สนช.ร่วมวงชงยาแรงตั้งกติกาเข้ม ห้าม ‘นอมินี-คนนอก’ ครอบงำพรรคการเมือง

06 ธ.ค. 2559 | 00:00 น.
ข้อเสนอแนะที่ปรากฎในรายงานผลการศึกษาเรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อใช้เป็นข้อเสนอแนะประกอบการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น

“ฐานเศรษฐกิจ” สรุปสาระสำคัญบางประการที่น่าสนใจมานำเสนอ โดยในรายงานฉบับนี้มีหลายประเด็นที่เห็นแย้งกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 เริ่มตั้งแต่นิยามของคำว่า “พรรคการเมือง” จากเดิมระบุว่า พรรคการเมือง หมายถึง พรรคการเมืองต้องมุ่งส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งและมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นการส่งเสริมพรรคการเมืองให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

เสนอให้ใช้นิยามใหม่ พรรคการเมือง หมายถึง คณะบุคคลที่รวมกันจัดตั้งพรรค โดยได้รับจดแจ้งการจัดตั้งตามกฎหมายเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และมีการดำเนินกิจกรรทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มบุคคลตามอุดมการณ์ทางการเมือง แต่คงหลักการเดิมกรณีจัดตั้งพรรคว่า ต้องจัดตั้งได้ง่าย มีพัฒนาการต่อเนื่อง และยุบยาก

พร้อมเสนอแนะเรื่องการกำหนดจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง เห็นควรกำหนดจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองในอัตราก้าวหน้า เช่น ในหนึ่งปีแรกที่จัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกจำนวน 5,000 คน ปีที่ 2 ต้องมีสมาชิกเพิ่มเป็น 1 หมื่นคน ในปีที่ 3 ต้องมีสมาชิกเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นคน เป็นต้น

 เพิ่ม 2 ฐานความผิดเหตุยุบพรรค

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานผลการศึกษาฉบับนี้ ได้เพิ่มฐานการกระทำความผิดเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้อีก 2 ประเด็น คือ กรณีใช้ “นอมินี” มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค และกรณีการบริหารพรรค ต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามามีบทบาทชี้นำหรือครอบงำได้ หากกระทำ 2 ข้อดังกล่าวให้ถือว่า เป็นการกระทำที่เป็นปฏิบัติต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเหตุให้ต้อง “ยุบพรรค” ได้ ซึ่งเป็นหลักการเดิมของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กำหนดเหตุให้ต้องยุบพรรคดังกล่าว

นอกจากนี้ยังเสนอแนะด้วยว่า กรณีของพรรคเกิดใหม่ เมื่อผ่านช่วง 4 ปีแรกไปแล้ว หากยังไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ รัฐต้องมีกระบวนการทบทวนสถานะของพรรค หรือมีมาตรการในการจัดการพรรคเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ อาทิ ยกเลิก หรือยุบพรรคการเมืองนั้นไป รวมถึงพรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า ต้องส่งจำนวนเท่าใดในการเลือกตั้งแต่ละครั้งด้วย

  ยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จเพิกถอนสิทธิ

ในรายงานฉบับนี้ยังเสนอแนะให้มีมาตรการเพิ่มบทลงโทษ “กรรมการบริหารพรรค” กรณีจงใจฝ่าฝืนไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง อย่างไรก็ดี ควรกำหนดระยะเวลาการถูกเพิกถอนสิทธิ ทั้งยังเห็นว่า ควรกำหนดให้ชัดเจนด้วยว่า ศาลใดมีอำนาจในการพิจารณาการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ของกฎหมายในปัจจุบัน

ส่วนการบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองนั้น กำหนดให้บริจาคโดยตรงกับพรรคการเมือง โดยเห็นควรว่า ควรปรับปรุงอัตราการบริจาคให้สูงขึ้น เนื่องจากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2550 นั้น เป็นจำนวนที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้เสนอแนะให้รัฐจัดสรรเงินสำหรับพรรคการเมืองเป็นรายปี

โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นกำหนดว่า พรรคการเมืองต้องได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนไม่น้อยกว่า 0.5% ของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนรวมกัน หรือได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 0.5 % ของคะแนนเสียงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนได้รับในการเลือกแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ

