ GEMBA Challenge ก็เป็นเวทีการเรียนรู้บนการแข่งขัน ที่ทำให้ทีมช่างได้สัมผัสการทำงานจริง แก้ปัญหาจริงตามโจทย์ที่ได้มา ซึ่งการแข่งขันนี้ ทำให้ทีมงานได้สนุกกับการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน โดยที่ทีมช่างจะได้รู้ด้วยว่า ตัวเองต้องซ่อมหรือบริการลูกค้าอย่างไร ให้บริการลูกค้าอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพและราบรื่นมากขึ้น นี่เป็นหัวใจหลักของกิจกรรม

mp32-322005 "เราจัดแข่งขันทุกดีลเลอร์ทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกให้เหลือทีมสุดท้าย เพื่อไปแข่งรอบชิงชนะเลิศที่ญี่ปุ่น การแข่งขันทำให้เกิดความท้าทาย ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ และเช็กความคิดเห็น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถือเป็นเสน่ห์ของการเรียนรู้ที่สนุก และเมื่อได้เป็นทีมผู้ชนะ ก็จะเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจ และเมื่อคนอื่นเห็นตัวอย่าง ก็อยากพัฒนาศักยภาพตัวเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง"

mp32-322004 สำหรับการแข่งขันปีนี้ ถือเป็นปีแรกของทีมจากประเทศไทย แต่เป็นปีที่ 2 ของการจัดการแข่งขัน ทีมที่เข้าแข่งขันมีทั้งหมด 289 ทีม และเหลือ 11 ทีม ที่ได้เข้าสู่รอบสุดท้ายที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีม Lobster จากประเทศไทย สาขาอยุธยา ได้คว้ารางวัลที่ 3 มาครอง โดยมีทีม KerakTelor จากประเทศอินโดนีเซียเป็นทีมชนะเลิศ ทีมอันดับ 2 ได้แก่ ทีม POSO จากประเทศญี่ปุ่น

mp32-322006 "บุญทัยโคตรมณี " หัวหน้าทีม Lobster บอกว่า การแข่งขันครั้งนี้ ทำให้ทีมของพวกเขาได้เรียนรู้ข้อบกพร่องของตัวเองระวห่างการแข่งขัน ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ถือเป็นครูที่ดี ที่พวกเขาจะไม่กลับมาผิดซ้ำอีก และเมื่อกลับมาประเทศไทย พวกเขาจะแบ่งปันประสบการณ์ ความประทับใจ รวมไปถึงความรู้ เทคนิค และอื่น ๆ อีกมากมายให้แก่เพื่อนร่วมงาน ทั้งในสาขาและนอกสาขา

mp32-322003 นอกจากสนามการแข่งขัน ที่เป็นสนามฝึกฝีมือชั้นดี ทีมช่างของ ยูดี ทรัคส์ ยังมีการพัฒนาตามระดับของช่าง ซึ่งเป็นไปตามทักษะและความรู้ความสามารถ โดยช่างทุกระดับจะผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและฝีมือ มีหลักสูตรชัดเจนว่า ต้องทำงานกับบริษัทกี่ปีจึงจะสามารถก้าวไปสู่ระดับถัดไปได้ เพื่อมั่นใจว่างานที่ส่งมอบให้กับลูกค้านั้นได้คุณภาพจริงๆ โดยระดับเริ่มต้นคือ ผู้ช่วยช่าง 1 ไปจนถึงระดับ สูงสุด ใช้เวลา 6-7 ปี กว่าจะครบหลักสูตรของช่าง ดังนั้น ทุกคนก็จะรู้ว่าตัวเองอยู่ในระดับไหน และขั้นต่อไปคืออะไร เมื่อเห็นอนาคต ก็จะเกิดแรงจูงใจในการทำงาน ก็จะรักและภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,220 วันที่ 22-24 ธันวาคม 2559