สตาร์ตอัพโต300% ‘สมคิด’หนุนนักรบพันธุ์ใหม่เกษตร-ไบโอเทค

08 ธ.ค. 2559 | 03:00 น.
สตาร์ตอัพไทยจุดติด ยอดโต 300% มูลค่าการลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท คาดปีหน้าพุ่งเท่าตัว แบงก์ดาหน้าลงทุนเพิ่ม แนะตั้งกองทุน “แมตชิ่ง ฟันด์” หนุนเกษตร-ไบโอเทค ตามยุทธศาสตร์เอส เคิร์ฟ ด้าน “สมคิด” ชูยกระดับสินค้าเกษตร มุ่งปั้นชาวนา 4.0

นายวัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริม ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความเคลื่อนไหวของสตาร์ทอัพในประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 300 % โดยมีมูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพ เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 1,800 ล้านบาท

โดยการลงทุน 70% มาจากนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ และญี่ปุ่น สำหรับดีลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นปีนี้ คือ โอมิเซ่สตาร์ตอัพด้านเพย์เมนต์ เกตเวย์ ที่ระดมทุนรอบซีรีส์B มูลค่า 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 630 ล้านบาท และยังมี “โนว์ลาร์ริตี้ คอมมิวนิเคชั่นส์”พันธมิตรด้านแพลตฟอร์มของ “คลาวด์ดี” ผู้นำระบบการสื่อสารระบบคลาวด์ในประเทศไทย ซึ่งให้บริการร่วมกันระหว่าง“โนว์ลาร์ริตี้” และ “สวัสดีช้อป” ได้ระดมเงินลงทุนในรอบ ซีรีส์ C จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 720 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ตอัพ ที่ได้รับเงินสนับสนุนรอบเงินลงทุนเริ่มต้น หรือ ซีด ฟันด์ (Seed Fund) ราว 20-30% ทั้งนี้คาดว่าในปี 2560 การลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยสตาร์ตอัพ ที่ได้ระดมทุนรอบซีรีส์B (เงินทุน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 72 ล้านบาท - 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 540 ล้านบาท) หลายราย อาทิ อุ๊คบี ที่ระดมทุนรอบซีรีส์B ไปแล้ว 200 ล้านบาท จะมีการระดมทุนเพิ่มในรอบ ซีรีส์ C (เงินลงทุนสูงสุดระดับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 3,600 ล้านบาท)

 ปี 60 เห็นการลงทุนหลากหลาย

นายวัชระ กล่าวต่อว่า ในปี 2560 จะเห็นความหลากหลายของธุรกิจสตาร์ตอัพมากขึ้น โดยจะเห็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าสู่สตาร์ตอัพ มากขึ้น อาทิ ภาคเกษตร หรือ ขายสินค้า ส่วนสตาร์ตอัพ ที่มีรูปแบบธุรกิจสร้างรายได้จากการเก็บค่าบริการผู้ใช้ จะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสร้างรายได้จากด้านอื่น อาทิ รายได้จากโฆษณา เนื่องจากพฤติกรรมผู้ใช้คนไทยไม่นิยมใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการ

นอกจากนี้ในปีหน้าจะเห็นการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนไทยมากขึ้น ทั้งจากภาคธนาคาร ที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพมากขึ้น อาทิ ธนาคารกสิกร ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารออมสิน ขณะเดียวกันจะเห็นการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนไทยมากขึ้น โดยล่าสุดปีนี้มีการจัดตั้งบริษัท "Shift Ventures" ขึ้นมา เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพ และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ ให้ก้าวสู่ความสำเร็จ โดยนายวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ที่เคยทำงานกับบริษัทสตาร์ตอัพในซิลิกอนวัลเลย์และร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ และที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือบริษัทสตาร์ตอัพต่าง ๆ อีกหลายบริษัท, นายกวิณ โอภาสวงการ ผู้หลงใหลในธุรกิจสตาร์ตอัพ เป็นทั้งนักลงทุนและร่วมคลุกคลีกับธุรกิจสตาร์ตอัพ และ นายวิเลิศ อรวรรณวงศ์ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นลงทุนในปี 2560 และประมาณการว่าในปีนี้สัดส่วนการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 50%

  แนะตั้ง แมตชิ่งฟันด์ ลดเสี่ยง

นายวัชระ กล่าวต่อไปว่าส่วนการผลักดันสตาร์ตอัพของรัฐบาลนั้นมองว่ามาถูกทาง โดยที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้มีโอกาสร่วมในประชุมในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพยายามแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งสตาร์ตอัพอย่างไรก็ตามการแก้กฎหมายต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา นอกจากนี้ภาครัฐ ยังมุ่งการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสตาร์ตอัพ ไปทั่วประเทศ ผ่านงานสตาร์ตอัพไทยแลนด์

