4 ค่ายรถยักษ์ใหญ่ลุยสถานีชาร์จไฟฟ้า

07 ธ.ค. 2559 | 09:23 น.
บีเอ็มดับเบิลยู  ฟอร์ด มอเตอร์ ออดี้และปอร์เช่ จับมือพัฒนาระบบชาร์จพลังงานไฟฟ้าเร็วจัด Ultra-Fast ร่วมกัน เพื่อให้บริการตลอดแนวเส้นทางหลักในทวีปยุโรป

บีเอ็มดับเบิลยู  ฟอร์ด มอเตอร์ โฟล์คสวาเก้นกรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วย ออดี้และปอร์เช่ ลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่เพื่อการพัฒนาเครือข่ายการบริการสถานีชาร์จพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั่วทวีปยุโรป โดยมีจุดมุ่งหมายในการเร่งก่อสร้างเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จพลังงานให้สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ตลอดแนวเส้นทางหลักในการคมนาคมได้อย่างเพียงพอ

โครงการเครือข่ายสถานีชาร์จพลังงาน ultra-fast ได้รับการออกแบบพัฒนาให้สามารถบริการจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดถึง 350 กิโลวัตต์ ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลา ในการชาร์จพลังงานแต่ละครั้งลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการชาร์จที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ แผนการก่อสร้างมีกำหนดเริ่มดำเนินงานในปี 2017 ด้วยเป้าหมายเริ่มต้นประมาณ 400 สถานีในทวีปยุโรป และก่อนปี 2020 ผู้ใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าจะสามารถเข้าถึงสถานีชาร์จพลังงานในรูปแบบใหม่นี้ได้ด้วยจุดให้บริการที่มากกว่า 1,000 สถานี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จพลังงานที่รองรับการคมนาคมระยะทางไกลตลอดแนวทางหลวงและเส้นทางหลักทั้งหมด ตอบสนองอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ยานพาหนะ BEV ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปิดประสบการณ์ในการใช้บริการที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายไม่แตกต่างจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผู้ใช้รถทุกคนคุ้นเคยกันดี

เครือข่ายการให้บริการทั้งหมด ได้รับการจัดสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากมาตรฐานเทคโนโลยี Combined Charging System (CCS) ซึ่งกำหนดมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบชาร์จพลังงานครอบคลุมทั่วถึงทางด้านเทคนิคทั้งการชาร์จผ่านไฟฟ้ากระแสสลับ AC และไฟฟ้ากระแสตรง DC ในยานพาหนะที่ ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ยกระดับขีดความสามารถในการสำรองจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงในรูปแบบ DC fast charging จากกำลังไฟฟ้าสูงสุดถึง 350 กิโลวัตต์ ยานพาหนะ BEV ทุกคันในอนาคตจะได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมที่รองรับกำลังไฟฟ้าของสถานีชาร์จพลังงานดังกล่าว ส่งผลให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทุกยี่ห้อสามารถชาร์จพลังงานได้โดยใช้เวลาน้อยลงกว่าในปัจจุบัน เครือข่ายสถานีทั้งหมด ถูกกำหนดให้รองรับยานพาหนะทุกคันที่ติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐาน CCS ซึ่งเป็นข้อกำหนดเดียวกันกับรถยนต์แบบ BEV ที่จำหน่ายอยู่ในทวีปยุโรป