ไทยทุ่มลงทุนไอทีปีนี้4 แสนล้าน ไอดีซี ชี้‘ไทยแลนด์ 4.0-ดิจิตอลทรานส์ฟอร์ม’หนุนโตเกินคาด

05 ธ.ค. 2559 | 14:00 น.
“ไทยแลนด์ 4.0-ดิจิตอลทรานส์ฟอร์ม” ดันลงทุนไอทีไทยปี 59แตะ 4 แสนล้าน พลิกตลาดเติบโตสูงกว่าจีดีพี ไอดีซี มองส่งอานิสงส์หนุนตลาดสดใสถึงปี 61 มูลค่าลงทุนทะยานขึ้น 5 แสนล้าน ชี้ 4 ปัจจัยหนุนความสำเร็จรัฐต้องหนุน “สตาร์ตอัพ-อุตฯ 4.0-สมาร์ทฟาร์มเมอร์-ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน”

นายจาริตร์ สิทธุ ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยตลาดไคลเอนด์ ดีไวซ์ และหัวหน้านักวิเคราะห์ บริษัทไอดีซี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนไอที ของไทยปี 2559 มีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาทเติบโตขึ้นราว 3.9% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ต้นปี และกลับมาเติบโตสูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ จีดีพี ประเทศ 3.2% ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ในปี 2560 มูลค่ารวม 4.15 แสนล้านบาท เติบโต 3.7% และ ปี 2561 มูลค่าการลงทุนจะเพิ่มเป็น 5 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 5-6% สูงกว่าจีดีพีประเทศเกือบเท่าตัว

โดยปัจจัยที่ทำให้การลงทุนไอทีไทยเติบโตขึ้นสูงกว่าคาดมาจากการปรับตัวเข้าสู่ดิจิตอลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุค 4.0 แม้ขณะนี้โรดแมปยังไม่ชัดเจน แต่เป็นนโยบายที่ดี ส่วนนโยบายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการกำหนดโรดแมปของรัฐบาล

ทั้งนี้มองว่าปัจจัยที่ทำให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประสบความสำเร็จนั้นรัฐต้องเร่งสร้างฐานสตาร์ตอัพ โดยสตาร์ตอัพ เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ และสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่ต้องการคือ เงินทุน ซึ่งสถาบันการเงินต้องปรับวิธีคิดการให้สินเชื่อกับสตาร์ตอัพ โดยสตาร์ตอัพไม่ใช่เอสเอ็มอี หรือโอท็อป รูปแบบธุรกิจของสตาร์ตอัพ บางรายเป็นผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สถาบันการเงินมองการให้สินเชื่อกับกับผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้

ขณะที่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้นจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดกระบวนการทำงาน ทั้งเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ และหุ่นยนต์ ด้านการเกษตรนั้นมองว่าเป็นจุดแข็งของประเทศ โดยรัฐต้องผลักดันสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิต สุดท้ายคือ ภาครัฐ ที่ต้องปรับตัวทั้งทางด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนของบริษัทเทคคอมพานี การผลักดันให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตัววันออก รองรับบริษัทเทคคอมพานี ซึ่งรัฐต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ รวมถึงนโยบายภาษี

“นโยบายดิจิตอลอีโคโนมี หรือ ดีอี และไทยแลนด์ 4.0 มีพื้นฐานต่างกัน โดยนโยบายดีอี กำหนดขึ้นในสิ่งที่เราอยากไห้เป็น แต่ไทยแลนด์ 4.0 คิดจากที่ประเทศไทย มีจุดแข็ง และต่อยอดออกไป ทั้ง สตาร์ตอัพ หรือสมาร์ทเอสเอ็มอี, การเปลี่ยนประเทศจากผู้ใช้เทคโนโลยีเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคบริการ และการท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลากรจากผู้ใช้แรงงาน เป็นโนว์เลจด์ เวิร์กเกอร์”

 10 แนวโน้มเทคโนโลยีปี 60

ไอดีซี ได้คาดการณ์ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีที่สำคัญในปี 2560 ที่มีผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในไทย ประกอบด้วย 1. การเข้าสู่ยุครุ่นอรุณของเศรษฐกิจดิจิตอล คาดว่า ภายในปี 2563 ผู้ประกอบการที่ใหญ่ราว 30% เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การเป็นดิจิตอลโดยใช้คลาวด์ อนาไลติกส์ และโซเชียลมีเดีย สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

2. รายได้เชิงดิจิตอลภายในปี 2062 โครงการด้านไอทีจะสามารถสร้างบริการและแหล่งรายได้ใหม่เชิงดิจิตอล ขึ้นมาสัดส่วน 25% โดยเกิดจากการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นรายได้ ข้อมูล จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ และข้อมูลจะกลายเป็น “ทุนดิจิตอล”

3. การซัพพอร์ตโดยใช้ดิจิตอล ในปี 2561 สัดส่วน 60% ของการบริการซัพพอร์ตลูกค้าจะอยู่ในรูปแบบดิจิตอล ทำให้เกิดชุมชนออนไลน์

4. อินเตอร์เฟซแบบ 360 องศา โดยในปี 2561 สัดส่วน 30% บริษัทขนาดใหญ่ 100 บริษัทแรกที่ขายผลิตภัณฑ์และบริการโดยตรงจะทดสอบใช้งานเทคโนโลยีเสมือนจริง

5. การเติบโตของอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ในปี 2560 รถยนต์อัจฉริยะ ประกันภัยเชิงเทเลเมติกส์ เทคโนโลยีสุขภาพและสมาร์ทบิลดิ้ง เป็น 4 กรณีการใช้งานอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์แพร่หลายมากสุดในไทย ซึ่งกระตุ้นให้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์มีมูลค่าราว 7,000 ล้านบาท

6. รถยนต์อัจฉริยะ ภายในปี 2562 รถยนต์ที่เปิดตัวใหม่ ประมาณ 25% จะมาพร้อมความสามารถในการรายงานสภาพความสึกหรอ แจ้งซ่อมบำรุง ส่งข้อมูลกลับไปหาผู้ผลิตเพื่อพัฒนาเพิ่มเติม และตรวจสอบการเคลมประกันได้
7. การปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ในปี 2560 การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จะเปลี่ยนแปลงจากเชิงรับเป็นเชิงรุก เนื่องจากภายในปี 2560 นั้นประชากรไทยได้เข้าถึงสมาร์ทโฟนกว่า 73%

8. กลยุทธ์มัลติคลาวด์ ไอดีซีคาดว่าสัดส่วน 55% ของแผนกไอทีจะดำเนินกลยุทธ์การสรรหาและจัดการสถาปัตยกรรมมัลติคลาวด์

9. การยกเครื่องเพย์ทีวี ปี 2561 ไอดีซีคาดว่าผู้ให้บริการเพย์ทีวีในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของวิดิโอแอพพลิเคชันที่สามารถรับชมได้แบบมัลติสกรีนทำให้ผู้ใช้บริการเพย์ทีวีถูกบังคับให้ต้องให้บริการแบบมัลติสกรีนอย่างเข้มข้นขึ้น

10. ความปลอดภัยไซเบอร์ คาดว่าภายในปี 2562 กว่า 30% ของไซเบอร์ซิเคียวริตีองค์กรในไทยจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559