ส่วนข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐนั้น มองว่ารัฐไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนขึ้นมาลงทุนในสตาร์ตอัพเอง แต่ควรใช้วิธีการจัดตั้งกองทุน แมตชิ่งฟันด์ ขึ้นมา เพื่อร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนนอกเหนือขอบเขต อีกทั้งยังสามารถลงทุนสตาร์ตอัพ ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S CURVE ของรัฐบาล อาทิ ภาคการเกษตร , อุตสาหกรรมอาหาร และไบโอเทคโนโลยี โดยสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐ และนักลงทุนอาจอยู่ที่สัดส่วน 3:1 ในบางประเทศสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐ และนักลงทุน อยู่ที่ 6:1

ส่วนปัญหาที่มองว่าเป็นอุปสรรคในธุรกิจสตาร์ตอัพไทยขณะนี้คือ การพัฒนาโซลูชั่น ที่มีแนวคิดพัฒนาโซลูชั่นเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรูปแบบการใช้งานของผู้บริโภค ไม่ได้พัฒนาโซลูชั่นขึ้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และการขาดความรู้ความเข้าใจเชิงธุรกิจ โดยไม่มีความเชียวชาญ ในธุรกิจ หรือ บริการ ซึ่งท้ายสุดแล้วไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินต่อไปข้างหน้าได้

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สตาร์ตอัพ คือเป้าหมายของการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจไทยไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะให้ความสำคัญ และมีนโยบาย ไทยแลนด์ สตาร์ตอัพ มารองรับในการพัฒนาธุรกิจที่เริ่มต้น ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และก้าวขึ้นสู่บริษัทขนาดใหญ่

 “สมคิด” ชูไทยแลนด์ สตาร์ตอัพ

"สตาร์ตอัพเหมือนกับวุ้นเริ่มต้น และจะกลายเป็นเอสเอ็มอี แล้วก็ใหญ่ขึ้นกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ถ้ามีส่วนนี้มากเท่าไหร่ ก็จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จากเดิม ซึ่งมีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่บริษัท มีแค่ 500 บริษัทที่เป็นตัวสร้าง แต่ประเทศอย่างไต้หวันเป็นทั้งประเทศ นี่คือสิ่งที่ต้องการเปลี่ยน เราถึงมีนโยบาย ไทยแลนด์ สตาร์ตอัพ"

ทั้งนี้รัฐบาลนำคอนเซ็ปต์การสร้างสตาร์ตอัพ มารองรับ ถ้าไม่มีสตาร์ตอัพจะบอกว่ามีแต่เอสเอ็มอีในขณะนี้ ไปไม่รอดแน่ ต้องให้ความสำคัญเรื่องสตาร์ตอัพ ซึ่งเมืองไทยมีสตาร์ตอัพมากมาย แต่ถูกซ่อนอยู่ ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่มีใครรู้จัก

 เป้าหมาย "สมาร์ทฟาร์มเมอร์"

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เพียงอุตสาหกรรมเท่านั้น ภาคเกษตรก็ต้องให้ความสำคัญด้วย แต่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ยกระดับสินค้าเกษตร ตัวที่จะโตจากภายในไม่ใช่แค่การอัดฉีดเงิน ต้องเปลี่ยนทั้งเกษตร วิธีการผลิต การตลาด

นโยบายเกษตรเน้นเรื่องแปลงใหญ่ แต่คิดว่าชาวนาไทยเป็นปัจเจกบุคคล ถ้าจะทำแปลงใหญ่ได้ ต้องหาชาวนาคนหนึ่ง เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพราะทฤษฎีพูดถึงนวัตกรรม จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่รับนวัตกรรม เป็นกลุ่มแรกที่อะไรออกก่อนก็จะซื้อก่อน เสร็จแล้วมีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่า ใช้แล้วดี ก็จะคอยตาม และจะมีอีกกลุ่มคือถ้าไม่ตายก็ไม่เปลี่ยน

สมาร์ทฟาร์มเมอร์คือกลุ่มเป้าหมาย ที่ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เข้าไปจับกลุ่มนี้ และอัดฉีดสินเชื่อ ตอนนี้ปล่อยไปแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากยอดรวมของโครงการ 7 หมื่นล้านบาท

"กลุ่มเหล่านี้จะเป็นตัวเชื่อมกับชาวนาในหมู่บ้าน อีก 2 ปี ถ้ากลุ่มนี้รวย กลุ่มอื่นๆก็จะตาม เกษตรแปลงใหญ่ การใช้เทคโนโลยีก็จะตามมา และพวกนี้คือพวกที่จะทำอี-คอมเมิร์ซ ถ้าทำได้ก็จะเป็นแรงจูงใจให้คนข้างนอกมาทำด้วย จึงมีเอสเอ็มอีเกษตร และมีสตาร์ตอัพเกษตร ไม่ใช่มีแค่สตาร์ตอัพอุตสาหกรรมอย่างเดียว"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559