กัมพูชาลุย‘โซลาร์เซลล์’ ‘ฮุน เซ็น’ ดึงต่างชาติลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์

12 ธ.ค. 2559 | 00:00 น.
รัฐบาลกัมพูชา เริ่มสนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ ด้วยการทำแผนที่จุดฮอตสปอต สำหรับพื้นที่รับแสงแดด ในประเทศเป็นผังสำหรับทำโครงการทุ่งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า

สถานีโทรทัศน์แชนแนลนิวส์เอเชีย (ซีเอ็นเอ) รายงานว่า ประเทศกัมพูชาแม้ว่าจะยังพึ่งพาเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่และถ่านหินเป็นพลังหลักในการผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ แต่เริ่มปูพื้นฐานสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เพื่อความยั่งยืนของแหล่งพลังงาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลพนมเปญ ได้จัดทำแผนที่ฮอตสปอต ที่แสดงระดับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่ ของประเทศ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเปิดรับการลงทุนสร้างทุ่งโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้า แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังแสดงท่าทีว่าต้องการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ซีเอ็นเอรายงานว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกัมพูชาอย่างมากโดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท ซันซีปฯ (Sunseap) ของสิงคโปร์ชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ขนาด 10 เมกะวัตต์ในกัมพูชาซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศ

นายแฟรงค์ พวน (Frank Phuan) กรรมการบริษัท ซันซีป กล่าวว่าโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ถือว่ามีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือถ่านหิน แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดว่ารัฐบาลกัมพูชาสนใจขยายอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เชื่อได้ว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะเริ่มเร่งตัวขึ้น

นายจอห์น แมคกินลีย์ (John McGinley) จากบริษัทแม่โขงสแตรตเตอจิกพาร์ตเนอร์สฯ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ ว่าถ้ารัฐบาลไฟเขียวให้อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกในกัมพูชาขยายตัวได้ ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องนักลงทุนเนื่องจากมีผู้สนใจลงทุนในพลังงานทางเลือกมากรวมทั้งบริษัทของเขาเองด้วย

นายแมคกินลีย์ กล่าวว่า “ขณะนี้รัฐบาลชี้ว่าพื้นที่ใดมีระดับรับแสงอาทิตย์ที่เหมาะสม ประเทศต้องการไฟฟ้า และต้นทุนมีราคาถูก การเคลื่อนธุรกิจนี้ต่อไปมีเหตุมีผลรองรับ แต่เราต้องการฟังความชัดเจนจากรัฐบาล

ซีเอ็นเอ ระบุว่าในประเทศกัมพูชา มีประชาชนกว่า 6 ล้านคนที่ระบบสายไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เขตชนบทมีปัญหาไฟตกไฟดับ ค่อนข้างบ่อยแม้ในพื้นที่จังหวัดสตรึงเตรง ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าขยายบริการไฟฟ้าให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านในปี 2563 โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งขณะนี้ประเทศมีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 8 เขื่อนมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,049 เมกะวัตต์ และ มีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 73 เขื่อนส่วนใหญ่ให้สัมปทานกับบริษัทของจีน ทำให้พื้นที่จ่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สัมปทานของจีนและภาครัฐไม่กล้าเปิดสัมปทานไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกมากนักเพราะกลัวจะเกิดการทับซ้อน

อย่างไรก็ดีนายแมคกินลีย์ กล่าวว่าโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้ามีปัญหาค่อนมาก ทั้งเรื่องการต่อต้านเรื่องสิ่งแวดล้อมและการย้ายประชาชน แหล่งเงินและต้นทุนการสร้างเขื่อนที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งระยะเวลาการทำโครงการที่ยาวนาน ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า ทำได้รวดเร็วและไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายแมคกินลีย์กล่าวว่า ‘การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปีในการก่อสร้างแต่ ทุ่งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าในกำลังวัตต์ที่เท่ากันใช้เวลา 6-12 เดือนเท่านั้น และสามารถสร้างใกล้จุดจ่ายไฟจึงไม่จำเป็นต้องสร้างโครงข่ายสายไฟฟ้าที่มีราคาแพง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559