‘อีอีซี’ เครื่องยนต์ใหญ่ ขับเคลื่อนประเทศ

08 ธ.ค. 2559 | 04:00 น.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์พิเศษ“ฐานเศรษฐกิจ”โดยระบุว่า ภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเข้ามารับหน้าที่เมื่อ 15เดือนที่ผ่านมา ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด

แต่ภารกิจอีก 1 ปีตามโรดแมปที่เหลืออยู่นั้น จะเร่งผลักดัน การปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ฉะนั้นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ภารกิจหลักคือ 1.ไม่ให้เศรษฐกิจทรุด แต่ก็ทำได้แค่นั้น จะคิดว่าเศรษฐกิจจะก้าวกระโดดได้นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะตัวเครื่องยนต์ที่ทำให้ส่งออก70% ของจีดีพี หายไปแล้ว เหลือแค่สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรภาวะแบบนี้ถือว่าด้อยค่า อีกตัวคือการใช้จ่ายภาครัฐ ก็ต้องบอกว่าความอืดของราชการยังมีอยู่ ส่วนเครื่องยนต์ลงทุน ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่มีใครสนใจ

ภารกิจที่ 2 คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะว่าโครงเศรษฐกิจมีปัญหา เพราะฉะนั้นวาระที่เข้ามาเกือบครึ่งปีเต็มๆต้องเน้นการเติม เพราะว่า 1.ไม่จำนำข้าว 2.ไม่ประกันรายได้ แล้วจะเอาอะไรมาเติม ในเมื่อไม่เอาทั้ง 2 ทางนี้ เลยต้องหาวิธีใหม่

“เมื่อผมเข้ามาในขณะนั้นต้องยิงทันที เพื่อพยุงเศรษฐกิจ การใช้กองทุนหมู่บ้าน หรืองบตำบลละ 5 ล้านบาทมาช่วยพยุงไว้ก่อน เมื่อเติมเสร็จแล้ว จึงได้เริ่มแผนขั้นต่อไปคือการประกาศ Reform หรือ การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ”

[caption id="attachment_118558" align="aligncenter" width="503"] สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์[/caption]

นายสมคิด อธิบายการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ ต้องรู้ว่าปฏิรูปเพื่ออะไร การปฏิรูปคือการสร้าง Balanc of Growth หรือความมีสมดุลของการเติบโต ข้างหนึ่งคือการอิงปัจจัยภายนอก คือการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว

อีกด้านหนึ่งคือการโตจากภายใน สร้าง Local Economy ภาคเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มให้ สร้างสินค้าชุมชุม สร้างท่องเที่ยวชุมชน สร้างแหล่งตลาดให้เกิดขึ้นมาด้านนี้เดิมทีไม่เคยมี มีแค่เกษตรและก็ด้อยค่า ไทยโตด้านนี้ตลอด

“ไม่ใช่แค่เราประเทศเดียวที่เป็นแบบนี้ จีน สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน เคยอยู่ในแทร็กนี้ทั้งนั้น โตเกิน 10% ตลอด แต่พวกนี้เขาสามารถต่อ Curve ใหม่ได้ เขาถึงได้ไปอีกขั้น ของเก่าๆก็มากลายมาอยู่ที่ไทย และก็ทำให้ไทยโตเอา โตเอา ตอนนี้ไทยอยู่ในแทร็คนั้นแล้วตรงนี้ถ้าไทยเขยิบไม่ออก เราก็ไปต่อไม่ได้”

 อีอีซีเขตเศรษฐกิจพลิกโฉมประเทศ

นายสมคิด กล่าวว่า เครื่องยนต์ตัวใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปอีกขั้น รัฐบาลจะโฟกัสไปที่ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor)หรือ อีอีซีที่ครอบคลุม กรุงเทพ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี รวมทั้งเขตเศรษฐกิจแค่ 3 แห่ง คือ สระแก้ว แม่สอด จังหวัดตาก และ สะเดา จังหวัดสงขลา

