3 ทศวรรษ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัลต้า” สืบสานกีฬาเรือใบ มรดกอันภาคภูมิ แห่งความงดงามในน่านน้ำไทย

17 ธ.ค. 2559 | 05:00 น.
ถ้วยพระราชทานอันทรงเกียรติยศของภูเก็ตรีกัลต้า ผลงานการออกแบบจาก ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล ประกอบขึ้นอย่างงามสง่าบนแท่นไม้มะค่าอันแข็งแรง โดยฐานส่วนล่างใช้ความวิจิตรและความประณีตประกอบวงแหวนทั้ง 9 ชั้น รองรับส่วนบนอย่างสมดุลซึ่งออกแบบเป็นรูปเรือ 9 ใบที่พลิ้วไหวอยู่บนแท่นเงินราวกับกำลังโลดแล่นอยู่บนท้องทะเลอย่างภาคภูมิใจ ด้านบนสุดของถ้วยพระราชทานจารึกเครื่องหมาย “ภปร” พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสมือนการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์และพระเกียรติคุณของพระองค์ในการเป็นองค์อุปถัมภ์งานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

M30-321902 การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้การอำนวยการของสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมด้วยกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ตเพื่อสดุดีพระอัจฉริยภาพพร้อมกับร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดไม่ได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯและแสดงความจงรักภักดี ถวายชัยมงคลแด่พระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ซึ่งในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 หรือ 3 ทศวรรษอย่างเป็นทางการ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 10 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมกะตะบีช รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิด “สืบสานกีฬาเรือใบ มรดกอันภาคภูมิ”

M30-321903 คุณเควิน วิทคราฟท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า กล่าวว่า “งานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติอันทรงเกียรติยศที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย สามารถช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ ในฐานะหนึ่งในสถานที่จัดงานแข่งขันเรือใบระดับนานาชาติชั้นเลิศและเป็นที่นิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งนอกจากทำให้นานาประเทศได้ตระหนักว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำของกีฬาเรือใบแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจเรือใบและการท่องเที่ยวทางทะเลมีการเจริญเติบโตอย่างมาก ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยงานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 30 สามารถดึงดูดทีมเรือใบและเรือยอชท์มากกว่า 200 ลำ พร้อมนักกีฬาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากกว่า 1,000 คน จากกว่า 30 ประเทศให้เดินทางมาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและประชาชนในท้องถิ่นอย่างมหาศาล โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาทตลอดสัปดาห์หารจัดงาน ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักกีฬาและนักเดินทางมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางของ “มหกรรมงานเรือยอชท์ระดับเวิลด์คลาส”

M30-321905 มร.มาร์ก แฮมิลล์สจ๊วร์ต ประธานสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพถึงความเป็นมาของงานดังกล่าวว่า งานแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัลต้า จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษาและนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้มีการจัดงานในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีตลอดมา

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เปรียบเรือใบเป็นดั่งชีวิต เพราะการเล่นเรือใบต้องมีความอดทน ต้องมีการวางแผนที่ดีและที่สำคัญต้องถ่อมตน” หนึ่งคำกล่าวจากหลักปรัชญาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านครั้งร่วมเล่นเรือใบกับพระองค์ คุณระดับ กาญจนะวณิชย์ คณะกรรมการจัดการแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ในฐานะนักกีฬาเรือใบฝีมือเยี่ยมและพระสหายที่เคยทรงเรือใบกับในหลวงรัชกาลที่ 9 เล่าต่อว่า ความอดทนที่พระองค์ได้สอนสั่งนั้นคือ การเล่นเรือใบจำเป็นต้องรอลมเหมือนกับชีวิตเราเมื่อตกอับหรือเกิดความทุกข์เราก็ต้องมีความอดทนที่จะแก้ไขปัญหาต่อไป เช่นเดียวกันกับการวางแผนเช่นกัน เมื่อเรารอลมแล้วเมื่อลมมาเราต้องรู้จักวางแผนว่าให้เรือลำนี้ไปได้อย่างไร คล้ายกับชีวิตอีกเช่นกัน เมื่อถึงคราวที่ต้องตกต่ำเราต้องมีสติในการฉุกคิดและก้าวเดินต่อไปย่างไร และสิ่งสุดท้ายคือการถ่อมตน เพราะเวลาเราอยู่ในทะเลคนเดียวเราไม่สามารถโอ้อวดหรือแสดงความเป็นหนึ่ง กลับกันทะเลและเรือใบจะสอนให้เรารู้จักปล่อยวางและเคารพกับบริบทโดยรอบด้วยความถ่อมตน เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป และนี่คือหนึ่งแง่คิดที่เป็นดั่งเข็มทิศในการตกผลึกจากการเล่นกีฬาเรือใบ ที่ทุกคนสามารถน้อมนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต

