‘ทรัมป์’เปิดตัวว่าที่รมต.เศรษฐกิจ สื่อยกครม.ชุดใหม่ขึ้นแท่น‘รวยที่สุด’ในประวัติศาสตร์

05 ธ.ค. 2559 | 14:30 น.
นายโดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผยตัวบุคคลที่จะเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารมว.พาณิชย์และคลังจะเป็นนายวิลเบอร์ รอส และนายสตีเวน มนูชิน ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นนักธุรกิจและนักการเงินที่ประสบความสำเร็จ มีสินทรัพย์ในระดับมหาเศรษฐี จนสื่อต่างประเทศขนานนามครม.ของนายทรัมป์ว่า น่าจะเป็นคณะรัฐมนตรีที่รํ่ารวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

หนังสือพิมพ์ ลอส แองเจลิสไทมส์ รายงานว่าเมื่อครั้งประธานาธิบดี ดไวท์ ดี.ไอเซนฮาวร์ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปีค.ศ.1953-1961) แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจระดับเศรษฐี ครั้งนั้นครม.ของเขาเคยถูกเรียกขานว่า“เศรษฐีทั้ง 9 กับ 1 ช่างประปา” (ซึ่ง 1 ช่างประปาหมายถึงนายมาร์ติน พี. เดอร์กิน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมท่อประปาและท่อจักรกลโรงงานอุตสาหกรรม) แต่ภาพลักษณ์ครม.หุ้มทองดังกล่าวยังเทียบไม่ได้กับครม.ชุดใหม่ของนายโดนัลด์ทรัมป์ที่หลายตำแหน่งกำลังอยู่ในกระบวนการสรรหา แต่ที่ชัดเจนแล้วคือ นายวิลเบอร์ รอส นักลงทุนที่มีสินทรัพย์มูลค่ารวม 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 89,500 ล้านบาท (โดยการรวบรวมของฟอร์บส์) และเป็นผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนนายสตีเวน มนูชิน ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของวาณิชธนกิจโกลด์แมนแซคส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทการลงทุนดูนแคปปิตอลแมเนจเมนท์ และบริษัท วันเวสต์ แบงก์ กรุ๊ป ขณะที่ตัวนายทรัมป์เองจะเป็นประธานาธิบดีที่ร่ำรวยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา โดยนิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า โดนัลด์ทรัมป์ มีสินทรัพย์รวมที่ 4,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.61 แสนล้านบาท

ส่วนบุคคลอื่นๆที่ได้รับการเปิดเผยชื่อออกมาแล้วว่าน่าจะอยู่ในโผคณะรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน ได้แก่ นายท็อด ริกเก็ตส์ มหาเศรษฐีเจ้าของทีมเบสบอลอาชีพ “ชิคาโก คับส์” ที่คาดว่าจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางเบสซี เดอวอส มหาเศรษฐีพันล้านที่ชื่นชอบงานการกุศลและช่วยเหลือสังคม ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ สามีของเธอคือทายาทผู้ก่อตั้งบริษัทแอมเวย์ฯ

โรเบิร์ตสปิตเซอร์ อธิการบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐนิวยอร์คในเมืองคอร์ทแลนด์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 5 เล่ม ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ ที่ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งมหาเศรษฐีมารับตำแหน่งสูงๆในรัฐบาล อย่างในครม.ของประธานาธิบดีบารัก โอบามาเอง ก็มีนางเพนนีพริตส์เคอร์ นักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จระดับพันล้านดอลลาร์ฯมาเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การมีนักธุรกิจหรือนักการเงินระดับมหาเศรษฐีมาร่วมคณะรัฐมนตรีไม่ได้บ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาล ด้านนายทรัมป์เองย้ำว่าสถานะความร่ำรวยและการเป็นนักธุรกิจของเขากลับเป็นคุณสมบัติด้านบวกที่ทำให้เขาเหมาะสมกับตำแหน่ง

กระนั้น นักวิเคราะห์ยังไม่มั่นใจนักว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาจัดระเบียบให้กับชนชั้นมหาเศรษฐีเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกลางอย่างที่หาเสียงเอาไว้หรือไม่ แม้ล่าสุดนี้ นายสตีเวน มนูชิน ว่าที่รัฐมนตรีคลังจะออกมากล่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ผู้มีรายได้ระดับกลางจะได้รับการลดภาษีอัตราสูง ขณะที่ผู้มีรายได้สูงระดับ upper class แม้จะได้รับการลดภาษีบ้างแต่ก็นับว่าน้อยมาก และจะได้รับการลดหย่อนภาษีน้อยลงด้วย ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลจะลดจากอัตรา 35% ในปัจจุบันเหลือเพียง 15% ซึ่งจะเป็นจริงดังกล่าวหรือไม่ก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะในช่วงหาเสียงนั้น ทรัมป์ระบุว่า รัฐบาลของเขาจะสนับสนุนบรรยากาศการทำธุรกิจด้วยการลดภาษีซึ่งจะคิดเป็นมูลค่ารวมๆราว 6 ล้านล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่ากลุ่มใหญ่ๆที่จะได้ประโยชน์คือองค์กรธุรกิจและบรรดาผู้มีรายได้สูงมากกว่าชนชั้นกลาง

ฟากฝั่งเดโมแครตซึ่งกำลังจะพลิกบทบาทกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในเร็วๆนี้ วิจารณ์การเลือกนักการเงินและนักลงทุนในวอลล์สตรีทมาเป็นครม.ของนายทรัมป์ว่า การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายเศรษฐกิจอาจจะถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของบรรดานักการเงินในตลาด “ทรัมป์กลืนน้ำลายตัวเองที่เคยบอกว่าจะให้รัฐบาลปราศจากอิทธิพลของบรรดาองค์กรธุรกิจ” อลิซเบธวอร์เรน วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเสตต์ สังกัดพรรคเดโมแครตกล่าว ทั้งยังให้ความเห็นว่า การเลือกมนูชิน อดีตผู้บริหารโกลด์แมนแซคส์ มาเป็นรัฐมนตรีคลังน่าจะทำให้คนอเมริกันที่เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินครั้งที่ผ่านมา “เสียวสันหลังวาบ” แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันพากันชื่นชมการตัดสินใจเลือกบุคลมาร่วมครม.ของนายทรัมป์โดยระบุว่า ประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจและการเงินของบุคคลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและพลิกฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นเดียวกับผู้คนในแวดวงการเงินซึ่งรวมถึงนายเฮนรี พอลสัน อดีตซีอีโอโกลด์แมนแซคส์และรัฐมนตรีคลังสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่เห็นด้วยกับการเลือกนายมนูชินมาเป็นขุนคลังคนใหม่ โดยเขาระบุว่านายมนูชินมีความสามารถและมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559