ภูมิพลอดุลยเดช พลังของแผ่นดินอำนาจที่หาใดเปรียบได้

05 ธันวาคม 2559
“ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย”

MP29-3215-B โทรเลขฉบับสำคัญจากสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ส่งตรงจากรัฐแมสสาชูเส็ตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงวังสระปทุม ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)

ในวันนั้นตรงกับเช้าวันจันทร์ในฤดูหนาว ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ นพศกจุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 เวลา 08.45 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ตรงกับเวลา 20.45 น. ในประเทศไทยดร.ดับบลิว สจ๊วต วิตต์มอร์ (Dr. W. Stewart Whittemore) นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติได้บันทึกพระนามลงในสูติบัตรว่า “Baby Songkla”น้ำหนัก 6 ปอนด์ 9 ออนซ์ สุขภาพสมบูรณ์มารดามีอาการปกติ

ดินแดนแห่งเสรีภาพ ทารกผู้มีนามว่า “สงขลา” เป็นที่รู้จักในฐานะบุตรชายของมิสเตอร์มหิดล สงขลา (Mr.MahidolSongkla) นักศึกษาแพทย์ชาวสยามซึ่งกำลังศึกษาวิชากุมารเวชศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับมิสซิสสังวาลย์ตะละภัฏ (Mrs.SangwanTalaphat) นักศึกษาวิชาการพยาบาลชาวสยามของมหาวิทยาลัยซิมมอนด์ ซึ่งชาวอเมริกันน้อยคนนักจะทราบฐานะที่แท้จริงของครอบครัวสงขลา แต่สำหรับประเทศสยาม ดินแดนที่อยู่ห่างออกไปเกือบครึ่งโลก ทารกน้อยผู้นี้จะถูกกล่าวถึงในฐานะสมาชิกของพระราชวงศ์จักรี เพราะทรงเป็นพระโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งประสูติจากหม่อมสังวาลย์ (สกุลเดิม “ตะละภัฏ”) โดยมีศักดิ์เป็นพระราชภาติยะ (หลานอา) ของพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นรัชทายาทองค์ที่ 3 ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์

MP29-3215-E จากโทรเลขฉบับสำคัญ สู่การตั้งพระนามซึ่งมีความหมายยิ่งของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศในกาลต่อมา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ซึ่งทรงมีฐานะเป็น “สมเด็จป้า” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบและขอพระราชทานพระนามตามราชประเพณี และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามรัชทายาทซึ่งถือฤกษ์ประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ว่า “ภูมิพลอดุลเดช”

MP29-3215-F ดังปรากฏลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าที่มีไปถึงหม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล ฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ปรากฏความว่า

“ด้วยพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามหลานชายแล้วชื่อ ภูมิพลอดุลเดช ฉันไปเฝ้าเยี่ยมเมื่อเวลาคืนนี้ ฉันกราบบังคมทูลว่า ลูกแดงอยากได้เร็วจนถึงสั่งให้ส่งโทรเลขไปให้วันนี้ ทรงลายพระราชหัถเป็นหนังสือฝรั่ง พระราชทานมาด้วย ฉันจะคัดไปให้เกรงจะพลาดผิดไป โดยมือไม่เคยเขียน ได้ส่งพระราชหัถมาในซองนี้ด้วย ให้ส่งโทรเลขไปให้เสียวันนี้”

เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระโอรส พระธิดา ในสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งพระชนนีทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จ ซึ่งพระมารดามิได้เป็นเจ้าขึ้นดำรงพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ไว้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ดังนั้นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ที่ประสูติใหม่ จึงมีพระนามอย่างเป็นทางการตามพระสกุลยศว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช”ในทันที

หนังสือเจ้านายเล็กๆ -ยุวกษัตริย์ ได้ระบุถึงพระนามไว้ว่า คำว่า “อดุลเดช” นั้นสะกดไม่เหมือนกับในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเขียน “อดุลยเดช” อันที่จริงพระนามของทูลกระหม่อมเริ่มเขียน “อดุลเดช” แต่ต่อมาได้มีการเขียนทั้ง 2 แบบ กลับไปกลับมา และในที่สุดในสมัยนี้นิยมใช้แบบที่ 2 คือ “อดุลยเดช”

MP29-3215-C จาก...เจ้าชายพระองค์น้อย เส้นทางสายพระโลหิตดุจเทวารังสรรค์ สู่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” สายตรงของพระมหากษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ และพระอัจฉริยภาพในทุกด้าน อันมีที่มาจากภูมิหลังที่ทรงได้รับแบบอย่างและการอภิบาลเลี้ยงดูจากสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีในการเสริมสร้างพระปรีชาสามารถให้ปรากฏเด่นชัด และเป็นหนึ่งในพระราชจริยวัตรอันงดงามประทับในดวงจิตของผองพสกนิกรชาวไทยเรื่อยมา

