‘ลัดน้ำ’ เพื่อปวงประชาที่ ‘คลองลัดโพธิ์’

05 ธันวาคม 2559
คลองลัดโพธิ์เป็นคลองขุดที่มีอายุยาวนานกว่า 300 ปี ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยขุดบริเวณคอคอดทั้ง 2 ของแม่น้ำเจ้าพระยา ในแนวเหนือและใต้ของคุ้งน้ำเดิมมีชื่อเรียกว่า “ปากลัด” ใช้ลัดเส้นทางสัญจรช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อม ปากคลองอยู่บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนปลายคลองอยู่ในพื้นที่ตำบลบางยอ ในอดีตคลองลัดโพธิ์เป็นทั้งเส้นทางสัญจรทางเรือของชาวบ้านและนำน้ำมาใช้เพื่อการเพาะปลูก แต่บางครั้งเกิดประสบปัญหาการรุกของน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุน

สอดรับกับความเห็นของชาวบ้านในท้องถิ่นพระประแดงที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในฤดูน้ำหลากไม่สามารถปลูกพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรได้ เมื่อพัฒนาด้านการเกษตรไม่ได้ จังหวัดสมุทรปราการจึงแปรเปลี่ยนไปเมืองอุตสาหกรรม มีการตัดถนนเชื่อมโยงผ่านคลองลัดโพธิ์ดังกล่าว เศษกิ่งไม้และซากสิ่งของที่ไม่จำเป็นถมลงไปยังในคลอง ส่งผลให้คูคลองต่างๆ ขาดการดูแลจนมีสภาพตื้นเขินขาดเส้นทางระบายน้ำ กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และมีระยะเวลาการท่วมขังที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบายน้ำได้ช้าลง

ประกอบกับจังหวัดสมุทรปราการมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ติดกับทะเล ทำให้พื้นที่ในจังหวัดโดยเฉพาะบริเวณอำเภอเมืองได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมอยู่เสมอ เมื่อการระบายน้ำลงสู่ทะเลล่าช้า ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยลำน้ำเจ้าพระยาที่คดเคี้ยว ได้แก่ตำบลทรงคนอง บางยอ บางกระสอบบางน้ำผึ้ง บางกระเจ้า และบางกอบัว ที่มีลักษณะทางกายภาพจำเพาะเรียกว่า “กระเพาะหมู” นั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งใหญ่ใน ปี 2538

โครงการคลองลัดโพธิ์ ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม และสะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการจราจรบริเวณกรุงเทพฯ ด้านใต้ต่อเนื่องไปถึงจังหวัดสมุทรปราการในคราวเดียวกัน ด้วยการจัดสร้างเส้นทางในการ “ลัดน้ำ”จากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ทะเล และ “ลัดทาง”จากบริเวณอำเภอพระประแดงและเขตอุตสาหกรรมสมุทรปราการสู่กรุงเทพฯซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพฯ และเติมเต็มระบบโครงข่ายถนนวงแหวนที่ได้พระราชทานไว้ก่อนหน้านี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นายจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ในขณะนั้นเล่าว่า “ก่อนจะมาเป็นคลองลัดโพธิ์ตั้งแต่ปี2526ในหลวงรัชกาลที่ 9ได้เสด็จพระราชดำเนินออกตรวจพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งทรงรับสั่งถึงปัญหาน้ำท่วมและทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่แก้น้ำท่วมอย่างเดียวแต่ต้องมีการบริหารจัดการตลอดฤดูน้ำหลังน้ำท่วมก็ต้องพิจารณาเก็บน้ำสำหรับฤดูแล้งด้วย ต้องละเอียด มีกรอบในการทำงานที่ชัดเจน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯทรงอธิบายสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาว่ามีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บางกะเจ้าซึ่งมีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร ทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้าไม่ทันกาลเมื่อน้ำทะเลหนุน พระองค์ทรงพระราชดำริให้ยึดหลักการ “เบี่ยงน้ำ” คือย่นระยะทางในการระบายน้ำลงสู่ทะเลเวลาที่น้ำทะเลลด และปิดกั้นน้ำทะเลเข้าพื้นที่เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง โดยใช้ประโยชน์จากคลองลัดโพธิ์เดิม ซึ่งมีความตื้นเขินเพียง 1-2 เมตร เพื่อใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลให้ทันในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลให้ลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งจนถึงเวลาน้ำลงก็เปิดประตูระบายน้ำออกทางคลองลัดโพธิ์จะทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้

โครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งสามารถลดระยะทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตรให้เหลือเพียง 600 เมตรรวมทั้งลดเวลาเดินทางของน้ำจาก 5 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 10 นาที ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยลดผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งในกรุงเทพฯและปริมณฑลจากสภาวะน้ำเหนือไหลหลากได้เป็นอย่างดี

สำหรับประโยชน์โดยรวมที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้รับจากโครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น คือการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก ทั้งนี้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ยังทำหน้าที่“หน่วงน้ำเค็ม” เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงให้วิ่งอ้อมพื้นที่กระเพาะหมู บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่น้ำเค็มรุกจึงสามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้เจริญเติบโตในมิติของการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ซึ่งถือได้ว่า คลองลัดโพธิ์ คือ ส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ทั้งประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559