ธพว.ปั้นจีดีพีเอสเอ็มอีแตะ50% รุกสตาร์ตอัพ-ยกชั้นเป็นธนาคารเพื่อพัฒนาเต็มรูปแบบ

08 ธ.ค. 2559 | 07:00 น.
ธพว.ตั้งเป้า 3 ปีผลักดันจีดีพี “เอสเอ็มอี” แตะ 50% วางแผนปีหน้าขยายสินเชื่อเน้นสตาร์ตอัพ-ผู้ประกอบการรายย่อยโต ควบคู่กับการลดเอ็นพีแอล พร้อมเปลี่ยนฐานะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาเต็มตัว

นายมงคล ลีลาธรรมกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในรอบปีที่ผ่านมาธพว.มีพัฒนาการด้านฐานะทางการเงินที่มีความคล่องตัว และแข็งแกร่งขึ้น สะท้อนผลการตอบโจทย์ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ใน 3 เรื่องคือ การปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงบริการการทางการเงินการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และการปรับลดต้นทุนทางการเงิน

ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจน้อยวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ที่ผ่านมา 11 เดือน ธพว.อนุมัติสินเชื่อแล้ว 3.1 หมื่นล้านบาทจากวงเงินที่ตั้งเป้าไว้ 3.5 หมื่นล้านบาทเฉลี่ยวงเงินต่อรายอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทมีลูกค้าเพิ่มประมาณ 2,000 ราย และคาดว่าสิ้นปีพอร์ตสินเชื่อจะอยู่ที่ 9.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ผลการปรับลดเอ็นพีแอลซึ่งคนร.กำหนดให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ใน 2 ปี(2558และ 2559) ต้องมีเอ็นพีแอลอยู่ในระดับไม่เกิน 5% ขณะที่ปัจจุบันธพว.มีเพียง 2% เศษเท่านั้นส่วนการปรับลดต้นทุนทางการเงิน สามารถลดลงในอัตรา 0.87% จาก 2.88% เป็น 2.01% ซึ่งเป็นการลดภาระทางการเงินให้ลูกค้าเอสเอ็มอีควบคู่ไปด้วย

ด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยียังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอนุมัติสินเชื่อเหลือเพียง 32วันจากจากเดิมต้องใช้กระบวนการพิจารณาตั้งแต่วันรับเรื่องจนถึงวันลูกค้าได้เบิกถอนเงินกู้ นานถึง 64 วัน

“หลังปรับปรุงฐานะการเงินของธพว.ไม่เป็นภาระของรัฐและเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทำจะต่อไป คือ สานต่อภารกิจปฎิรูปข้อบังคับ ปรับปรุงองค์กร และพนักงานสำหรับการนำ ธพว.เข้าสู่ “ SME Development Bankเต็มตัว ซึ่งโจทย์นี้ ท่านสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการธพว.ให้เวลาผมทำแผนธุรกิจเชิงปฎิบัติการใน 3เดือน”

ทั้งนี้เพื่อก้าวสู่ SME Development Bank เต็มตัวธพว.ได้กำหนดนโยบายหลัก 5 ด้านได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมาตรฐาน , สร้างผลิตผลและผลิตผลิตภาพด้วยบริการต้นทุนต่ำ ,ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด็นสามารถแข่งขันได้รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออกสินค้าผ่านช่องทางหลากหลายและการเป็นแหล่งเงินทุนทั้งอำนวยสินเชื่อและลักษณะการร่วมลงทุน และแนวทางทางทำตลาดหรือช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นายมงคล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษารูปแบบ แนวทาง และข้อบังคับจากธนาคารสิงคโปร์ และไต้หวันซึ่งเป็นต้นแบบเพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับธพว. เช่น ศึกษากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะนำไปสู่ยุทธศาสตร์ยกระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของเอสเอ็มอี จากสัดส่วน 42%เป็น 50%ภายใน 3ปีข้างหน้า(ปี2560-2563) พร้อมทิศทางการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของคนร.และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของชาติด้วย

ขณะที่ปัจจุบันความเพียงพอของเงินกองทุนของธพว.อยู่ในระดับสูงกว่า 8.5% จำนวน 9,000 ล้านบาทซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเงินกองทุนรวมตามเกณฑ์บาเซล 2 ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ส่วนนโยบายบริหารสาขาปี 2560 แนวทางดำเนินนโยบายยังคงปริมาณสาขา จำนวน 55 แห่ง โดยมีการแบ่งสาขา 4 ขนาด(ตามศักยภาพของทำเลหรือพื้นที่) ตั้งแต่ขนาดเล็ก (S) กลาง (M) ใหญ่ (L , XL) พร้อมกำหนดเป้าหมายในการอำนวยสิเนเชื่อตามแต่ละขนาดของสาขา เช่น สาขา S อำนวยสินเชื่อวงเงิน 350 ล้านบาทต่อปี หรือ สาขา XL อำนวยสินเชื่อสูงสุด 1,200ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันจะมีพนักงานสินเชื่อประจำสาขาจะมีตั้งแต่ 3-8 คน(ไม่รวมพนักงานส่วนอื่น) โดยปีหน้าจะเน้นการโยกย้ายหรือปรับปรุงบางสาขา เพื่อให้ตั้งอยู่ในทำเลที่เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกกับกลุ่มลูกค้าในชุมชน เช่น โยกย้ายสาขาตาก ไปยัง แม่สอด เป็นต้น

สำหรับแผนขยายสินเชื่อในปี 2560 ยังเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับปีนี้ที่จำนวน 3.5หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 8% โดยคาดว่าสิ้นปีพอร์ตสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ริเริ่มกิจการหรือ กลุ่ม Start –Up และสินเชื่อขยายกิจการโดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อประมาณ 1หมื่นราย

แผนธุรกิจนั้นต้องลงในระดับผลิตภัณฑ์ กลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภท เช่น กลุ่ม Start –Up สัดส่วน 30% ที่จะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ และกลุ่มพลิกฟื้น

ด้านความคืบหน้ากฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนั้น นายมงคล กล่าวว่า ธพว.เริ่มอำนวยสินเชื่อจากสัญญาเครื่องจักรก่อน โดยอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 1,500 ล้านบาทเฉลี่ย วงเงิน 10 ล้านบาทต่อราย คุณภาพลูกค้ามีศักยภาพ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเน้นเครื่องจักรใหม่ เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการเพิ่มนวตกรรมและเพิ่มความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตที่สำคัญลูกค้าที่ลงทุนภายในปีนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559