กฟผ.เร่งรับมือภาคใต้เสี่ยงขาดไฟ ‘ถ่านหิน-สายส่ง’ล่าช้าหันใช้ก๊าซ

04 ธ.ค. 2559 | 08:00 น.
ปลัดพลังงานสั่ง กฟผ.เร่งทำแผนรับมือไฟฟ้าภาคใต้เติบโตสูง 5-6% ต่อปี หลังโรงไฟฟ้ากระบี่-สายส่งล่าช้า 1 ปี หวั่นความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้เสี่ยง แม้ผลักดันพลังงานทดแทนเต็มที่แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหิน เผยนายกฯสั่งลงพื้นที่ถามความเห็นชุมชนเอา-ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยันเลือกเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่น พร้อมเสนอโรงไฟฟ้าก๊าซทดแทน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ว่า สถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปศึกษาแนวทางบริหารความเสี่ยงกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 860 เมกะวัตต์ เลื่อนออกไปอีก 1 ปี ขณะเดียวกัน กฟผ. ก็แจ้งว่าแผนลงทุนสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ต้องเลื่อนออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากติดปัญหาด้านการรอนสิทธิ์ในบางพื้นที่ จากเดิมที่คาดว่าสายส่งไฟฟ้าระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จภายในปี 2562 และระยะที่ 2 ในปี 2565

โดยกระทรวงพลังงานยืนยันว่ายังไม่ได้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ยอมรับว่าอาจต้องเลื่อนออกไปจากแผนเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่ง กฟผ. ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของชุมชนว่าต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ เบื้องต้นพบว่ามีประชาชนในพื้นที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะมีบางกลุ่มกังวลเรื่องมลพิษ แต่ก็ได้มีการยืนยันเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุด โดยให้ทาง กฟผ.เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานเทียบเท่ากับที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยทั้ง 4 ภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลา และมหาวิทยาลัยสุรนารี ทำการศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในแต่ละภาค ซึ่งแผนก็มีความคืบหน้าเป็นระยะ โดยยืนยันว่ากระทรวงพลังงานส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ที่เติบโตต่อเนื่อง 5-6% ต่อปี ส่วนใหญ่มาจากภาคการท่องเที่ยว กลุ่มโรงแรม ดังนั้นจึงมีความกังวลเรื่องความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้

“แม้ว่าขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศยังสูง แต่สามารถรองรับไฟฟ้าในภาคใต้ได้ชั่วคราว และในอนาคตก็ต้องลดลง และยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินเลื่อนออกไป จะส่งผลต่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ขณะเดียวกันโครงการสายส่งภาคใต้ของ กฟผ. ก็ดีเลย์ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งนายกฯให้คนในท้องถิ่นแสดงความคิดเห็นว่าจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ก็จะมีกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จะเป็นโอกาสของชุมชนในภาคใต้ด้วย ซึ่งได้สั่งการให้ กฟผ. ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชน รวมทั้งเสนอแนวทางบริหารความเสี่ยงไฟฟ้าภาคใต้มายังกระทรวงพลังงานอีกครั้ง”นายอารีพงศ์ กล่าว

นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทาง กฟผ. เสนอแนวทางเบื้องต้นกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งแนวทางที่รวดเร็วและสามารถทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหินได้ คือ การสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขึ้นมาทดแทน โดยให้ กฟผ.ไปศึกษาพื้นที่ จากนั้นเสนอมายังกระทรวงพลังงานอีกครั้ง

นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ ปตท.เตรียมแผนรับมือหากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น เบื้องต้น ปตท.อาจทบทวนเพื่อขยายโครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ FSRU ที่ภาคใต้ จากเดิม 3 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ปตท.จะต้องรอ กฟผ. เสนอแผนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯชัดเจนก่อน

นอกจากนี้ ปตท.ได้รับอนุมัติซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวจากปิโตรนาส 1.2 ล้านตันต่อปี และสามารถขยายได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับกรณีความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,214 วันที่ 1 - 3 ธันวาคม 2559