'สะพานภูมิพล'สง่างามสุดขอบฟ้า เคียงสายธาร คู่พระบารมี

04 ธันวาคม 2559
ระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรในมิติต่างๆผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การเกษตร สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และโครงการสังคมอื่นๆ เพื่อให้พสกนิกรทั่วทุกพื้นที่ได้รับประโยชน์มาอย่างยาวนาน

M30321506 หลากหลายพื้นที่ที่พระองค์ทรงเยี่ยมเยือน รอยพระบาทของพระองค์เป็นมงคล ดุจดั่งสุภาษิตไทย “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพระราชทานพระราชดำริ ทรงสนับสนุนพร้อมทั้งทรงทดลองร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อบรรเทาปัญหาของคนไทยทั้งโครงการที่ทรงริเริ่ม ทรงชี้แนะแนวทางเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปต่อยอดขยายผล ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับดำเนินโครงการ เพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

ในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยทรงเร่งรัดการมุ่งสร้างพื้นผิวจราจรเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆในถิ่นทุรกันดารพร้อมทั้งพัฒนาและปรับปรุงพื้นผิวจราจรในกรุงเทพมหานครควบคู่กันไป โดยเฉพาะทางหลวงสายหลักไปยังภูมิภาคต่างๆนั้น ได้จัดทำแนวถนนเป็นแบบรัศมีหรือ Radial Road เพื่อกระจายความเจริญด้านการคมนาคมไปสู่การยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจของประเทศ ดังเช่นโครงข่ายถนนจตุรทิศตะวันออกและตะวันตกที่เชื่อมพื้นที่ชานเมืองฝั่งตะวันออกสู่ฝั่งตะวันตก ด้วยการจราจรที่เรียกว่า “ฟรีเวย์” (Freeway) โดยก่อสร้างถนน สะพาน และทางเชื่อมในโครงการย่อยหลายโครงการเข้าด้วยกัน อาทิ โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี โครงการสะพานพระราม 8

“ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน…

”พระราชดำรัสตอบจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทัพบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ที่กราบบังคมทูลพระมหากรุณาว่า รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

M30321505 และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงริเริ่ม “โครงการถนนรัชดาภิเษก”ซึ่งเป็นโครงข่ายถนนแบบวงแหวน(Ring Road)โดยสามารถรับและกระจายการเดินทางจากถนนในแนวรัศมีได้อย่างสมดุล ลดการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองโดยไม่จำเป็นบรรเทาวิกฤติการจราจรติดขัดภายในกรุงเทพฯได้อย่างเด่นชัด หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯทรงริเริ่มโครงการถนนวงแหวนรัชดาภิเษกเพื่อเป็น ของขวัญให้ประชาชนในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี โดยให้ปรับปรุงถนนที่มีอยู่เดิม 18 กิโลเมตร และสร้างถนนสายใหม่อีก 27 กิโลเมตร เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์รอบกรุงเทพฯ

ด้วยพระปรีชาสามารถขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงวางแผนการจราจรในระดับโครงข่ายอย่างเป็นระบบ และเป็นโครงการพระราชทานนำร่องไปสู่การแก้ปัญหา การจราจรด้วยโครงข่ายวงแหวนขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วย ถนนวงแหวนรอบใน หรือถนนรัชดาภิเษก ต่อมาคือ ถนนวงแหวนรอบนอก หรือถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งรัฐบาลจัดสร้างขึ้นตั้งแต่ ปี 2521 และในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ใน ปี2538 จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถนนสายนี้ใช้ชื่อว่ากาญจนาภิเษกเป็นโครงข่ายถนนวงแหวนล้อมรอบตัวเมือง 3 ด้าน ทั้งตะวันตกตะวันออก และใต้ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯนนทบุรี สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยาและท้ายที่สุดกับ “ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม และ“สะพานภูมิพล ๑” เชื่อมโยง “สะพานภูมิพล ๒” เป็นโครงข่ายถนนวงแหวนและสะพานขึงแฝดข้ามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับการขนส่งและการลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพต่อเนื่องไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเชื่อมประสานพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเชื่อมโยงถนนวงแหวนทั้ง 3 วง คือ “วงแหวนรัชดาภิเษก”“วงแหวนกาญจนาภิเษก” และ “วงแหวนอุตสาหกรรม” ให้ใช้งานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริว่า การจราจรติดขัดบริเวณนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วิ่งเข้าออกระหว่างท่าเรือคลองเตยและเมืองสมุทรปราการ อันเป็นมหานครอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่นับวันการจราจรจะหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเส้นทางการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยแพขนานยนต์ที่มีอยู่เดิมนั้นก็ไม่สู้จะปลอดภัยนัก อีกทั้งยังสูญเสียเวลาในการเดินทางอย่างมากดังนั้นจึงพระราชทาน“โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม และสะพานภูมิพล ๑ และ สะพานภูมิพล ๒”