โดยเขตเศรษฐกิจที่แท้จริงที่จะดึงการลงทุนจริงๆ คือแหลมฉบังและมาบตาพุด ที่หัวใจของตรงนี้คือว่า มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มูลค่าเป็นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่ตรงนี้อยู่แล้ว ตัวนี้คือตัวผลิตวัตถุดิบสำหรับสินค้าไฮเทคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ พลาสติก โดยท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุดที่เป็นเฟส 2 และ เฟส 3จะไม่แค่เป็นท่าเรือรับสินค้าแล้วไปส่งออกอีกต่อไป แต่ต้องทำเป็นท่าเรือสำหรับทางเข้าและออกของ CLMV แบบเมืองรอตเตอร์ดัม ที่สหภาพยุโรป

“ตรงนี้แหละผมเดาใจถูก ญี่ปุ่นที่อยู่กับเราเพราะตรงนี้ พอดีไซน์เสร็จก็เรียกชื่ออีสเทิร์น อีโคโนมิกคอร์ริดอร์ จริงๆคือการต่อยอดจากแหลมฉบัง มาบตาพุด ไปสู่พื้นที่แถบนี้ทั้งแถบ และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา ที่สำคัญคือทำเรื่อง Digital Economy เมื่อคุณลงเคเบิลใต้น้ำตรงนี้ คุณไม่ต้องอ้อมไปที่สิงคโปร์ เราสามารถเป็นเนชั่นแนล เกตเวย์ ของเราเอง ลงทุน 5,000 ล้านบาท แล้วลงทุนอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านอีก 1.5 หมื่นล้านบาท”

นายสมคิด กล่าวว่า อีอีซี คือสิ่งที่ไทยจะบุก ถ้าไม่มีตัวนี้จะแย่จะถูกเวียดนามแย่งการลงทุน รัฐบาลทำเพื่อที่จะว่าทำตัวให้เป็นเพชร และการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นแบบนี้ จะเป็นโอกาสของเอเชียขณะที่ยุโรป ปีหน้าจะย่ำแย่ โอกาสจะแตกมีสูง อังกฤษไปแล้วหนึ่งราย ประเทศต่อๆไป เชื่อว่าไปแน่นอน ถ้ายุโรปไม่ล่มก็จะอ่อนแรง

“ผมมีเซนส์อย่างหนึ่งอังกฤษก็มาหาเรา โปรตุเกสก็มา ฝรั่งเศสก็มา เยอรมนีก็มา คือแย่งกันแล้ว ทางการเมืองยังอียูอยู่ แต่การค้าจะมาทีละประเทศ ฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ เอเชียแรงขึ้นมาได้ไม่ใช่เพราะว่าจีนอย่างเดียว มีอาเซียนด้วย ซัพพลายเชนที่รองรับการผลิตสินค้า สินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่นี่คือแอ่งเลย ไม่ว่าจะทำอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ก็จะอยู่ที่นี่”

“แอ่งนี้หัวใจอยู่ที่ไหนก็คือ เมนแลนด์ ก็คือ CLMV ฉะนั้นคุณต้องทำตัวของคุณเป็นเพชรของซีแอลเอ็มวี คือต้องมีสิ่งเหล่านี้ ดูเส้นทางคอนเนกทั้งหมด One Belt One Road ของจีนจะคอนเนกทั้งเหนือ ทั้งกรุงเทพฯระยอง ทะลุไปถึงเมียนมา ไปถึงอินเดีย เมื่อคอนเนกหมด ไทยก็คือเซ็นเตอร์”

รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนในเขตอีอีซี ทั้งรถไฟทางคู่ ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงจะมีการลงทุนแน่นอน แต่ยังไม่ต้องเร่งรีบ ต้องดูเวลาที่เหมาะสม เมื่อลงทุนแล้วประโยชน์จะต้องตกมาที่ประเทศไทย

“ที่เห็นเดินหน้า เดินหลัง อยู่อย่างนี้ เราก็อยากให้โฟลว์ ถามว่าเร่งใหม เราไม่เร่ง รีบทำไปเรามีแต่เสียเปรียบ ตอนนี้เรามีสินค้าวิ่งไปหาเขาใหม คำตอบคือไม่มี มีแต่ของจีนเข้ามา “เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ไม่ทำไม่ได้”

