วังสระปทุม ที่ประทับแรกบนผืนแผ่นดินไทย

05 ธันวาคม 2559
ย้อนไปราว 88 ปีก่อน ครอบครัวหนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเดินทางออกจากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สู่สยามประเทศดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน ที่ซึ่งเจ้าฟ้าองค์น้อยพระนาม “ภูมิพล” ยังไม่เคยเห็นแผ่นดินไทยมาก่อน

ณ ที่ดินซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนปทุมวันกับคลองแสนแสบ ที่ดินซึ่งเกิดขึ้นจากความมุ่งหวังของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีประราชประสงค์ให้พระราชโอรสมีที่ดินสร้างพระตำหนักของตนเอง จึงทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินบริเวณนี้พระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ที่ดินซึ่งโอบล้อมด้วยทุ่งนา ไร่ผัก และผลไม้ ได้รับการดูแลทุกตารางเมตรด้วยความรักและความเอาพระทัยใส่ยิ่งจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่แห่งนี้คือพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อครั้งเจริญพระชนมพรรษาได้ราว 1 พรรษาเศษ ทรงได้ใช้เวลาในวัยเด็กร่วมกับพระเชษฐภคินีและพระเชษฐาอย่างสนุกสนานในที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนอันแท้จริงของพระองค์

M32321507 วังสระปทุมเริ่มก่อสร้างในปี 2459 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดสรรพื้นที่และการก่อสร้างพระตำหนักริเริ่มขึ้นโดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งตัดสินพระทัยเสด็จออกมาประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง และมีพระประสงค์ที่จะปลูกพระตำหนักเพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร

ในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ทีม Weekender จึงขอนำเรื่องราวการก่อสร้าง “พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม” ซึ่งปัจจุบันอาคารซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความผูกพันของราชสกุล “มหิดล” นี้ได้พัฒนาสู่การเป็น “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ที่ซึ่งประชาชนชาวไทยจะได้เรียนรู้ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ผ่านช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ไปพร้อมๆ กัน

อาคารสีเหลืองเข้ม สไตล์ทัสคานี สูง 2 ชั้น แบ่งเป็นห้องต่างๆ ตามความเหมาะสมของการใช้งาน ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ ตรงกับคลองบางกะปิซึ่งแต่ก่อนถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงนำพระอัจฉริยะภาพด้านความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดีดำเนินการออกแบบและก่อสร้างร่วมกับ Mr.Paolo Remedi สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้รับราชการในกรมโยธาธิการสมัยรัชกาลที่ 6 สถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกแห่งนี้จึงได้รับการผสมผสานให้เข้ากับภูมิอากาศของประเทศไทยอย่างลงตัว

มิใช่เพียงเราเท่านั้นที่คิดว่าสถาปัตยกรรมในช่วงรัชกาลที่ 5 จะต้องทาด้วยเหลืองนวลหรือสีไข่ไก่อันเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น แต่หลังจากที่กรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะอาคารโบราณหลายหลัง รวมถึงพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุมแห่งนี้ พบว่าสีแรกเริ่มของอาคารแต่ละแห่งนั้นล้วนใช้สีโทนสว่าง อาทิ สีเหลือง สีเขียว สีพีช สีแดง เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผลของการใช้สีในอาคารก่ออิฐถือปูนยุคเริ่มต้นนั้น เห็นว่าน่าจะใช้หลักการเดียวกับการใช้สีของแคว้นทัสคานีที่สีสว่างจะทำให้อาคารไม่อมความร้อน เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยที่มีแดดค่อนข้างแรง

M32321506 อาจารย์นัท – จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธนา วิทยากรผู้มีเรื่องเล่าทุกย่างก้าว เล่าให้ฟังว่า การปลูกอาคารใหญ่บนที่ลุ่มของคนไทยสมัยก่อนไม่มีการตอกเสาเข็มแต่จะใช้ท่อนซุงมาขัดกัน ใช้โอ่งใบใหญ่มารองที่ฐาน สำหรับพระตำหนักใหญ่วังสระปทุมนั้นถือเป็นอาคารกลางทุ่ง สร้างบนผืนดินที่อุ้มน้ำและยังเป็นที่ดินติดลำคลองสำคัญหลายสายทั้งคลองอรชรและคลองแสนแสบ ฐานของอาคารจึงเป็นโครงเรือขนาดใหญ่ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ด้านล่างเพื่อให้ตัวอาคารสามารถปรับระดับได้เล็กน้อยเมื่อน้ำใต้ดินสูงขึ้น ส่งผลให้ตัวอาคาร ซึ่งมีความกว้าง 22 เมตร ยาว 40 เมตร และสูงจากพื้นดิน 13.50 เมตรหลังนี้มีห้องใต้ดินจากโครงเรือที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเคยใช้เป็นที่หลบภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เล่ากันว่าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงใช้ไม้ขีดไฟบ้าง หางพลูบ้าง ทำเป็นผนัง คิดผังพระตำหนักด้วยพระองค์เอง สำหรับเครื่องเรือนต่างๆ นั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเลือกแบบและสั่งซื้อจากห้าง Maple & Co. ในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีเพื่อให้สมพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งรัชกาลที่ 5 แต่เครื่องเรือนของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในห้องส่วนพระองค์นั้น พระองค์ทรงให้ช่างฝืมือชาวไทยเป็นผู้จัดทำให้ทั้งหมด แต่ยังคงเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่สง่างามตามแบบสากลและอบอุ่นแบบไทยแท้ ซึ่งสามารถชมได้ที่ห้องมุมซ้ายสุดบนชั้น 2 ของพระตำหนัก

