ธ.ก.ส.เตรียมแจกของขวัญปีใหม่ คืนดอกเบี้ยลูกหนี้ดีมกราคมปี 60

07 ธ.ค. 2559 | 13:12 น.
ลูกค้า 2.88 ล้านรายเตรียมเฮ ธ.ก.ส.จ่อคืนดอกเบี้ยให้ลูกค้าชั้นดี 30% ดีเดย์มกราคมนี้เดินหน้า 6 นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง รับมาตรการสินเชื่อชะลอขายข้าวได้ผล หลังราคาข้าวเปลือกหอมมะลิขึ้นไม่หยุด

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวถึงแนวทางดูแลเกษตรกรที่เป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 2.88ล้านราย หรือ 80% ของลูกค้า 3.6 ล้านรายว่า ธนาคารแบ่งเป็น 2กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เกษตรการที่ไม่มียอดค้างชำระธนาคารจะโอนเงินในสัดส่วน 30% ของดอกเบี้ยที่ธ.ก.ส.ได้รับคืนกลับเข้าบัญชีของลูกค้าทันที

กลุ่มที่ 2 เกษตรการที่ยังมียอดหนี้คงค้าง เมื่อมีใบแจ้งหนี้ไปถึง และเกษตรกรชำระหนี้ตามกำหนดธนาคารจะนำเงินในสัดส่วน 30% ของดอกเบี้ยที่ได้รับไปหักเงินต้นเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับลูกค้าทั้ง 2กลุ่ม แนวทางดำเนินงานสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าชั้นดีดังกล่าว เป็น 1 ใน 3 กลุ่มเป้าหมายของนโยบายดูแลภาระหนี้ของลูกค้าธ.ก.ส.ทั้งหมด

ส่วนกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ ธ.ก.ส.จะตัดหนี้เป็นหนี้สูญทั้งหมด ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีรายได้พอที่จะชำระหนี้จะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของเกษตรกร เช่น ปรับตารางการชำระหนี้ เป็น 3-5 ปี หรือ 7-8 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกค้า หรืออาจพิจารณาให้ชำระชำระเฉพาะดอกเบี้ย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ธนาคารเป็นห่วงคือกลุ่มลูกค้าที่ขาดความสามารถในการดูแลตัวเองมากที่สุด ดังนั้นแนวทางช่วยเหลือคือ การตัดหนี้สูญให้กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นวงเงินไม่สูงนักเฉลี่ยต่อรายมีมูลหนี้ประมาณ 1แสนบาทเท่านั้น จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อสถานะของธนาคารโดยในหลักการแก้ไขหนี้เกษตรกรทั้งระบบนั้น ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็ม 100% ก่อนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณารับทราบ

นอกจากนี้ในรอบปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ดำเนินงานภายในมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรหลายด้าน ทั้งพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร 2 ปี และลดอัตราดอกเบี้ย3% หลังจากที่ออกมาตรการดังกล่าว ในทางปฏิบัติพบว่า ความต้องการพักหนี้ของเกษตรที่จะเข้าโครงการดังกล่าวมีไม่มาก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงหน้าฝนจึงบรรเทาภัยแล้งไปในหลายพื้นที่

ส่วนโครงการประกันภัยข้าวนาปี สำหรับปีการผลิต2559/2560 คิดอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ และเกษตรกรชำระเบี้ยประกันภัย 40 บาทต่อไร่ หากเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธนาคารจะจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร โดยกรมธรรม์ประกันภัยนี้จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ คือ ภัยจากน้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยจำนวนเงินความคุ้มครองสำหรับ 6 ภัยแรก จำนวน 1,111 บาทต่อไร่ กรณีเกิดความเสียหายจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด จะได้รับการชดเชยที่ไร่ละ 555 บาทต่อไร่ มีเกษตรกรที่ทำประกันภัยราว 30 ล้านไร่

ธนาคารได้สำรวจความเสียหายพบว่า พื้นที่ที่ทำประกันภัยเสียหายน้อยกว่าที่คาด จึงคาดว่าค่าสินไหมที่จะจ่ายให้กับเกษตรกรน่าจะอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้อยู่ที่อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายจากภัยน้ำท่วม เมื่อสำรวจครบ 100% สินไหมรวมที่ธุรกิจประกันต้องจ่ายน่าจะไม่เกินหลักร้อยล้านบาท

ส่วนโครงการที่รัฐบาลช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวอีกไร่ละ 1,000บาท คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 3 หมื่น ล้านบาท และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสหกรณ์การเกษตรการต่างๆ เพื่อใช้ดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยว วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท และโครงการสินเชื่อภายใต้โครงการชะลอขายข้าวเปลือกหอมมะลินาปี ฤดูกาลผลิต 2559/2560 (สินเชื้อจำนำยุ้งฉาง) ธนาคารได้เตรียมงบไว้ 1 หมื่นกว่าล้านบาท จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกในตลาดได้อย่างตรงเป้าหมาย

เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกสำหรับข้าวหอมมะลิ 1 ตัน (เกวียน) ราคาได้ขยับขึ้นเป็นตันละ 7,000-8,000 บาท ขณะที่ปัจจุบันราคาตลาดรับซื้ออยู่ที่ตันละ 9,200-9,500 บาทแล้ว ธนาคารมั่นใจว่าหากเก็บไปอีกระยะแนวโน้มราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559