‘คีรี’เล็งเชื่อมเมืองทอง รถไฟฟ้า2เส้นทางบริการผู้อยู่อาศัยกว่าแสนคน

19 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“คีรี” เปิดกลยุทธ์รุกระบบราง ดึงพันธมิตรร่วมลงทุนและยื่นข้อเสนอพิเศษทางธุรกิจ ดึงบางกอกแลนด์ต่อขยายเชื่อมเมืองทอง เผยรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง กวาดรายได้ป้อนบีทีเอสอีกกว่าแสนล้านบาท

ตามที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์(BSR Joint Venture) ได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและด้านเทคนิค ในการประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี)และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) คงเหลือเพียงการพิจารณาสัญญาที่ 3 (ด้านราคา) ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันในวันที่ 19 ธันวาคมนี้

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าบีทีเอสกรุ๊ปให้ความสนใจลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางสายสีชมพูและสายสีเหลือง มีความมั่นใจว่าให้ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้ รวมทั้งได้พันธมิตรที่มีความชำนาญอย่างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ที่เชี่ยวชาญในส่วนของการก่อสร้าง และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ที่มีความชำนาญเรื่องไฟฟ้ากำลังและระบบควบคุมมาร่วมลงทุน

โดยการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า 2 สายดังกล่าว เป็นรูปแบบร่วมลงทุนลักษณะ PPP Net Cost ที่ภาครัฐโดยรฟม.จะลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมทั้งให้เงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธา สายสีชมพูจำกัดวงเงินไม่เกิน 20,135 ล้านบาท และสายสีเหลืองไม่เกิน 22,354 ล้านบาท ส่วนกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา จัดหาระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ซ่อมบำรุงรักษาระบบตลอดอายุสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน ตลอดจนจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากกิจการเชิงพาณิชย์อื่นๆในระบบ ดังนั้น วงเงินการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้งโครงการประมาณ 53,490 ล้านบาท (รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่างานโยธา และค่าระบบไฟฟ้า) ส่วนสายสีเหลือง ประมาณ 51,810 ล้านบาท

แต่ละโครงการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มไม่น้อยกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.8 หมื่นล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์จะทยอยจ่ายเริ่มต้นประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อโครงการ ที่เหลือจะมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือการระดมทุนจากตลาดทุนในรูปแบบอื่นๆเช่น การออกพันธบัตร โดยกลุ่มบีเอสอาร์ได้หารือสถาบันการเงินและผู้เกี่ยวข้องรองรับไว้พร้อมแล้ว

“การร่วมลงทุนกับภาครัฐลักษณะ PPP Net Cost ในโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนหลักแสนล้านบาทนั้น วันนี้บีทีเอสมีศักยภาพการลงทุนอย่างมากและพร้อมที่จะเข้าไปรับบริหารโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆทั้งของ รฟม.
กรุงเทพมหานคร(กทม.) มากขึ้น ด้วยประสบการณ์ด้านระบบรถไฟฟ้ามานานกว่า 17 ปี เมื่อรวมระยะทางทั้งหมดมีมากเกือบ 140 กิโลเมตร ครอบคลุมโครงข่ายได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 3 ล้านคน และอีก 4 ปีหลังจากนี้ที่สายชมพูและสีเหลืองเปิดให้บริการ รวมกับสายสีเขียวส่วนต่อขยายจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มไม่น้อยกว่า 1.7 แสน-2 ล้านคนต่อวัน”

เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมจากขอบเขตโครงการเดิมต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็คือว่า สายสีชมพูเสนอให้มีการต่อขยายแนวเส้นทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร จำนวน 2 สถานี จากสถานีศรีรัช บนถนนแจ้งวัฒนะ เข้าไปยังเมืองทองธานี ส่วนสายสีเหลือง เสนอต่อขยายเส้นทางอีกประมาณ 2.6 กิโลเมตร 2 สถานี จากสถานีรัชดา ไปตามถนนรัชดาภิเษกสิ้นสุดที่แยกรัชโยธินก็จะเชื่อมต่อกับสถานี N10 (บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

“รถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่มีจุดหมายผ่านกว่า 200 อาคาร 200 โรงแรม โดยเฉพาะจุดผ่านเมืองทองธานี คาดว่าจะมีผู้อยู่อาศัยกว่า 1 แสนคน ผู้ใช้บริการกว่า 4-5 ล้านคน จึงได้ต่อขยายแนวเส้นทางเชื่อมเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวเสนอต่อรฟม.พิจารณา อย่างไรก็ตามไม่อยากให้มองว่าเป็นการเอื้อเอกชนเพราะภาคเอกชนลงทุนพัฒนาโครงการอื่นๆก็ดำเนินการมาแล้ว อาทิ เชื่อมเข้าถึงสยามพารากอนเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางนั่นเอง โดยไม่ใช้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล”

นอกจากนี้ยังเสนอให้ใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว ทั้งบัตรประเภทเที่ยวเดียว และบัตรเติมเงินสามารถเดินทางได้ทั้งสายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง ให้เชื่อมกันได้แบบไม่ต้องออกนอกระบบโดยแตะบัตรเข้าและออกเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง เพื่อเพิ่มความสะดวกและประหยัดให้ผู้โดยสาร เพราะต่อไประบบรางที่จะเกิดขึ้นใหม่ทางภาครัฐต้องผลักดันให้เข้าสู่ระบบตั๋วร่วมทั้งหมด

นายคีรียังกล่าวถึงการลงทุนระบบรางของรัฐบาล บริษัทมีความสนใจทุกโครงการ เพราะมั่นใจว่าได้พันธมิตรที่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจ ประกอบกับบีทีเอสกรุ๊ปมีธุรกิจหลักคือการลงทุนระบบรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม จะขอพิจารณาทีโออาร์แต่ละโครงการก่อนว่ามีข้อกำหนดและเปิดทางให้เอกชนอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะโครงการไฮสปีดเทรนเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก แต่หากให้เอกชนลงทุนทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก เพราะมูลค่ามากเกินกว่าที่เอกชนจะลงทุนได้ทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,219 วันที่ 18-21 ธันวาคม 2559