ความหวังเศรษฐกิจไทยใน ‘แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12’

10 ธ.ค. 2559 | 03:00 น.
นับตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาไปจนถึง30 กันยายน 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นฉบับที่มีแตกต่างกับแผนพัฒนาฯที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ในเรื่องของการนำเอากรอบยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2579) มาเป็นแนวทางในการพัฒนา โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้การพัฒนาประเทศไทยต่อเนื่องในระยะยาวในด้านสำคัญของไทย ได้แก่ การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่งคงทางการเมือง การลดภัยคุกคามภายนอกและสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มอาเซียนและประชาคมโลก และสุดท้ายการปรับสมดุลประเทศและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ใช้อยู่นี้จึงมีความสำคัญสูง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการพัฒนาฐานรากของประเทศที่ยึดโยงกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลในอนาคตที่ชัดเจนทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาโดยอาศัยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ภายใต้วิสัยทัศน์ว่า“ประเทศไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

สิ่งที่น่าสนใจในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะหยิบยกมาพูดคุยกันในนี้เป็นส่วนของ “ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศผู้มีรายได้สูง ซึ่งการที่จะเป็นไปได้นั้นจะต้องทำภารกิจสำคัญ คือเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี

หากประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า จะเห็นว่าภารกิจดังกล่าว การจะทำให้บรรลุผลสัมฤทธิ์“ไม่ใช่เรื่องง่าย” เนื่องจากหากประเมินสภาพแวดล้อมปัจจุบันของเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ การลงทุนเอกชนที่ซบเซา หรือเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มการกีดกันมากขึ้น แม้ว่าแผนพัฒนาฯ นี้จะความละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม แต่เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่าเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาด้านอุปทานเป็นหลักเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับค่อนข้างสูง กล่าวคือ

ส่วนที่ 1...การพัฒนาการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมซึ่งเกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านการคลังของภาครัฐ การพัฒนาประสิทธิภาพภาคเงินให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านการเงินได้สะดวกขึ้น

ส่วนที่ 2...การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การวางโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของตนเอง โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงรวมถึงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของแรงงานให้มีความคิดสร้างสรรค์รวมทั้งการต่อยอดการผลิตและบริการเดิมโดยใช้ดิจิทัลในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและบริการที่แข่งขันกับประชาคมโลกได้

สำหรับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตนั้นการพัฒนาด้านอุปทานเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ก่อให้เกิดความสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว เนื่องจากปัจจัยภาคในและภาคนอกประเทศค่อนข้างคาดเดาได้ลำบากตามที่กล่าวไว้ตอนต้น รวมไปถึงประเทศอื่นๆเองก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเช่นเดียวกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาด้านดีมานด์ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านซัพพลาย
การจะสร้างดีมานด์ให้แข็งแกร่งนั้น จะต้องพัฒนาดีมานด์ที่อยู่ใกล้ตัว เนื่องจากเรามีความเข้าใจ และสามารถส่งเสริมและพัฒนาได้ง่าย นั่นคือ“ดีมานด์ในประเทศ และดีมานด์ต่างประเทศที่อยู่ใกล้ตัว” กล่าวคือ

“ดีมานด์ในประเทศ” เราจะต้องเพิ่มรายได้และการบริโภคในประเทศมากขึ้น และการที่จะทำได้จะต้องสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง อาศัยการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ให้คนในประเทศสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยง่ายทั่วทุกภาคโดยใช้เวลาไม่นานเพราะหากความเร็วของการติดต่อกันมากขึ้นเท่าใด หมายถึง ความเร็วในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสินค้าและบริการระหว่างกันจะมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศระหว่างกันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้เกิดความเจริญของเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจเมืองเพิ่มขึ้น (Urbanization) จะช่วยให้ผู้คนมีงานและที่มีรายได้สูง นั่นหมายถึงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว และทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

ส่วน “ดีมานด์ต่างประเทศที่อยู่ใกล้ตัว” คือ การส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV เราจะเห็นว่า แม้ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเราเศรษฐกิจกำลังเติบโตในปีหนึ่งๆ เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6-7% ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคการผลิตในประเทศของเขายังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสนองความต้องการนั้นได้ ทำให้ต้องนำเข้าสินค้า ดังนั้น ไทยจะต้องแสวงหาโอกาสจากดีมานด์นี้ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5-7และจำนวนประชากรกว่า 160 ล้านคน โดยต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างสินค้าไทยให้เป็นชื่นชอบนิยมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันภาคเอกชนฝั่งไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปโดยสะดวก ปราศจากอุปสรรคใดๆ

จะเห็นว่า การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 นี้ จะต้องพัฒนาทั้งด้านซัพพลาย และดีมานด์ควบคู่กันไป แล้วสร้างเงื่อนไขความสำเร็จให้เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องแปลแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว ออกมาให้เป็นรูปธรรมที่สามารถปฏิบัติและประเมินผลได้สุดท้ายขอทิ้งท้ายว่า“แผนพัฒนาฯ ก็เหมือนแผนที่” หากวาดเส้นทางออกมาได้ถูกต้อง และมีความละเอียดแม่นยำก็จะทำให้คนอ่านไปถึงจุดหมายได้โดยง่าย ในทางกลับกันหากวาดเส้นทางได้ถูกต้องแต่ไม่มีความละเอียดแม่นยำมากพอ ก็จะทำให้ผู้อ่านหลงทางไปถึงจุดหมายได้ล่าช้า เพราะต้องเสียเวลาในการคลำหาทางที่ถูกต้องเองเพราะฉะนั้น เมื่อแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกาศใช้แล้ว ภาครัฐในฐานะผู้กำหนดทิศทางนโยบายจะต้องสื่อสารแผนพัฒนาฯ ไปยังภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตามแผน ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ และวิธีการประเมินผลที่ชัดเจนเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ของตนเองอันจะทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559