ในชั้นที่ 1 ของพระตำหนักใหญ่ เมื่อก้าวจากบันไดหินก่อนขาวสะอาด ผ่านโอ่งบัวและดอกแก้วต้นใหญ่ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน ด้านซ้ายมือจะพบกับห้องพิธี ซึ่งเดิมใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ ปัจจุบันห้องนี้จัดแสดงโต๊ะเสวยขนาด 8 ที่นั่ง ประดับด้วยจานพอร์ซเลนเนื้อดี เล่นสีขอบจานด้วยสีชมพูกุหลาบมีตราสัญลักษณ์ ส.ว. อยู่ทุกใบ เคียงด้วยชุดช้อน - ส้อมเนื้อดีหลายชิ้น พร้อมด้วยแผ่นโลหะที่สลักเมนูอาหารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 วางประดับให้เราได้ชื่นชมอีกด้วย

M32321505 ห้องถัดมาเป็นห้องรับแขกโดดเด่นด้วยภาพพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ชุดเก้าอี้ไม้แกะสลักถือแบบเดียวกับเฟอร์นิเจอร์พระราชนิยมในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ผ้าทอลายกุหลาบนูนต่ำ 2 มิติที่ปรากฎแก่สายตาในปัจจุบันได้รับการถอดลายมาจากภาพถ่ายเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงพระเยาว์ และสั่งทำขึ้นมาอีกครั้งจากร้านทอผ้าในประเทศฝรั่งเศส

ตรงช่วงสุดทางเดินก่อนขึ้นบันไดไปชั้นที่ 2 ของพระตำหนัก จุดนี้จะได้ชมความงามของ “ผ้าปักลายนกกะเรียน” ที่งดงามทรงคุณค่าข้ามผ่านกาลเวลานับศตวรรษ แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถด้านงานเย็บปักถักร้อยของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอันเป็นที่พระจักษ์ในวังหลวง จนมีการตั้งโรงทอสวนหงษ์ขึ้นในพระราชวังดุสิต ทั้งยังเป็นงานที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาใช้สร้างรายได้เลี้ยงข้าราชบริพารเรื่อยมา

M32321508 บริเวณชั้น 2 ของพระตำหนักซึ่งเป็นพื้นที่ประทับส่วนพระองค์ ณ จุดนี้ผู้เข้าชมจะได้มีโอกาสยลห้องบรรทมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ตกแต่งด้วยโทนสีเทา กลางห้องคือพระแท่นบรรทมขนาดหนึ่งพระองค์ ถัดจากแท่นบรรทมไปนั้นมีประตูบานเล็กซึ่งเชื่อมกับห้องทรงพระอักษร ห้องทรงพระสำราญ และห้องบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พื้นที่เฉลียงด้านบนของพระตำหนักนี้ ยังปรากฏเป็นภาพประทับในห้วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรส กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระพันวัสสาฯ ได้พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และทรงเจิมพระนลาฏแด่ทั้ง 2 พระองค์ ณ พระที่นั่งสีเขียวราบไปกับพื้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดพื้นที่แสดงไว้ ณ ตำแหน่งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านมากว่า 66 ปีก็ตาม

M32321502 อีกหนึ่งความประทับใจที่พลาดไม่ได้และสะกดให้เราใช้เวลาอยู่ที่นี่นานที่สุดคือ “ห้องนิทรรศการ” นอกจาก “เจ๊กตู้” ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ทรงโปรดมากแล้ว ที่นี่ยังมีเรื่องราวจากจดหมายของลูกชายเขียนถึงผู้เป็นมารดา เล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่เขารักและอธิบายถึงความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงเพื่อให้มารดา เห็นใจ เข้าใจ และรับผู้หญิงที่เขารักและห่วงใยยิ่งเป็นภรรยา ซึ่งผู้หญิงที่กล่าวถึงในจดหมายเขียนด้วยลายมือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย

M32321503 เนื่องด้วยวังสระปทุมเป็นที่พระทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การเปิดให้เข้าชมจึงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระตำหนักใหญ่วังสระปทุม จึงเปิดให้บริการเพียง 103-104 วันต่อปีเท่านั้น ในปีนี้พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม จะเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2559 - 31 มีนาคม 2560 ในวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 10.00 - 15.00 น. (เว้นวันอาทิตย์) ท่านผู้สนใจเข้าชม สามารถจองรอบเข้าชมได้ที่เบอร์ 02 2521965-67 ในวันและเวลาราชการ ค่าบริการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ผู้ใหญ่ท่านละ 150 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา ท่านละ 50 บาท สำหรับการการแต่งกายในการเข้าชมนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ขอให้ผู้เข้าชมสวมชุดไว้ทุกข์ สวมเสื้อมีแขน สตรีสวมกระโปรง บุรุษสวมกางเกงขายาว รองเท้าสุภาพ และสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.queensavang.org

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559