ต่างชาติหันสนใจลงทุนเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญแนะไทยแก้การศึกษา

07 ธ.ค. 2559 | 08:00 น.
ที่ปรึกษาด้านการลงทุนชี้ปัจจุบันไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนในสายตาต่างชาติไม่เท่าเวียดนามและอินโดนีเซีย แนะเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ และแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง

นายเดนนิส เมเซโรล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทร็กทัส เอเชีย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนจากต่างชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ถ้าประเมินจากลูกค้าของบริษัทในขณะนี้ ประเทศไทยมีความน่าสนใจในการลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม ซึ่งมีค่าแรงและต้นทุนการทำธุรกิจที่ถูกกว่า หรืออินโดนีเซียที่เป็นตลาดขนาดใหญ่มาก และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องของกับดักรายได้ปานกลาง

"ประเทศไทยมีค่าแรงสูงแต่ผลิตภาพไม่เทียบเท่ากับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าในบางตลาด บางอุตสาหกรรม ประเทศไทยจะยังมีความน่าสนใจในการเป็นแหล่งลงทุนของธุรกิจต่างชาติ แต่เวียดนามและอินโดนีเซียจะเห็นได้ชัดว่าบูมกว่า" นายเมเซโรลกล่าว

แทร็กทัส เอเชีย เข้ามาเริ่มทำธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลา 21 ปี โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนในการเปิดโรงงานหรือเปิดบริษัทในทวีปเอเชีย ลูกค้าส่วนใหญ่ของแทร็กทัสมาจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางบริษัทจะเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเลือกประเทศและวิถีทางในการลงทุน ปัจจุบันแทร็กทัส เอเชีย ขยายสำนักงานออกไปตามประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย

นายเมเซโรลกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจสำหรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เรื่องไฟฟ้าไม่มีปัญหา ค่าแรงไม่แพงจนเกินไป นอกจากนี้ เวียดนามยังมีความได้เปรียบเนื่องจากอยู่ใกล้กับจีนและมีการเชื่อมโยงของซัพพลายเชนที่สะดวก ถ้ามีชิ้นส่วนใดที่เวียดนามไม่ได้ผลิตเอง ก็สามารถนำเข้ามาจากจีนได้ง่าย อาทิเช่น การขนส่งทางรถบรรทุกจากเซี่ยงไฮ้ถึงฮานอยหรือโฮจิมินห์นั้นใช้เวลาเพียง 3 วัน แม้ว่าเวียดนามอาจจะยังมีจุดอ่อนเรื่องอุตสาหกรรมสนับสนุนไม่เข้มแข็ง แต่สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ทดแทนได้

ขณะเดียวกัน ถ้าข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี เกิดขึ้นได้สำเร็จ เวียดนามจะยิ่งมีความได้เปรียบเหนือไทยมากขึ้นอย่างมาก จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เวียดนามได้เปรียบไทยมากพอสมควรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เวียดนามอาจจะเสียโอกาสในส่วนนี้ไปเล็กน้อย เนื่องจากมีแนวโน้มว่าทีพีพีจะไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นายเมเซโรลแนะนำว่า ปัจจัยสำคัญในการชักจูงต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงประเทศไทย แต่ประเทศที่ต้องการชักจูงธุรกิจเข้ามาลงทุน คือต้องทำให้ง่าย ต้องเปิดให้คนเข้ามาลงทุนโดยไม่มีข้อจำกัด "ยิ่งทำได้ง่ายก็จะยิ่งดี ถ้ายุ่งยากไทยก็อาจจะเสียโอกาสเพราะประเทศอื่นง่ายกว่า"

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง แต่จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งจะต้องแก้ที่การศึกษา เมื่อค่าแรงสูงขึ้น บริษัทจะต้องเพิ่มมูลค่าของสินค้า แต่จะเพิ่มได้ต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะและความสามารถสูง ดังนั้นจึงต้องเน้นไปที่เรื่องของการศึกษา

นอกจากนี้ไทยยังเสียเปรียบหลายๆ ประเทศเรื่องภาษาอังกฤษ บริษัทที่ต้องการเข้ามาสร้างหน่วยงานที่เรียกว่า shared service center หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารองค์กร เช่น ทรัพยากรบุคคล อำนวนการ บัญชี จัดซื้อ เป็นต้น จะมองข้ามไทยไปเพราะคนไทยไม่คล่องในการใช้ภาษาอังกฤษ ในขณะที่อินเดีย สิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ ได้ส่วนแบ่งตรงนี้ไป แต่ไทยแทบจะไม่ได้อะไรเลย

"การจะดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามา รัฐบาลต้องดูภายในประเทศว่ามีข้อดีข้อเสีย จุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ถ้ามีจุดอ่อนรัฐบาลต้องมองว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เรื่องธุรกิจ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย ภาษี พอสิ่งเหล่านี้ดีธุรกิจก็จะเกิด" นายเมเซโรลกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่เข้าสู่เวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 105% ขณะเดียวกันข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า การยื่นขอส่งเสริมของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 136%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559