M30-321907 คุณสันติ กาญจนพันธุ์ คณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนักกีฬาเรือใบชาวต่างชาติหลากหลายท่าน พบว่า พวกเค้าไม่สามารถแข่งขันกีฬาดังกล่าวได้ในทุกสนาม ซึ่งสนามแข่งขันที่พวกเค้าจะเลือกนั้นคือ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ 1.ถ้วยพระราชทานจากพระมหากษัตริย์สร้างความภาคภูมิใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับรางวัลจากผู้แทนพระองค์เป็นเกียรติอย่างสูงในชีวิตของผู้เข้าแข่งขัน 2.ทำเลที่ตั้ง ความสวยงามของเกาะ ความเพียบพร้อมด้านการจัดงานทั้งการคมนาคม ที่พัก การต้อนรับแบบไทยๆ อาหารและองค์ประกอบอื่นๆด้านความปลอดภัยอาทิ โรงพยาบาล ทีมงานจากกองทัพเรือ มีเฮลิคอปเตอร์เตรียมความพร้อมในการค้นหาผู้แข่งขันที่หายไป และนี่คือเสน่ห์ที่นักกีฬาทั่วทุกมุมโลกต่างให้ความไว้วางใจในงานของเรา และกลับมาแข่งขันในทุกปี

M30-321906 การแข่งขันในปีนี้แบ่งออกเป็น รายการเรือใบใหญ่และเรือใบเล็ก โดยประเภทเรือใบใหญ่นั้นแตกย่อยออกเป็นประเภทมัลติฮัลล์และคีลโบ้ทประกอบด้วย 12 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0 (เรือ “กรังด์ปรีซ์” นานาชาติ) และรุ่น ไออาร์ซี 1, ไออาร์ซี 2, พรีเมียร์, แบร์โบ๊ทชาร์เตอร์, โอเพ่นชาร์เตอร์, ไฟร์ฟลาย, เรซิ่งมัลติฮัลล์, ครูซิ่งมัลติฮัลล์, ครูซิ่ง, ปลาทูวันดีไซน์, และ พัลซ์วันดีไซน์ สำหรับเรือใบเล็กคือรายการ อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส ยังคงจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานักกีฬาเรือใบเยาวชนในเมืองไทยและกระตุ้นให้เยาวชนไทยหันมาเล่นกีฬามากยิ่งขึ้น ซึ่งการแข่งขันในปีนี้แบ่งเป็นรุ่นต่างๆ ได้แก่ ออพติมิสต์ (ชาย), ออพติมิสต์ (หญิง), เลเซอร์เรเดียล, เลเซอร์สแตนดาร์ด, เลเซอร์ 4.7, และ 420

"คุณพ่อกับคุณแม่สอนหนูไว้ว่า เราต้องเล่นกีฬาเรือใบตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการใช้จิตวิญญาณทั้งหมดที่มีทุ่มเทให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงของประเทศ"ทั้งนี้ทางหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจมีโอกาสพูดคุยกับนักกีฬาเรือใบเยาวชนทีมชาติไทยสองท่านคือ ด.ญ.ปาลิกา พูนพัฒน์ หรือน้องฟิลม์และ ด.ญ.พัชรี ศรีงาม หรือน้องชมพู โดยทั้งสองเล่าว่าการแข่งขันเรือใบได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว และที่สำคัญได้มีต้นแบบและแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการขับเคลื่อนตนเองให้มีพลังพร้อมกับพัฒนาความเชี่ยวชาญในกีฬาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในอนาคตต่อไป อย่างไรก็ตามน้องทั้งสองได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า เช่นกันในประเภทเรือใบเล็ก ออพติมิสต์ (หญิง) ซึ่งการแข่งขันในสนามดังกล่าวนี้นอกจากการพัฒนาตนเองให้มีความเชี่ยวชาญแล้วนั้น เยาวชนทั้งสองยังพร้อมตั้งเป้าหมายคว้าเหรียญในรายการซีเกมส์ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซียมาฝากประชาชนชาวไทย

M30-321905 ทั้งนี้อีกหนึ่งมิติของการพัฒนาเยาวชนคือ การเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดงานให้มีการแข่งขันเรือใบเล็ก ภูเก็ต ดิงกี้ ซีรี่ส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนโดยเฉพาะในหมู่สโมสรเรือใบทางภาคใต้ของไทย ทั้งในภูเก็ต พังงา สงขลา รวมถึง ชลบุรี ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักกีฬาเยาวชนที่ต้องการฝึกฝนทักษะและพัฒนาการเล่นในสนามระดับสากล เพื่อสืบสานกีฬาเรือใบตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ผู้ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบที่ทรงพระปรีชาสามารถและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับสากล”

“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัลต้า” เป็นมากกว่าการแข่งขัน เพราะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาพบกัน แลกเปลี่ยนทัศนะ ต่อยอดความคิดและพัฒนาวงการกีฬาเรือใบของประเทศให้เติบโตทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อย่างเช่น ธุรกิจเรือยอชท์ เป็นต้น และนัยยะที่สำคัญคือการได้เยาวชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรากแก้วในการเรียนรู้และพัฒนากีฬาเรือใบไทยต่อไปในอนาคต ถือได้ว่าเป็นทิศทางที่ดีในวงการกีฬา ยกระดับสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป เพราะกีฬา คือ ยาวิเศษ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,219 วันที่ 18-21 ธันวาคม 2559