สิงคโปร์อันดับ 1 ฮับฟินเทคเอเชียแซงฮ่องกง

15 ธ.ค. 2559 | 10:00 น.
บริษัทจัดอันดับประเทศที่เป็นศูนย์กลางฟินเทคของโลกปี 2516 ยกให้สิงคโปร์ อยู่อันดับ 4 ฮ่องกงอยู่อันดับ 7 ทำให้เมืองลอดช่องกลายเป็นศูนย์ฟินเทคยอดนิยมอันดับ 1 ของเอเชีย ระบุเซียนการเงินรุ่นใหม่แห่ตั้งบริษัทฟินเทคเป็นฐานเจาะตลาดเอเชียและอาเซียน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทที่ปรึกษาเอินส์ท แอนด์ ยังทำการสัมภาษณ์นักธุรกิจฟินเทคทั่วโลกและทำทำเนียบอันดับศูนย์กลางธุรกิจฟินเทคของโลกด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้ประกาศผลให้ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางฟินเทคที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นประตูสู่เอเชีย และให้ฮ่องกงอยู่อันดับ 7 โดยระบุว่าปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์เหนือกว่าฮ่องกงคือความตื่นตัวของรัฐบาลสิงคโปร์ในการสนับสนุนฟินเทคที่รวดเร็วกว่าฮ่องกง

บลูมเบิร์ก ระบุว่าความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสิงคโปร์ทำให้บริษัทฟินเทคของคนรุ่นใหม่ที่หวังเจาะตลาดอาเซียนและเอเชีย ตัดสินใจตั้งบริษัทในสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย ที่โดดเด่นขึ้นมาเหนือฮ่องกงซึ่งเป็นคู่แข่งกันมาโดยตลอด

บลูมเบิร์กยกตัวอย่างนายโจ ซึงฮยอน โช (Joe Seunghyun Cho) นักธุรกิจฟินเทคจากเกาหลีใต้ ที่ได้ตัดสินใจตั้งสำนักงานใหญ่สำหรับ 6 บริษัทฟินเทคในเครือ Marvelstone Group ที่สิงคโปร์แทนที่จะเป็นฮ่องกงหรือเกาหลีใต้บ้านเกิด

นายโจ ให้สัมภาษณ์ บลูมเบิร์ก ว่า “เรารู้สึกประทับใจในการเคลื่อนเชิงรุกของหน่วยงานรัฐของสิงคโปร์ที่ช่วยทั้งด้านภาษีและการสนับสนุนให้เข้าตลาดได้ง่าย”

กลุ่มบริษัท Marvelstone พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการชำระเงินแบบโมบายและลงทุนในบริษัทฟินเทคอื่นด้วยโดยบริษัทนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐของสิงคโปร์ในเรื่องสิทธิทางภาษีและการแนะนำพันธมิตรธุรกิจที่ต่อยอดธุรกิจร่วมกันได้

นายโมฮิท เมห์โรตรา (Mohit Mehrotra) หัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์สำหรับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของบริษัท ดีลอยท์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของสิงคโปร์ แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมนี้ต้องพยายามรักษากำไรและการเติบโตภายใต้แรงกดดัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่สามารถนำเสนอเทคโนโลยีและและการสร้างระบบนิเวศให้กับอุตสาหกรรมนี้”

บลูมเบิร์ก อ้างรายงานของ บริษัทเอคเซนเชอร์ฯ ที่วิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลของบริษัท ซีบีอินไซท์สฯ และพบว่าบริษัทและนักลงทุนทั่วโลกได้ทุ่มเงินลงไปในบริษัทฟินเทคในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลกโดยมีการลงทุน กว่า 10.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 378,000 ล้านบาท) เมื่อนับถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมาส่วนใหญ่เข้าไปในประเทศจีนโดยไม่ผ่านฮ่องกงส่วนยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 72,000 ล้านบาท)

 ฮ่องกงดิ้นสู้สิงคโปร์

บลูมเบิร์ก ระบุว่าทางการฮ่องกงรับรู้ถึงความเพลี่ยงพล้ำในเรื่อง การเป็นศูนย์ฟินเทค จึงให้ฮ่องกงโมเน็ททารี่ออร์ทอริตี้ ซึ่งเป็นเสมือนแบงก์ชาติของฮ่องกง เร่งจัดตั้งฟินเทคอินโนเวชันฮับ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่อระดมความคิดเห็นของนายธนาคาร เจ้าของสตาร์ตอัพและตัวแทนจากแบงก์ชาติในหาแนวทางสนับสนุนฟินเทคในฮ่องกง

นอกจากนี้แบงก์ชาติฮ่องกง ยังจัดทำ แชนด์บ๊อกซ์ เพื่อให้สตาร์ตอัพฟินเทคสามารถนำแนวคิดและนวัตกรรมสินค้าบริการการเงินรูปแบบใหม่มาลองให้บริการภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบทางการเงินของทางการ
อย่างไรก็ดีผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ฮ่องกง ค่อนข้างช้ากว่าสิงคโปร์อย่างเช่นการออกแซนด์บ็อกซ์ ก็ทำช้ากว่าสิงคโปร์ 3 เดือน

Mr. Shailesh Naik ผู้ก่อตั้ง บริษัทให้บริการชำระเงินแบบโมบาย ซึ่งเลือกตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ กล่าวว่าเขาเลือกสิงคโปร์เนื่องจากหาคนเก่งทำงานได้ง่ายกว่า เพราะสิงคโปร์สร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ให้กับคนทำงาน และสิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษในระบบธุรกิจซึ่งทำให้ทำงานได้ง่าย

บลูมเบิร์ก ระบุว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์เหนือกว่าฮ่องกง อย่างชัดเจนคือ การจัดสัมมนาเกี่ยวกับฟินเทคในฮ่องกงและสิงคโปร์ที่จัดในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ปรากฏว่า งานในสิงคโปร์มีคนเข้าร่วมกว่า 1 หมื่นคน ขณะที่มีคนเข้าร่วมในงานที่ฮ่องกงน้อยกว่านั้นมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,218 วันที่ 15-17 ธันวาคม 2559