'ภูมิพล'เขื่อนของพ่อ

05 ธันวาคม 2559
"...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..."พระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529

จากเจ้าชายพระองค์น้อยที่นิยมเล่นสร้างเขื่อน สู่พระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่มีท้องพระโรงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ท้องพระโรงที่ห้อมล้อมไปด้วยประชาชนของพระองค์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ”

การเสด็จฯ ออกจากพระราชวังที่แวดล้อมไปด้วยความสมบูรณ์ในทุกด้าน สู่พื้นที่ห่างไกลที่เต็มที่ด้วยความทุรกันดารและปมปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่มีทางออก การเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรในทุกพื้นที่บนผืนแผ่นดินไทยทำให้พระองค์เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ต้นทางของความกินดี อยู่ดี ของราษฎรในแผ่นดิน

ภาพที่พสกนิกรเห็นจนคุ้นตาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯเสด็จฯไปในท้องถิ่นทุรกันดาร คือ ทรงถือแผนที่ปึกหนา ซึ่งท่านองคมนตรีสวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตอธิบดีกรมชลประธานและกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เผยถึงความรู้สึกและความทรงจำที่ดีครั้งรับพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตอนหนึ่งว่า “จะไม่มีผู้ใดถือแผนที่ปึกนี้แทนพระองค์ท่านอย่างเด็ดขาด นอกจากอาจจะช่วยจับเวลาตอนพระองค์ทรงคลี่ดู แผนที่นี้เราเรียกกันว่า แผนที่ (มาตราส่วน) หนึ่งต่อห้าหมื่น (1:50,000) หมายความว่า ระยะ 2 เซนติเมตรในแผนที่ คือ ระยะ 1 กิโลเมตร ตารางสี่เหลี่ยมในแผนที่ 2X2 เซนติเมตร คือพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร สร้างขึ้นจากภาพถ่ายทางอากาศ มีเส้นบอกพิกัด และระดับความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นตัวเลขมีเครื่องหมายบวกด้านหน้า ในพื้นที่สูงขึ้นเป็นภูเขา จะมีเส้นบอกระดับทุก 20 เมตรที่ความสูงเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นบริเวณภุเขาสูงชัน เส้นบอกระดับจะอยู่ติดกันดำเป็นพืด เมื่อความลาดชันลดลง เส้นบอกระดับก้จะค่อยๆ ห่างออก นายช่างชลประทานจะใช้แผนที่นี้ในการวางโครงการชลประทานเบื้องต้น โดยอ่านระดับความสูงของหุบเขา คำนวณพื้นที่รับน้ำแล้วคูณด้วยตัวเลขฝนเฉลี่ย จะได้ปริมาณน้ำเฉลี่ยต่อปี แล้วนำมาพิจารณาว่า ควรจะสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำตรงจุดใด ได้น้ำประมาณเท่าใด ส่งไปช่วยพื้นที่เกษตรจำนวนกี่ไร่ ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาพอสมควร”

M30321501 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงใส่พระราชหฤทัยในปัญหาเรื่องน้ำและการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งทรงมุ่งขจัดปัญหาความแห้งแล้งในดินแดนที่ราษฎรดำรงชีพด้วยการเกษตรอย่างจริงจัง การจัดการทรัพยากรน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีหลักและวิธีการที่สำคัญ ๆ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละท้องที่เสมอ และการพัฒนาแหล่งน้ำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นจะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม และหนึ่งในประจักษ์พยานความทุ่มแทสร้างแหล่งน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตชาวไทยอย่างยั่งยืน คงความแข็งแกร่งท่ามกลางขุนเขาสูงมากว่าครึ่งศตวรรษก็คือ “เขื่อนภูมิพล”

“เขื่อนภูมิพล”เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทยเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง ตั้งอยู่ในอำเภอสามเงา สร้างขึ้นเพื่อกั้นลำน้ำปิง บริเวณเขาแก้ว เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2496 สร้าง แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2507 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “เขื่อนภูมิพล” เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม พ.ศ.2500

ระหว่างการดำเนินการสร้างเขื่อนภูมิพลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มายังจังหวัดตาก เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร์และทอดพระเนตรกิจการเขื่อนภูมิพลโดยตลอด ด้วยภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เนินสูง มีพื้นที่ราบน้อย ทำให้เส้นทางคมนาคมทางรถยนต์ในพื้นที่จังหวัดตากไม่สะดวก แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯในการเสด็จฯ จังหวัดตากหลายครั้งทำให้เส้นทางการคมนาคมของจังหวัดดีขึ้น

M30321502 จากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วยงานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้าซึ่งได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1-2 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม และ 15 มิถุนายน 2507 ตามลำดับ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507 ต่อมาได้มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 3-6 กำลังผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ และเครื่องที่ 7 กำลังผลิต 115,000 กิโลวัตต์

เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกไปในปี พ.ศ.2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการปรับปรุงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องที่ 1-2 ทำให้มีพลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเครื่องละ 6,300 กิโลวัตต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 และ พฤศจิกายน 2536 ตามลำดับส่วนการปรับปรุงเครื่องเครื่องที่ 3-4 มีการปรับปรุงกำลัง ผลิตเท่ากันกับเครื่อง ที่ 1-2 แล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และสิงหาคม 2540 ตามลำดับ

ทั้งนี้ในปี 2534 กฟผ.ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 แบบสูบกลับ ขนาดกำลังผลิต 171,000 กิโลวัตต์ และก่อสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือน มกราคม 2539 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนภูมิพลมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 779.2 เมกกะวัตต์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 สามารถ และให้ประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ ต่อปี อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดแหล่งสำคัญของประเทศไทยอีกด้วย

เขื่อนภูมิพลนับป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ก่อเกิดประโยชน์ในหลากหลายด้าน เชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์ ก่อเกิดโครงข่ายด้านการคมนาคมที่ทันสมัยอันนำมาสู่การเติบโตในด้านการท่องเที่ยว สร้างวิชาชีพต่างๆ ส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกและความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดียิ่งขึ้น ถือได้ว่ารอยพระบาทของพระองค์ที่ก้าวย่างไปนั้น สร้างพลังให้กับแผ่นดินในทุกหย่อมหญ้า น้ำทุกหยดในเขื่อนภูมิพลดุจเปรียบได้ดั่งน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ที่เป็นดั่งน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงปวงชนชาวไทยให้มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

“...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ.กล่าวคือ เมื่อปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสม แก่การเกษตรการอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง. แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้วเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง...“พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The Third Princess ChulabhornScience Congress (P C III) เรื่อง “น้ำและการพัฒนา :น้ำเปรียบดังชีวิต” ณ โรงแรมแชงกรี-ลา วันที่ 11 ธันวาคม 2538

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559