รถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต พลิกพื้นที่ทำเลทองบางซื่อสู่ฮับเออีซี

07 ธ.ค. 2559 | 04:30 น.
แม้ว่ารถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะล่าช้ามานานกว่า 1 ปีจากปมปัญหาสารพัด โดยเฉพาะเรื่องการปรับแบบรายละเอียดรองรับรถไฟความเร็วสูง ล่าสุดนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อที่จัดอยู่ในสัญญาที่ 1 โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีความล่าช้าของการรื้อย้ายท่อน้ำมันออกจากแนวก่อสร้าง และอยู่ระหว่างการเร่งรัดหลังจากที่เคลียร์ปมล่าช้าได้หมดสิ้นแล้ว

รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 จุดเริ่มโครงการเริ่มจากบริเวณแยกประดิพัทธ์ ห่างจากสถานีบางซื่อไปทางทิศใต้ประมาณ 1.8 กิโลเมตร แนวเส้นทางจะขึ้นไปทางทิศเหนือ ตามแนวเขตทางรถไฟในแนวเขตทางรถไฟสายเหนือ ผ่านพื้นที่เขตพญาไท จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง ไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี และในอนาคตมีแผนต่อขยายไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อีกด้วย

แนวเส้นทางมีระยะทางรวม 26.3 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นทางยกระดับเริ่มจากบริเวณแยกถนนประดิพัทธ์(กม.6+000) ไปถึงดอนเมือง(กม.25+232) ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร และลดระดับลงมาเป็นทางระดับพื้นดินเมื่อเลยสถานีดอนเมือง(กม.25+232) ถึงสถานีรังสิต(กม.32+350) ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร มีจำนวน 10 สถานี ประกอบไปด้วย สถานีกลางบางซื่อ จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก และสิ้นสุดโครงการที่สถานีรังสิต

สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตนี้แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ล่าสุดสัญญาที่ 1 ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 คืบหน้ากว่า 50% และขอขยายสัญญาจากปมปัญหาความล่าช้าออกไปอีก 34 เดือน โดยสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบไปด้วยสถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับจากกม.6+000 ถึง กม. 12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ย่านจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆเกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ ถนน สะพานยกระดับเข้า-ออกสถานีและระบบระบายน้ำ

สัญญาที่ 2 งานโยธา สำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต ประกอบไปด้วย 8 สถานี คือ วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก และรังสิต ทางรถไฟยกระดับจากกม. 12+201.700 ถึงกม. 25+232 และ กม. 29+230 ถึงกม. 31+700 และทางรถไฟระดับดิน จาก กม. 25+232 ถึงกม. 29+300 และกม. 31+700 ถึง กม. 32+350 ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ โดยได้ขอขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน งานวางรางขนาด 1 เมตร และระบบอื่นๆโดยภายในต้นปี 2560 สัญญาที่ 3 จะเริ่มเข้าไปติดตั้งได้แล้ว

นอกเหนือจากสถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีต้นทางของรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน แอร์พอร์ตเรลลิงค์ รวมถึงรถไฟขนาดทางมาตรฐานในอนาคตแล้วยังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางแห่งใหม่ของประเทศไทย จัดเป็นชุมทางรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ หากสามารถขยายเส้นทางต่อเชื่อมไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็จะสามารถเป็นศูนย์กลางการเดินทาง(HUB) ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการต้นปี 2563 นี้จากรังสิตรวดเดียวถึงตลิ่งชัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559