แต่ไม่นำสัดส่วนจำนวนสาขาพรรคการเมืองและจำนวนสมาชิกที่ชำระค่าบำรุงรายปีมาคิดคำนวณในการจัดสรรดังกล่าว ส่วนพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ต้องหาสมาชิกให้ครบตามที่กำหนด ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว และต้องมีสมาชิกเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า จึงจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ

และกำหนดให้พรรคต้องจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (ก่อนการประชุมใหญ่ประจำปี) และจัดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเสนอชื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พรรคการเมืองแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบสัดส่วนในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของสาขาพรรคการเมือง และให้กำหนดบทลงโทษกรณีหากไม่ปฏิบัติตามเอาไว้ด้วยเช่นกัน

 ก.ม.พรรคควรแสดงถึงเสรีภาพ

นายทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง สนช. กล่าวสะท้อนความเห็นส่วนตัวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ต่อรายงานผลการศึกษาฉบับนี้ว่า สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ คือ

1.การจัดตั้งพรรคการเมือง ที่เห็นว่า ควรทำให้ง่ายขึ้น เช่น ควรลดจำนวนจาก 5,000 คนลง และค่าสมาชิกไม่แพงจนเกินไป ซึ่งอนุกมธ.การเมือง เห็นว่า การจดทะเบียนพรรคเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องรวบรวมคน หรือจัดตั้งองค์กร หรือต้องมีค่าสมาชิก ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งพรรคการเมืองในต่างประเทศที่ไม่ได้กำหนดเรื่องของการเสียค่าสมาชิก แต่ให้เป็นไปตามความประสงค์ หรือจิตศรัทธาของผู้สมัครมากกว่า

2.เรื่องกลไกการควบคุมพรรค นโยบาย และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ที่มีบทบัญญัติเอาผิดพรรคการเมืองเข้มงวด ซึ่งแตกต่างจากของต่างประเทศ ตัวอย่างที่สะท้อนชัดเจน อาทิ กรณีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่เวลาหาเสียงชูนโยบายเรื่องหนึ่ง ภายหลังได้รับเลือกมาเป็นประธานาธิบดีแล้วกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ส่วนตัวเห็นว่า ควรปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ หรือกรณีการควบคุมเอาผิดกับกรรมการบริหารพรรค คนที่เกี่ยวข้องมากโทษมาก เกี่ยวข้องน้อยโทษน้อย ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจตัดสิน การสืบทราบทำได้ยาก รวมถึงการให้อำนาจกับ กกต.จังหวัด กกต.เขต ซึ่งมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้ เป็นต้น”

3.การควบคุมการหาเสียง การจัดการให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากหลักการเดิม อาทิ ห้ามให้ข้อมูลเท็จ กล่าวส่อเสียดในการปราศรัย เป็นต้น

3.การควบคุมการหาเสียง การจัดการให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากหลักการเดิม อาทิ ห้ามให้ข้อมูลเท็จ กล่าวส่อเสียดในการปราศรัย เป็นต้น

สุดท้าย คือ อำนาจสอบสวนกับ กกต. เพื่อใช้ควบคุมพรรคการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก และจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎเราทราบกันดีว่า ปัจจุบันยังมีคดีที่ค้างกับ กกต.อยู่นับพันๆคดี บางคดีจนถึงวันนี้ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด ยังไม่ได้กล่าวถึง กกต.จังหวัดที่อาจถูกแทรกแซงจากนักการเมืองได้ เป็นต้น

ส่วนตัวมองว่า กฎหมายพรรคการเมือง ควรเป็นกฎหมายที่แสดงถึงเสรีภาพ ทำงานเพื่อประชาชน ไม่ควรวางกฎเกณฑ์เอาไว้เข้มงวด เพราะเรามีกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่แล้วหลายฉบับ อาทิ กรณีพูดส่อเสียดเวลาหาเสียงก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทคลุมอยู่

“กฎหมายพรรคการเมืองไม่ควรเป็นกฎหมายอาญาที่มุ่งเอาคนผิดไปลงโทษ แต่เป็นเรื่องของการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่สำคัญคือพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มองโดยรวมแล้วเห็นว่า เป็นกฎหมายที่แข็งกระด้าง” นายทวี ระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559