จากแนวพระราชดำริที่พระราชทานเกี่ยวกับการสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมใน ปี 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโดยกรมโยธาธิการร่วมกับ กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงจัดสร้างทางในลักษณะของระบบโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ เขตยานนาวาของกรุงเทพฯ และพื้นที่อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งทางกรมโยธิการจึงทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงข่ายเชื่อมพื้นที่อุตสาหกรรมของ 2 มหานคร

และจากการศึกษาถึงความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์และการพิจารณาแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ จึงเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดคือ“สะพานขึง” ซึ่งสามารถรองรับปริมาณการจราจรจำนวนมาก อีกทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในระหว่างการก่อสร้างมากนัก มีความแข็งแรง มั่นคง และนัยสำคัญคือการสร้างคุณค่าทางภูมิสถาปัตย์ที่งดงามโดดเด่น ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของงานวิศวกรรมไทย

นับตั้งแต่เปิดใช้งานถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒ ใน ปี2549 พร้อมกับโครงการคลองลัดโพธิ์ในพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่พระราชทานมาพร้อมกัน เพื่อประโยชน์อย่างรอบด้านทั้งการ “ลัดน้ำ” และ“ลัดทาง” ไม่เพียงทำหน้าที่รองรับการขนถ่ายสินค้าจากระหว่างท่าเรือกรุงเทพ กับบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ตอนใต้ของกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการเท่านั้นยังเป็นส่วนเสริมให้โครงข่ายถนนโดยรอบและเป็นโครงข่ายในการกระจายสินค้าออกไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ ทั้งทางทิศใต้ออกสู่ถนนพระราม 2 ผ่านเส้นทางส่วนต่อขยายถนนสุขสวัสดิ์-พระราม 2

หรือทางด้านตะวันออกผ่านส่วนต่อขยายไปบรรจบถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ไปสู่ถนนสุขุมวิทหรือบางนา-ตราด สู่พื้นที่ย่านตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิในเขตอุตสาหกรรมบางพลี และคลังสินค้าใหญ่ในเขตลาดกระบังปัญหาการจราจรที่เคยติดขัดอย่างมากบริเวณอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่จะข้ามมายังฝั่งกรุงเทพฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดนับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนพระประแดงจากดินสู่ฟ้า สู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมข้ามขีดจำกัดทั้งการพัฒนา และปมปัญหาการเดินทางอย่างเป็นระบบนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ความงดงามที่ประจักษ์อยู่เหนือสายน้ำของสะพานความหมายเหล่านั้นได้สะท้อนผ่านโครงสร้างของสะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒ ตั้งแต่เสาขึงสะพาน 4 ต้นรูปเหลี่ยมเพชร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการ “พนมมือไหว้” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนอบน้อมอย่างไทย และจุดที่ขาทั้ง 2 ข้างของเสาสะพานมาบรรจบกันนั้นเป็นตำแหน่งที่ประดับตราสัญลักษณ์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ด้านส่วนปลายยอดแหลมของเสาสะพานขึงที่มีสีทองงดงามอร่ามตานั้น เปรียบได้กับยอดเจดีย์หรือยอดชฎาอันมีค่าสูงสุด

นอกจากนี้สายเคเบิลสีทองที่เรียงร้อยเพื่อพยุงสะพานให้ลอยเด่นอยู่เหนือแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เปรียบประดุจพัดที่คลี่ออกอย่างงดงามนอกจากนั้นที่เชิงสะพานช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฟากฝั่งยังมีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมอันสะท้อนถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานความห่วงใยพสกนิกรชาวไทยผ่านทางโครงการในพระราชดำริตลอดระยะเวลายาวนานที่ทรงครองราชย์ได้แก่ ประติมากรรมรูปทรงหยดน้ำสีทองที่ส่วนบนมีรูปอุณาโลมอันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์และโอบล้อมด้วยยอดแหลม สื่อความหมายถึงพสกนิกรของพระองค์ ในนามอันเป็นมงคลว่า “เหนือเกล้า” ซึ่งสะท้อนถึงความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่เทิดทูนพระองค์ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม

ประติมากรรมเหนือเกล้านี้ตั้งตระหง่านอยู่บนสะพานด้านทิศใต้ส่วนเชิงสะพานด้านทิศเหนือนั้นเป็นที่ตั้งของประติมากรรมยอดสูง ด้านบนเป็นอุณาโลม หมายถึง หยาดน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ สอดรับกับใบเสมาใต้อุณาโลมแทนขอบขัณฑสีมาประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานดอกบัว อันสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์โดยปะติมากรรมชิ้นนี้มีนามว่า “พระบริบาล” อันหมายรวมถึง น้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หลั่งไหลชโลมสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ผาสุก

งานออกแบบสะพานขึงอันงดงามทั้ง 2 หลังนี้และเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งและสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน ถือเป็น“อารยสถาปัตย์”คู่กรุงรัตนโกสินทร์อีกแห่งหนึ่ง ที่มีความโอ่อ่าสง่างามสมศักดิ์ศรีแห่งนาม “สะพานภูมิพล ๑” และ “สะพานภูมิพล ๒”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559