“ฉันไม่ต้องการให้เธอมีความรู้ทางแพทย์เพียงอย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย” พระราชดำรัสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้มิทรงเป็นเพียงนายทหารเรือ เป็นแพทย์สมัยใหม่ แต่ยังทรงเป็นอาจารย์แพทย์ที่เคร่งครัดและรักษาความแม่นยำทางการปฏิบัติ เคียงคู่กับจิตวิญญาณการเป็นผู้รักษาที่ปรารถนาให้ราษฎรไทยมีสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มิเพียงเท่านั้นพระองค์ยังโปรดการวาดภาพสีน้ำและการวาดภาพลายเส้นเป็นพิเศษ ทรงโปรดการแทรกภาพประกอบที่เป็นภาพลายเส้นฝีพระหัตถ์ไว้ในสมุดบันทึกประจำวัน และทรงส่งภาพเขียนฝีพระหัตถ์มาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมาตุจฉาเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์อยู่เนืองๆ หนังสือเรื่อง “อัจฉริยราชา” ได้ระบุไว้ว่าความสนพระทัยของสมเด็จพระบรมราชชนกในงานศิลปะนั้นมิใช่เพียงการทรงงานอดิเรก ด้วยทรงเคยปรารภกับทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ในขณะนั้นว่า มีพระประสงค์จะเปลี่ยนจากการเรียนวิชาการทหารมาเรียนทางด้านศิลปะ แต่เมื่อเป็นหน้าที่ ก็ทรงทำอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง นอกจากนี้ขณะทรงเข้าเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) ทรงได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบเรือดำน้ำอีกด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะมิได้ปรากฏเฉพาะในสมเด็จพระบรมราชชนกเท่านั้น แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านนี้เช่นกัน ดังปรากฏในการถ่ายภาพที่โปรดการใช้เทคนิคที่แปลกใหม่ อาทิ การถ่ายภาพซ้อน (Double exposure) ทั้งยังโปรดการรังสรรค์งานศิลปะขนาดเล็กด้วยตนเอง อาทิ บัตรอวยพร ที่ทับกระดาษ ผ้าปัก พระราชทานให้แก่ข้าราชบริพาร สมเด็จพระบรมราชชนนีมิเคยทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์แม้แต่น้อย

MP29-3215-D สายพระโลหิตแห่งจักรีวงศ์ที่หล่อเลี้ยงพระวรกาย การอภิบาลดูแลอย่างเต็มความสามารถของพระราชมารดา และการดำรงพระองค์ที่ทรงทุ่มเทและตระเตรียมพระองค์ให้พร้อมสู่การเป็นพระมหากษัตริย์

กว่า... 27 ประเทศที่พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเยือน
กว่า... 513,120 ตารางกิโลเมตรที่พระองค์ย่างพระบาทบนผืนแผ่นดินไทย
กว่า... 4,596 โครงการพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
กว่า...70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ

พระราชกรณียกิจนานัปการตลอดพระชนมายุของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระองค์ทรงพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติองค์แล้วว่า พระองค์มิทรงเป็นพลังของแผ่นดินเป็นอำนาจที่หาใดเปรียบได้เท่านั้น การทรงโน้มพระองค์ลงสู่ปวงประชาราษฎร์ ย่างพระบาทที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองของเม็ดดินทุกที่บนผืนแผ่นดินไทย ได้หล่อเลี้ยงหัวใจพสกนิกรชาวไทยให้มีสุขสมบูรณ์ตราบนิจนิรันดร์

สมดังพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เกี่ยวกับพระนาม “ภูมิพล” ที่ว่า

“...อันที่จริงเราชื่อ “ภูมิพล” ที่แปลว่า “กำลังของแผ่นดิน” แม่อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน...”

แม้วันนี้ วันที่ 5 ธันวาคม ก้อนดินเล็กๆ จะมิได้หลั่งไหลไปรวมตัวกัน จุดศูนย์กลางดวงใจไทยทั้งประเทศเหมือนเคย แต่พระองค์ยังคงเป็นจุดรวมแห่งความรักและความสามัคคีของพสกนิกรไทยทั้งประเทศ สมดังความหมายแห่งพระปรมาภิไธย “ภูมิพล” พลังแห่งแผ่นดิน ตราบนิจนิรันดร์

ธ ผู้เป็นต้นทางแห่งพลังและแรงบันดาลใจของทุกๆ คน ในทุกๆ วัน ขอน้อมเกล้าฯ นบพระภูมิบาล กราบแทบฝ่าพระบาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559