พลิกโฉมสนามบินอู่ตะเภา รับอีอีซี-โลจิสติกส์ฮับประเทศ

09 ธ.ค. 2559 | 08:00 น.
การเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญนับจากรัฐบาล มีนโยบายเปิดให้บริการเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ และนับวันยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น กับการขับเคลื่อนโลจิติกฮับตามยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor: EEC) ของรัฐบาล ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง "พล.ร.ต. วรพล ทองปรีชา" ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง พัทยา ได้ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

คาดปี60 ผู้โดยสารแตะ1.2 ล.

พล.ร.ต.วรพล เผยว่า ปัจจุบันสนามอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสารได้ราว 8 แสนคนต่อปี จากศักยภาพของอาคารผู้โดยสารขนาด 2,610 ตารางเมตร แต่นับจากสนามบินเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ก็เห็นถึงการเติบโต อย่างชัดเจน จากปีงบประมาณ 2557 ที่มีเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศอยู่ที่ 3,398 เที่ยวบินและมีจำนวนผู้โดยสารปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.5-1.7 แสนคน ขยับเพิ่มมาเป็น 7,888 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารราว 7 แสนคนต่อปีในปีงบประมาณ2559 จาก 5 สายการบินที่ใช้บริการ ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย แอร์เอเชีย,บางกอกแอร์เวย์ส,อาร์แอร์ไลน์ส,ไชน่า เซ้าท์เทิร์น และส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินไปจีน ของสายการบินต้นทุนต่ำต่างๆและในปีงบประมาณ 2560 สนามบินคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารขยับมาเป็น 1.2 ล้านคน

โดยมีปัจจัยการเปิดบินของสายการบินใหม่อีก 1-2 สายการบิน คือ ไทยไลอ้อนแอร์ และการเพิ่มเส้นทางบินของกลุ่มแอร์เอเชีย และไชน่า เซ้าท์เทิร์นแอร์ไลน์ ที่เปิดบินตรงจากจุดบินอื่นในจีนมาลง

อู่ตะเภา ส่วนเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ที่เคยวางแผนจะมาลงสนามบินอู่ตะเภาในช่วงตารางบินฤดูหนาวที่หายไปจากผลกระทบการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ มีการปรับแผนมาเน้นการดึงสายการบินจากรัสเซียและสายการบินโลว์คอสต์ ของยุโรป เข้ามาเปิดบินลงอู่ตะเภา เพราะเดิมรัสเซีย ถือเป็นตลาดสำคัญของสนามบินอู่ตะเภา มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำเป็นจำนวนมาก แต่หายไปจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาเที่ยวไทยแล้ว โดยเฉพาะพัทยา

พร้อมเปิดอาคาร2 กลางปี60

ผอ.ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง พัทยา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนการขยายศักยภาพของสนามบิน ที่จะรองรับผู้โดยสารขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ในพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร ซึ่งอาคารหลังใหม่นี้จะใช้งานได้ประมาณกลางปี 2560 ล่าช้ากว่าเดิมที่คาดว่าจะเปิดได้ภายในสิ้นปีนี้

เนื่องจากแม้ตัวอาคารผู้โดยสารและลานจอดอากาศยาน จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ด้วยลงทุนรวม 800 ล้านบาท แต่ยังมีงานเรื่องของระบบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)และสะพานเทียบเครื่องบิน ที่ยังต้องทำเพิ่มเติม ใช้งบลงทุนอีกราว 100 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากงบกลางปีงบประมาณ2559 ของรัฐบาล ส่วนการเปิดสัปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ก็จะเริ่มประกวดราคาได้ในช่วงต้นปีหน้า ที่จะเปิดประมูลใน 3 สัญญา คือ 1.สัญญาดิวตี้ฟรี 2.สัญญาการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ3.สัญญาการบริหารพื้นที่ป้ายโฆษณาต่างๆเฉพาะตัวอาคาร

3 จุดโฟกัสบริหารสนามบิน

อย่างไรก็ดีในด้านการบริหารงานสนามบินอู่ตะเภา พลเรือตรีวรพล ย้ำใน3 เรื่อง คือ 1.เซฟไทม์ 2.เซฟคอสต์ และ3.เซฟตี้ ซึ่งก็หมายถึง การบริหารจัดการสนามบินให้เกิดความคล่องตัวประหยัดเวลาของสายการบิน ขณะเดียวกันค่าธรรมเนียมต่างๆที่มีการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ก็ถือว่าต่ำกว่าสนามบินนานาชาติอื่นๆ เช่นค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน(พีเอสซี) สนามบินอู่ตะเภาเรียกเก็บจากผู้โดยสาร สำหรับเส้นทางบินในประเทศอยู่ที่ 50 บาท และเส้นทางบินระหว่างประเทศอยู่ที่ 400 บาท

