ทอท.เลื่อนเปิดซองจัดซื้อเอพีเอ็ม กรรมาธิการป.ป.ช.เรียกเอ็มดี-ที่ปรึกษาทีโออาร์แจงด่วน

01 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ทอท.เลื่อนเปิดซองประมูลงานจัดซื้อ “เอพีเอ็ม”มูลค่า 2,890 ล้านบาท เชื่อมการขนส่งผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ หลังมีผู้ยื่นซองราคา 3 ราย ทั้ง ไอทีดี-เอเอ็มอาร์ เอเชีย และบริษัทเรืองณรงค์ฯ แจงเหตุถูกกมธ.ป.ป.ช. ส่งหนังสือถึงคมนาคมให้เอ็มดีชี้แจงด่วน

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในการยื่นซองเสนอราคาโครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ หรือAutomated People Mover(APM)เพื่อเชื่อมการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมูลค่าราคากลาง 2,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท.ได้เลื่อนการเปิดซองราคาออกไปอีก 1-2 วัน หลังจากมีผู้มายื่นซองเสนอราคาจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัทเอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด และ3.บริษัทเรืองณรงค์ จำกัด จากที่มีผู้เข้ามาซื้อซองประกวดราคาในช่วงวันที่ 29 กันยายน-12 ตุลาคม2559 จำนวน 9 บริษัท

ทั้งนี้การที่ทอท.ยังไม่เปิดซองราคาในงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ทอท.เพิ่งจะได้รับหนังสือจากคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช. ซึ่งมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท.หรือผู้แทน ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการงานจัดเอพีเอ็ม รวมทั้งเอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงการนำผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ออกแบบและร่างขอบเขตงาน (Term of reference:TOR) ของโครงการดังกล่าวมาให้รายละเอียดแก่คณะอนุกรรมาธิการ ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

ส่งผลให้ทอท.ต้องเข้าไปร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในเรื่องนี้ก่อน เพราะไม่ทราบว่าทำไมจึงถูกเรียกไปให้ข้อมูล ซึ่งในหนังสือที่ได้รับแจ้ง ไม่ได้บอกหัวข้อหรือประเด็นที่ชัดเจนว่ามีความสงสัยหรือตั้งข้อสังเกตในประเด็นใดของงานเอพีเอ็มเพียงแต่แจ้งว่าทางคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณากรณีศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการพื้นที่ในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ดังนั้นทางคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับทอท.ซึ่งหน่วยงานในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้ที่มีความรู้ ซึ่งสามารถให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการ จึงได้ขอให้ทอท.เข้าไปร่วมประชุมด้วยเท่านั้น

"โครงการขยายเฟส 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นต้นแบบของการนำระบบโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (หลักเกณฑ์ Construction Sector Transparency Initiative หรือ CoSTมาใช้ ซึ่งที่ผ่านมาในการประกวดราคาในโครงการต่างๆที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครวมถึงล่าสุดอย่างงานเอพีเอ็มก็เป็นการใช้หลักเกณฑ์ CoST ซึ่งทอท.สามารถชี้แจงได้ รวมทั้งในกระบวนการเปิดซองราคาทุกครั้งก็จะมีผู้แทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสตง.ร่วมอยู่ด้วยทุกงานและงานเอพีเอ็มด้วยความที่สัญญานี้มีผู้ผลิตน้อยราย ทำให้ทอท.มีการนำวิธีการคำนวณราคากลางซึ่งทอท.จะใช้วิธีเทียบเคียงกับการลงทุนของสนามบินในต่างประเทศ เสนอให้ทางกรมบัญชีกลางพิจารณาเห็นชอบก่อนการเปิดประมูลด้วย"

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า ระบบเอพีเอ็มจะเป็นคล้ายๆกับรถไฟฟ้า แต่จะเป็นการใช้ล้อยาง ควบคุมโดยระบบไม่มีคนขับ วิ่งอยู่ใต้ดินเชื่อมจากอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข D ไปยังอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมระยะทาง 800 เมตร เบื้องต้นรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 7,000 คนต่อชั่วโมงและต้องมีส่วนต่อขยายอุโมงค์ทางด้านทิศใต้ ที่ต้องเผื่อไว้อีก 800 เมตร ซึ่งประกอบไปด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงระบบเอพีเอ็มที่ปลายอุโมงค์ และสถานีเอพีเอ็มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารผู้โดยสารหลังเดิม

"เดิมงานเอพีเอ็มถูกรวมอยู่ในงานสัญญารับเหมาก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ทอท.เล็งเห็นว่าหากนำไปรวมจะเกิดปัญหา เพราะผู้รับเหมาจะไปซื้อระบบมาในราคาต่ำ และจะทำให้ทอท.ต้องรับภาระเรื่องของค่าซ่อมบำรุงที่สูง เหมือนกรณีซีทีเอ็กซ์ (ระบบตรวจจับวัตถุระเบิด) ที่เคยเป็นปัญหาในอดีต ทำให้ทอท.จึงได้มีการแยกงานเอพีเอ็มออกมาเพื่อจัดหาซัพพลายเออร์ให้มาดำเนินการจัดซื้อพร้อมติดดั้งระบบดังกล่าว" แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

อนึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้ามาซื้อซองงานเอพีเอ็ม 9 รายได้แก่ 1.บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด 2.บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์ จำกัด 3.บริษัท เรืองณรงค์ จำกัด 4.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด 6.บริษัท ที.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7.บริษัท ออทโต้ เอ็นเดอร์สตีลสตรัคเจอร์ จำกัด 8.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ 9.บริษัท ซีเมนต์ จำกัด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,214 วันที่ 1 - 3 ธันวาคม 2559