รฟม.เตรียม2แนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว หากเจรจาภาระหนี้กับกทม.ไม่สำเร็จ

07 ธ.ค. 2559 | 14:19 น.
รฟม.เตรียม 2 แนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว หากเจรจาภาระหนี้กับกทม.ไม่สำเร็จ ส่วนกรณีเจรจา BEM เดินรถ 1 สถานีเตาปูน-บางซื่อ ชัดเจนปีหน้า หลังครม.ขยายระยะเวลาให้อีก 30 วัน ล่าสุดการประมูลสายสีชมพูและสีเหลืองมีลุ้นกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์เสนอขยายสายสีเหลืองจากสถานีรัชดาภิเษก-สถานีพหลโยธิน และสายสีชมพูเชื่อมเข้าไปยังเมืองทองธานี พร้อมโยนภาระเอกชนยื่นขออีไอเอเอาเอง

นายพีระยุทธ  สิงห์พัฒนากุล  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ว่า ในที่ประชุมบอร์ด รฟม.ได้มีการรายงานผลดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 สาย โดยสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 19-20% ส่วนการดำเนินการรื้อย้ายสะพานรัชโยธินขณะนี้ผู้รับเหมาได้ลงพื้นที่ดำเนินการแล้วหลังจากได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่าจะใช้เวลารื้อประมาณ 2 เดือน โดยจะแล้วเสร็จภายในมกราคม 2560  จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี

อย่างไรก็ตามรฟม.ได้เร่งรัดให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกรัชโยธินในแนวถนนพหลโยธินให้เร็วที่สุด คาดใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้และบรรเทาปัญหาจราจรระหว่างก่อสร้าง

ในส่วนสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการนั้น ขณะนี้งานวางระบบรางรถไฟฟ้าใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการทดสอบระบบ 1 สถานี(แบริ่ง-สำโรง)ได้ประมาณเดือนมีนาคม 2560 ส่วนปมปัญหากรณีเรื่องการโอนหนี้ระหว่างรฟม.และกรุงเทพมหานคร(กทม.)นั้น ภายในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการจัดการโอนหนี้ที่จัดตั้งโดยกระทรวงคมนาคม จะนัดรฟม.และกทม.ร่วมพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)ที่ได้ลงนามกันไว้แล้วนั้น

“ระหว่างนี้รฟม.ได้มีการเตรียมแผนรองรับกรณีหากการโอนหนี้ไม่สำเร็จ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่  1.รฟม.จะให้กทม.เช่าโครงสร้างรถไฟฟ้าในการเดินรถได้ และแนวทางที่ 2.รฟม.จะดำเนินการว่าจ้างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เดินรถเองเพื่อให้โครงข่ายต่อเนื่องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งนี้บทสรุปเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับคจร.เป็นผู้พิจารณา”

นายพีระยุทธ กล่าวไปต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ตามคำสั่งมาตรา 44 หลังรัฐบาลได้มีการขยายเวลา 30 วันในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ  ระหว่างคณะกรรมการร่วมฯ คือ คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 กับบีอีเอ็มนั้น การเจรจาส่วนใหญ่ใกล้เสร็จแล้วติ ดปัญหาการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนคาดว่าภายในวันที่ 16 ธันวาคมนี้จะสามารถสรุปผลการเจรจาเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโดยขั้นตอนต่อไปจะนำส่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)และสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ก่อนที่จะส่งต่อไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอครม.อนุมัติภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเร่งลงนามสัญญาต่อไป

“ส่วนการจ้างบีอีเอ็มเดินรถ 1 สถานี(สถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ) ก่อนเพื่อแก้ปัญหาขาดช่วงระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค/บางซื่อ-ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูนนั้นขณะนี้รฟม.ได้กำหนดรายละเอียดด้านการลงทุนวางราง การติดตั้งระบบโดยมีการศึกษาวงเงินลงทุนเดิมของคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปีพ.ศ.2535 ในส่วนของค่าวางรางและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน วงเงินลงทุน 693 ล้านบาท วงเงินค่าจ้างปีละ 52 ล้านบาท ระยะเวลา  2 ปีโดยไม่ต้องรอการเจรจาสายสีน้ำเงินยุติก่อนตามแนวทางเดิม ขณะนี้ รฟม.ได้รายงานให้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเสนอให้ครม.เห็นชอบภายในเดือนธันวาคมนี้หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอบอร์ดรฟม.ว่าจ้างบีอีเอ็มในการเดินรถ 1สถานี ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 เดือน ทดสอบเดินรถ 2 เดือน ภายในสิงหาคม 2560 จึงจะสามารถเปิดเดินรถได้”

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. (ด้านกลยุทธ์และแผน) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 กล่าวว่า ความคืบหน้าการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงมีนบุรี-แคราย และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรงนั้นขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ได้ทำการเปิดซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน(ซองที่2) โดยมีมีผู้ยื่นร่วมประกวดราคาจำนวน 2 รายระหว่าง กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  ผลปรากฎว่ากิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด คือการเสนอเงินสนับสนุนจากภาครัฐน้อยที่สุด

“ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเจราจรต่อรองซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนจึงจะทราบผลและราคา จากนั้นจะดำเนินการร่างสัญญาเสนออสส.พร้อมเสนอสคร.ในการสอบถามข้อคิดเห็นแล้วจึงจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมนำเสนอครม.อนุมัติแล้วลงนามสัญญาภายในเดือนเมษายน 2560  ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดซองที่ 3(ข้อเสนออื่นๆ) ที่นอกเหนือจากร่างสัญญาแล้วคณะกรรมการฯอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจจะเป็นกรณีที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์เสนอที่จะขอขยายเส้นทางสายสีเหลืองจากสถานีรัชดาไปยังสถานีพหลโยธิน หรือสายสีชมพูที่จะเชื่อมต่อไปยังอิมแพคอารีน่าเมืองทองธานีนั้น จะเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทานต้องไปศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) อย่างไรก็ต้องได้รับการอนุมัติจากครม.ก่อน ส่วนตัวเลขข้อเสนอนั้นรฟม.ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากจะต้องใช้ในการเจรจาต่อรอง ทั้งนี้ในส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แล้วจึงจะเสนอครม.อนุมัติภายในปีนี้ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสุดท้ายที่เสนออนุมัติภายในปีนี้”