 คลัสเตอร์จังหวัดรับมือโลกอ่อนแอ

ส่วนของการกระตุ้นภายในนั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการสร้างจีดีพีระดับจังหวัด โดยการจับกลุ่มเป็นคลัสเตอร์จังหวัด ที่จะให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอโครงการขึ้นมา ซึ่งโมเดลนี้ประเทศจีนทำสำเร็จมาแล้ว

“จีนเจริญไม่ได้มาจากส่วนกลางทั้งหมด มีคลัสเตอร์จังหวัด 40 จังหวัด ทุกจังหวัดจะเป็นซัพพลายเชนต่อเนื่อง มีการผลิตข้างใน มีมหาวิทยาลัย มีการทำยุทธศาสตร์ภายใน มีงานวิจัย และมีตัวเปิดส่งออกที่ฮ่องกง กับมาเก๊า ไม่ได้มีโซนเดียว มีแยงซี กลุ่มเซี่ยงไฮ้5-6 จังหวัด มีแถบปักกิ่ง เทียนสิน ไฮเทคกลุ่มหนึ่ง มีหลายโซนส่วนกลางมีไว้สำหรับการลงทุนโครงสร้างใหญ่ๆ แต่กลุ่มเหล่านี้จะวางแผนว่าจะวางนิคมอุตสาหกรรมตรงไหน จะผลิตอะไร ท้องถิ่นจะเป็นยังไง รัฐบาลส่วนกลางคอยซัพพอร์ต”

สำหรับไทยคิดกันขึ้นมาจนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มเข้าใจ แต่มีงบประมาณน้อยมาก เพราะการเมืองไม่เอื้ออำนวย ทุกคนเก็บงบไว้ปีหน้าโลกไม่ดีแน่เศรษฐกิจโลกจะอ่อนแรง เราได้เตรียมรับมือแล้วได้หารือกับนายกรัฐมนตรี คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสริมเรื่องงบกลางปี แต่ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถให้เศรษฐกิจไปได้เป็นลำดับแรกงานจะต้องมาจากกลุ่มจังหวัด

"งบทั้งหมดให้นยโยบายไปว่า ต้องเป็นโปรเจ็ค และต้องไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว เรื่องสังคมด้วย”

 เหลือเวลา 1 ปีสำหรับปฏิรูป

นายสมคิด กล่าวว่า อีอีซี ยังไงก็ต้องเกิดแน่นอน แต่ถ้าจะให้มั่งคง ต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กฤษฎีกา ต้องเคลียร์กับมหาดไทย เรื่องผังเมืองที่ต้องระวัง กฎหมายออกมาคาดว่าจะเสร็จในธันวาคมนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นก็สบายใจ ที่ไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนไปตามการเมือง มีกฎหมายรองรับ ถึงแม้ไม่มีกฎหมายโครงการก็เดินอยู่แล้ว แต่ต้องมีเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

ฉะนั้นถ้าเคลื่อนอย่างนี้ก็จะเป็นBalanc Growth และการขับเคลื่อนโดยใช้ประชารัฐเดิน ทั้งหมดเหล่านี้จะทำให้เมืองไทยโตอย่างสมดุล

แต่ถ้าไม่ทำในขณะนี้เราตกขบวนแน่นอน สิงคโปร์วันนี้ ปลดคนงานจำนวนมาก เพราะเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง ถ้าไทยตกเวียดนามก็จะนำ บุคลากรเวียดนามเก่งกว่าไทย โดยเฉพาะไอทีและคณิตศาสตร์ ขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่กว่าเวียดนาม 2 เท่า แต่ถ้าเวียดนามโตได้ปีละ 7% แค่ 10 ปี ก็แซงไทยแน่นอน

“เราทำเพื่อเร่งยกระดับการปฏิรูป ไม่จำเป็นต้องรอ ต้องทำได้เร็ว อย่าลืมรัฐบาลเหลือเวลาอีก 1 ปี ตามโรดแมป ตามเนื้อผ้า จึงต้องทำให้เร็ว ใครมาใครไปจากนี้ก็แล้วแต่เขา”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559