เพิ่มโทษนายจ้างใช้แรงงานเด็กผิดกฏหมายปรับหนักขั้นต่ำ 4 แสนบาท

06 ธ.ค. 2559 | 05:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพิ่มโทษนายจ้างใช้แรงงานเด็กไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นต่ำปรับ 4 แสนบาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ. .... แทนกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย สาระสำคัญที่ได้เพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้คือการเพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก 3 กรณีด้วยกัน กรณีแรกได้แก่อายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานเด็ก คือ การจ้างแรงงานเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงานในงานทั่วไป งานเกษตรกรรม, การจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 16  ปี ทำงานในงานขนถ่ายสินค้าทางทะเล และการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18  ปี ทำงานในงานประมงทะเล โดยอัตราโทษสำหรับความผิดดังกล่าวคือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000  บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

กรณีที่สองการจ้างให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานที่เป็นอันตราย เช่น งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ และกรณีสุดท้ายคือการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ต้องห้าม เช่น ทำงานโรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นพนัน สถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์น้ำ ในเรือประมงมีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ นอกจากนี้กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายหรือสถานที่ที่ห้ามเด็กทำจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตายนายจ้างจะได้รับโทษเพิ่มมากขึ้นคือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ้างเด็กเข้าทำงานเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และเป็นประโยชน์แก่เด็กที่ต้องการหาประสบการณ์หรือเรียนรู้ที่จะปรับตัวเมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ทั้งนี้การปรับอัตราโทษให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นการคุ้มครองเยาวชนอนาคตของชาติไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควรและการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการป้องปรามไม่ให้นายจ้างแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีความร้ายแรงกว่าการทำผิดกฎหมายแรงงานในความผิดอื่น ๆ  อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เป็นการจ้างแรงงานเท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้เด็กทำงานในครอบครัว