ทั้งยังมีมาตรการอินเซ็นทีฟให้แก่สายการบินต่างๆ เช่น ลดค่าจอดอากาศยานให้ 50% เฉพาะเที่ยวบินที่มีผู้โดยสาร เป็นต้น หรือแม้แต่ราคาน้ำมัน ที่แต่ก่อนมีสายการบินบ่นว่ามีราคาสูงกว่าที่สนามบินดอนเมือง ลิตรละ 1 บาท 50 สตางค์ บางสายยอมแบกมาจากต้นทาง ทำให้สนามบินอู่ตะเภาจึงมาเป็นตัวกลางในการหารือกับปตท.เพื่อให้ขายราคาเท่าที่กรุงเทพฯ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันเพื่อผลักดันเกิดธุรกิจเข้ามาถ้ามีสายการบินเข้ามามาก ก็จะเติมน้ำมันมากขึ้น ทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์

กัน 2,000 ไร่รับอีอีซี

นอกจากนี้สนามบินอู่ตะเภา ยังต้องมองถึงการพัฒนาสนามบิน เพื่อรองรับการเติบโตของโลจิกติกส์ฮับในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการดึง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาในโครงการอีอีซี ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือสัตหีบ(ท่าเรือจุกเสม็ด) ที่ต้องขยายการรองรับการเติบโตของการขนส่งทุกรูปแบบ ซึ่งสนามบินได้กันพื้นที่ไว้ร่วม 2,000 ไร่ สำหรับรองรับการขยายการลงทุนของสนามบิน และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้น มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงการอีอีซี

โดยแผนการขยายศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โดยจะใช้งบประมาณปี2560 ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ใช้เวลาในการศึกษาราว 12 เดือน ซึ่งเบื้องต้นได้กันพื้นที่สำหรับการพัฒนาศักยภาพการรองรับของสนามบินออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็นระยะสั้น เพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 5 ล้านคน เน้นการปรับวิธีบริหารจัดการระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ กับอาคารผู้โดยสารเดิม ระยะกลาง เพิ่มการรองรับเป็น 15 ล้านคน และระยะยาว มองไว้เผื่อถึง 60 ล้านคน ทั้งยังกันพื้นที่ไว้สำหรับการลงทุนสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 ในอนาคตด้วย

ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้น ทางสนามบินได้กันพื้นที่ไว้สำหรับ 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)หรือ MRO 2. ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ (Air Cargo and Logistics Hub) และ 3. เทรนนิ่งเซ็นเตอร์หรือศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินในทุกเรื่อง เน้นเรื่องOn the job Training ไม่ว่าจะเป็น ช่าง นักบิน การให้บริการภาคพื้น ไฟล์ตซีมูเลเตอร์ เป็นต้น

"กองทัพเรือให้การสนับสนุนนโยบายอีอีซีของรัฐบาลเต็มที่ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยเปิด

โอกาสการพัฒนาสนามบินเชิงพาณิชย์มากแบบนี้มาก่อน มีการลงทุนในสนามบิน อย่างเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ก็เริ่มคิดโดยกองทัพเรือ ที่มองว่าถ้าจะผลักดันให้เกิดแต่ศูนย์ซ่อม แล้วไม่เตรียมการพัฒนาบุคลากรไทยไว้รองรับ ก็จะมีแต่ช่างต่างชาติ หรือแม้แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรวิศกรรมการบิน แต่ต้องส่งนักเรียนไปทำ On the job Training ที่ไต้หวัน เราจึงมองว่าควรพัฒนาด้านเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ไว้รองรับ หรือแม้แต่เรื่องของการเดินเรือเฟอร์รี่ เชื่อมระหว่างหัวหิน-พัทยา ที่ท่าเรือสัตหีบ ทางกองทัพเรือ ก็เป็นผู้จุดประกาย"

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการเดินทางเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการกำหนดแผนงานต่างๆของกระทรวงคมนาคมไว้แล้ว ทั้งระบบรถไฟ เดิมมีการเดินรถไฟจากกรุงเทพฯมายังสถานีพลูตาหลวง เพื่อมาพัทยาอยู่แล้ว ต่อไปก็มีการสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสารและโครงการรถไฟความเร็วสูงตามแนวเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะเชื่อมต่อกับ 3 สนามบิน(แอร์พอร์ตลิ้งค์) คือดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ก็อยู่ในแผนของรัฐบาลที่ผลักดันการก่อสร้าง แต่ก็คงต้อง ใช้เวลาพอสมควร และการขยายถนน เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นทิศทางการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และโรดแม็บการลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาทที่พลิกโฉมสนามบินแห่งนี้ ซึ่งกำลังจะกลไกสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ฮับประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559